คอลัมนิสต์

'รัฐสวัสดิการ'... ไหวหรือ

'รัฐสวัสดิการ'... ไหวหรือ

21 ก.พ. 2562

คอลัมน์... กระดานความคิด โดย... ร่มเย็น



     
          นโยบาย “มารดาประชารัฐ” ของพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ชื่อเก๋ไก๋ เรียกเสียงฮือฮาได้อย่างมาก โดยพรรคพลังประชารัฐคิดว่าความสมบูรณ์ของเด็กไม่ใช่แค่ดูแลเมื่อคลอดออกมาเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญทั้งแม่และเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จึงจะมีสุขภาพและสมองที่ดี มีการพัฒนาเจริญเติบโตในทุกๆ ด้าน นโยบาย “มารดาประชารัฐ” จึงจะดูแลมารดาตั้งครรภ์ไปจนถึงคลอด และดูแลต่อไปจนเด็กอายุ 6 ปี

 

 

          นโยบาย “มารดาประชารัฐ” จะดูแลตั้งแต่แม่ฝากครรภ์ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 9 เดือน รวมสูงสุด 27,000 บาท ค่าคลอด 10,000 บาท หลังจากนั้นจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กอีกเดือนละ 2,000 บาท ตั้งแต่เกิดจนมีอายุครบ 6 ปี เป็นจำนวนเงินรวมสูงสุด 144,000 บาท รวมตั้งแต่ตั้งครรภ์จนอายุถึง 6 ขวบ เป็นเงิน 181,000 บาท ต่อเด็ก 1 คน


          นอกจากนี้ นโยบาย “มารดาประชารัฐ” ยังคำนึงถึงการดูแลในมิติอื่นๆ อย่างครบวงจร ถือเป็นการลงทุนในเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

 

          และ “พรรคพลังประชารัฐ” นี่เอง ที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในบัญชีของพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้

          
          ก่อนหน้านี้ “รัฐบาล คสช.” มีแผนจะใช้งบ 40 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประเทศ ไปอัดฉีด “ระบบสวัสดิการประชาชน” เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยตามแนวทาง “ประชารัฐ” 


          แปลความว่า “รัฐบาล คสช.” ตั้งเป้าให้ประเทศไทยกลายเป็น “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางของพรรคพลังประชารัฐ


          ส่วนพรรคการเมืองอื่น อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีนโยบายคล้ายกันคือ เกิดปั๊บรับสิทธิเงินแสน คือเด็กแรกเกิดจะได้รับเบี้ยเด็กเข้มแข็ง ทันที 5,000 บาท และจ่ายเดือนละ 1,000 บาท จนกว่าเด็กจะอายุครบ 8 ปี


          “พรรคอนาคตใหม่” ก็ชูเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” ในการหาเสียง




          และ “รัฐสวัสดิการ” ไม่ใช่ “ประชานิยม”


          “ประชานิยม” คือ นโยบายที่เน้นแจกเงิน แจกสิ่งของ เพื่อให้ประชาชนนิยม ส่วนผลลัพธ์ ประสิทธิภาพ ความยั่งยืน เอาไว้ทีหลัง


          ส่วน “รัฐสวัสดิการ” คือ นโยบายที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม เน้นช่วยคนลำบากให้สามารถเงยหน้าอ้าปากกับเขาได้ เน้นการสร้างระบบไม่ใช่เน้นแจกเงิน


          ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่าง “ประชานิยม” กับ “รัฐสวัสดิการ” ก็คือ ประชานิยมเป็นโครงการที่สามารถยืดได้หดได้ เมื่อใดที่ประเทศมีฐานะดี ก็สามารถเริ่มหรือขยายโครงการประชานิยมได้ เมื่อใดที่ประเทศฐานะไม่ดี ก็สามารถยกเลิกหรือลดทอนประชานิยมได้


          ส่วน “รัฐสวัสดิการ” นั้น เป็นการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของประชาชน ดังนั้น เมื่อเริ่มโครงการแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่สามารถยกเลิกได้ มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นๆ จนในที่สุดก็มี “ความเสี่ยง” อาจจะมากไปจนเกินขอบเขต ดังที่เกิดขึ้นแล้วในยุโรป


          หลักคิดเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” นั้นถึงแม้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ก็เป็นภาระต่องบประมาณมาก จึงทำให้ประเทศในยุโรปต้องเก็บภาษีในอัตราที่สูงมาก โดยอัตราสูงสุดสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในหลายประเทศสูงเกินร้อยละ 50 อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือในบางประเทศก็สูงถึงร้อยละ 25

