กว่า 4,200 ล้านกับเลือกตั้ง
คอลัมน์... กระดานความคิด โดย... ร่มเย็น
หากไม่นับรวมปัญหาฝุ่นจิ๋วแล้ว นาทีนี้สิ่งที่อยู่ในความสนใจของประชาชนกว่าค่อนประเทศ หนีไม่พ้นการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่ก่อนที่จะไปถึงวันหย่อนบัตรลงคะแนน เรามาลองส่องดูงบประมาณของประเทศที่จัดเตรียมไว้สำหรับการเลือกตั้ง ซึ่งปรากฏตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 62 ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วงเงินทั้งสิ้น 4,220,785,070 บาท
วงเงินมหาศาล ที่ทุ่มให้กับการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการควบคุมและจัดการการเลือกตั้งเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา แต่ถูกอัดฉีดให้กับการรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิออกไปใช้เสียง ทำความเข้าใจถึงบัตรเลือกตั้งแบบใหม่ บัตรเดียว กาเบอร์เดียว ส่งผล 3 ด้าน เลือก ส.ส.เขต นำไปคำนวณเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
งบเลือกตั้งรอบนี้ ยังเจือไปด้วยวัตถุประสงค์เพื่อทำการเมืองใหม่ ใครอาสามาเป็นผู้แทนหรือนักการเมือง ไม่ต้องลงทุนมาก มีเงินน้อย-ทุนต่ำก็สามารถเข้าถึงผู้มีสิทธิลงคะแนนได้ทุกครัวเรือน กกต.จึงออกระเบียบกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.เขตไว้ที่ 1.5 ล้านบาท และแบบบัญชีรายชื่อไม่เกิน 35 ล้านบาท เนื่องจากการเลือกตั้งรอบนี้ รัฐได้จัดสรรงบประมาณจัดพิมพ์เอกสารแนะนำตัวนักการเมือง พรรคการเมือง นโยบายพรรค และผู้ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ของพรรค ส่งถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกครัวเรือน ห้ามซื้อเวลาออกอากาศกับสถานีโทรทัศน์และวิทยุ โดยรัฐจะเป็นผู้จัดสรรเวลาออกอากาศให้อย่างเท่าเทียม รวมถึงการดีเบตประชันนโยบาย
นอกจากนี้กฎหมายยังปิดช่องกรณีสื่อทีวีและวิทยุชุมชน แอบเป็นกระบอกเสียงให้แก่นายทุนพรรคการเมืองที่มีเครือข่ายเป็นเจ้าของสื่อ ด้วยโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ทำข่าวได้แต่ห้ามหาเสียง” เชิญหัวหน้าพรรคหรือผู้สมัครมาให้สัมภาษณ์ออกรายการก็ต้องเฉลี่ยเวลาออกอากาศให้เท่าเทียมกัน เทน้ำหนักให้บางพรรค นายสถานีอาจเข้าข่ายมีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองหรือช่วยหาเสียง ก็เท่ากับพร้อมรับโทษทางอาญา
แม้แต่ผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครแบบแบ่งเขตก็กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 20 คน พรรคการเมืองละไม่เกิน 10 เท่าของเขตที่ส่งลงสมัคร เปลี่ยนตัวผู้ช่วยหาเสียงหรือคนเดินแจกใบปลิวได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ใน 3 เพื่อปิดช่องการจ่ายเงินซื้อเสียงผ่านผู้ช่วยหาเสียง และป้องกันไม่ให้ผู้สมัครทุนหนา ได้เปรียบผู้สมัครทุนต่ำ
สำหรับงบจัดการเลือกตั้งวงเงินกว่า 4,220 ล้านบาท มีแผนการใช้จ่ายชัดเจน โดยแบ่งเงินออกเป็น 2 ก้อน วงเงินก้อนแรก 3,534,873,980 บาท บริหารจัดการโดยสำนักงาน กกต. เพื่อใช้จ่ายใน 13 ภารกิจ ได้แก่ ภารกิจจัดการเลือกตั้ง ส.ส. 1,814,353,400 บาท, ภารกิจตรวจสอบการปฏิบัติงานเลือกตั้งและการกระทำความผิดกฎหมายโดยผู้ตรวจการเลือกตั้ง 351,468,000 บาท, ภารกิจติดตามการเลือกตั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการเลือกตั้งทั้งในและนอกราชอาณาจักร 38,126,100 บาท, ภารกิจเตรียมความพร้อมของบุคลากร วิทยากร และเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง 99,041,070 บาท, ภารกิจสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้ง 515,783,900 บาท
ภารกิจส่งเสริมการมีส่วนร่วม รณรงค์ประชาสัมพันธ์ 313,282,790 ล้านบาท, ภารกิจตรวจสอบการเลือกตั้งโดยองค์กรเอกชน 97,650,350 บาท, ภารกิจในการควบคุม สอดส่อง สืบสวนสอบสวน ไต่สวน วินิจฉัยชี้ขาด และดำเนินคดีในศาล 169,653,250 บาท, ภารกิจติดตามประเมินผลการจัดการเลือกตั้ง 5,464,500 บาท, ภารกิจอำนวยการสนับสนุนการเลือกตั้ง 41,320,000 บาท, ภารกิจสังเกตการณ์การเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศในราชอาณาจักร 2,785,000 บาท, ภารกิจรับรายงานจากผู้ตรวจการเลือกตั้ง 10,679,620 บาท และภารกิจจัดการเลือกตั้งกรณี กกต.สั่งให้เลือกตั้งใหม่ 75,266,000 บาท
งบประมาณก้อนที่ 2 วงเงิน 685,911,090 บาท จะจ่ายอุดหนุนไปยังหน่วยสนับสนุนต่างๆ แบ่งเป็น 14 ภารกิจ ได้แก่ ภารกิจลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าและการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิจ่ายให้สำนักบริหารการทะเบียน 146,821,090 บาท, ภารกิจเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการควบคุมการจัดการเลือกตั้ง จ่ายให้สำนักบริหารการปกครองท้องที่ 10,088,400 บาท, ภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อย จ่ายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 95 ล้านบาท, ภารกิจเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ่ายให้ ศอ.บต. 2.5 ล้านบาท, ภารกิจรณรงค์เผยแพร่ความรู้การเลือกตั้ง จ่ายให้กระทรวงศึกษาธิการ 88,682,600 บาท, ภารกิจการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จ่ายให้กระทรวงการต่างประเทศ 50 ล้านบาท, ภารกิจสนับสนุนศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งและสำนักงานเขต จ่ายให้ กทม. 30 ล้านบาท
ภารกิจประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดสด บันทึกเทป ทำสปอต เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐ 3 ช่อง 18 ล้านบาท, ภารกิจประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดสด บันทึกเทป ทำสปอต เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง โดยกรมประชาสัมพันธ์ 8 ล้านบาท, ภารกิจเฝ้าระวังไฟฟ้าในภูมิภาค 22 ล้านบาท, ภารกิจเฝ้าระวังไฟฟ้าในเขตนครหลวง 3 ล้านบาท, ภารกิจสื่อสารคมนาคม 51,024,000 บาท, ภารกิจขนส่งหีบบัตรเลือกตั้ง หนังสือแจ้งเจ้าบ้าน และวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้ง จ่ายให้บริษัทไปรษณีย์ไทย 160 ล้านบาท และภารกิจปรับปรุงระบบรายงานผลคะแนน จ่ายให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 8 แสนบาท เบ็ดเสร็จกว่า 4,200 ล้านบาท
รู้อย่างนี้แล้ว “นัักการเมือง” อย่าให้การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องสูญเปล่า ก็แล้วกัน