 

          ประเทศที่เคยเก็บภาษีสูงที่สุดในโลกคือเดนมาร์ก เมื่อปี 2552 เดนมาร์กเก็บภาษีเฉลี่ย 62.3% หมายความว่า คนเดนมาร์กคนหนึ่งหาเงินได้ 100 บาท ต้องจ่ายภาษีให้รัฐ 62.30 บาท ส่วนที่ “สวีเดน” เคยเป็นประเทศที่เก็บภาษีสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก คือ เก็บภาษีก้าวหน้าโดยเฉลี่ย 56.7%


          และจากประสบการณ์ของประเทศในยุโรป แม้ว่า “รัฐสวัสดิการ” สามารถใช้เป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่อาจจะกระทบต่อการแข่งขันของประเทศ เพราะประชาชนเคยชินกับการช่วยเหลือจากภาครัฐในทุกด้าน ไม่กระตือรือร้น ประสบการณ์ของประเทศในยุโรปจึงเป็นข้อเตือนใจว่า “รัฐสวัสดิการ” ที่มากจนเกินพอดีก็อาจจะสร้างปัญหาได้ไม่น้อยกว่า “ประชานิยม” ดังนั้น หากรัฐอุ้มชูประชาชนเพียงพอดีๆ น่าจะดีกว่า


          อย่างไรก็ตาม การเป็น “รัฐสวัสดิการ” ดีหรือไม่ดี ยังขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน พวกที่ชอบก็บอกว่าดี เพราะทำให้เกิดความยุติธรรม “รัฐสวัสดิการ” ลดความขัดแย้งในสังคม ทำให้มีการแบ่งปันทรัพยากรของชาติอย่างเป็นธรรม แม้จะป่วย จะตกงาน จะแก่เฒ่า ก็ยังมีเงินเดือน


          ส่วนพวกที่ไม่ชอบก็บอกว่าไม่ดี เพราะทำให้คนไม่อยากทำงาน ทำงานมาก ก็ต้องเสียภาษีมาก สู้ทำงานน้อยดีกว่า เสียภาษีน้อย แต่มีเวลาว่างเหลือเยอะ

 

          “รัฐสวัสดิการ” ดีหรือไม่ดี ยังขึ้นอยู่กับสถานะของคนมองด้วย คนที่เป็นนายทุนหรือคนที่อยู่ระดับบนของสังคมที่หาเงินได้เยอะๆ คงไม่ชอบสักเท่าไร เพราะต้องเสียภาษีเยอะ แต่คนระดับล่างที่มีรายได้น้อย เป็นคนจน ก็จะชอบ   


          สำหรับ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เรื่องรัฐสวัสดิการ สำหรับประเทศไทย มีความเป็นไปได้และไม่ใช่เรื่องยาก


          “การสร้างรัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงมีความมุ่งมั่นปฏิรูประบบภาษี ปรับทัศนคติใหม่ เลิกอยู่กับระบบอุปถัมภ์ นี่จึงเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ต้องแข่งขันกันว่า จะสร้างรัฐสวัสดิการแบบไหน ถ้าเราไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย อุดช่องโหว่การทุจริตได้บางระดับ อุดช่องโหว่งเรื่องภาษี เวิลด์แบงก์บอกว่า ไทยก็จะได้ภาษีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5 ของจีดีพี ขณะที่ระบบรัฐสวัสดิการไทยตอนนี้ ใช้เงินเพียงร้อยละ 10 ของจีดีพีเท่านั้น ทีดีอาร์ไอศึกษาว่า การจะทำรัฐสวัสดิการแบบ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน คนไทยจะมีเงินบำนาญเดือนละ 1,000 บาท เพียงเก็บภาษีเพิ่มได้ร้อยละ 2.5 ของจีดีพีต่อปีเท่านั้นเอง”


          อย่างไรก็ตามก็ยังมีคนสรุปว่า  ตราบใดที่ประเทศไทยยังคงปกครองด้วย “กลุ่มทุน” เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะเป็น “รัฐสวัสดิการ” ประเทศไทยจึงเป็นได้เพียง “สังคมสวัสดิการ” ที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องลุกขึ้นมาจัดสวัสดิการให้แก่ตนเองเพราะไม่อาจพึ่งรัฐได้