เลือกตั้งก็ไม่จบ พบแผน "สืบทอดอำนาจ" "กลุ่มมวลชน" ลั่นกลองรบ
จริงหรือที่การเลือกตั้ง 2562 จะไม่ต่างจากการเลือกตั้ง 2500 ที่ได้ชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก และนำมาซึ่งการเดินขบวนต่อต้านการโกงเลือกตั้ง
คำขวัญเชิงกลยุทธ์ “24 มีนา จับปากกา ฆ่าเผด็จการ” หรือ “จับโกงก่อนกา” ของฝ่ายประชาธิปไตย สะท้อนว่า หลังเลือกตั้งก็ยังไม่จบ สำหรับสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับกลุ่มนักศึกษา-นักกิจกรรม ที่เริ่มก่อหวอดคัดค้านอำนาจเผด็จการมาตั้งแต่ปี 2558
“ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” เป็นเรือธงลำแรก ที่ก่อตัวขึ้นในวันครบรอบหนึ่งปีการทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2558 “รังสิมันต์ โรม” และเพื่อนพ้องของ “ไผ่ ดาวดิน” เป็นแกนนำการขับเคลื่อน และพวกเขาก็ถูกจับในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. มาตรา 116
ปี 2561 กำเนิดกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” แต่แกนนำหน้าเก่าคือ “รังสิมันต์ โรม” และเพื่อนๆ หน้าใหม่อีก 4-5 คน เหมือนฉายหนังม้วนเดิม มีการเปลี่ยนหน้า “ตัวละคร” ไปบ้าง อย่าง จ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, อานนท์ นำภา และ โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา
กลุ่มคนอยากเลือกตั้งทำกิจกรรมบ่อยมาก และยกระดับ “เดินขบวน” คราวครบรอบ 4 ปีการยึดอำนาจ แต่มวลชนที่เข้าร่วมไม่เยอะ แกนนำจึงยอมถูกจับกุม ไม่เลือกเล่น “เกมแรง” เพราะต้องการกระแสความรู้สึกเห็นใจจากผู้คนทั่วไป
นับแต่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง 2562 ขบวนการมวลชนบนท้องถนนก็ยุติชั่วคราว และมีจำนวนไม่น้อยที่เข้าร่วมสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย เช่นพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่
เสื้อแดงแปลงร่าง
เดิมทีกลุ่มเส้นทางสีแดง ของ “ฟอร์ด” หรือ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมกับ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” และเป็นกำลังสนับสนุนกลุ่มต้านเผด็จการของฝ่ายนักกิจกรรม-นักศึกษามาตลอด
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา “อานนท์ นำภา” แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ประกาศร่วมสังฆกรรมกับกลุ่มฟอร์ด เส้นทางสีแดง เนื่องจากเห็นต่างกันในการต่อสู้ทางยุทธวิธี
อานนท์ นำภา และ เอกชัย หงส์กังวาน
“ฟอร์ด” จึงสถาปนากลุ่มตนเองเป็น “กลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง” โดยมี เอกชัย หงส์กังวาน เข้าร่วม และทำกิจกรรมเป็นเอกเทศ โดยช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พวกแดงสายฟอร์ดได้ไปช่วยพรรคเพื่อไทยหาเสียง
ฟอร์ด เส้นทางสีแดง
ล่าสุด “ฟอร์ด” และเอกชัย เดินทางไปยังสำนักงาน กกต. ติดตามความคืบหน้าการพิจารณายุบพรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป ตามที่ได้ยื่นร้องต่อ กกต.ไว้ก่อนหน้านี้ ว่าทั้ง 2 พรรค เป็นพรรคกบฏ
นพ.ทศพร เสรีรักษ์
ที่น่าสนใจ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 แพร่ พรรคไทยรักษาชาติได้ร่วมขบวนของฟอร์ดมาทำกิจกรรมด้วย เนื่องจากพรรค ทษช.ถูกยุบ “หมอทศพร” จึงเลือกมาเคลื่อนไหวภาคประชาชน
“คนอยากเลือกตั้ง” ลับลวงพราง
ก่อนการเลือกตั้ง 2562 อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง, ตัวแทนจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และตัวแทนจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้จัดตั้ง “เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรมและมีผลในทางปฏิบัติ” (FFFE)
http://www.komchadluek.net/news/politic/355419
กล่าวอย่างถึงที่สุด เครือข่ายประชาชนฯ ดังกล่าวข้างต้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่เลือกทำกิจกรรมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และกิจกรรมการสำรวจพฤติกรรมการเลือกตั้ง โดยนักศึกษาและนักวิชาการ
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า แกนนำ FFFE ได้ตั้งธงว่า การเลือกตั้ง 2562 จะไม่ต่างจากการเลือกตั้ง 2500 ที่ได้ชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก และนำมาซึ่งการเดินขบวนต่อต้านการโกงเลือกตั้ง
“อานนท์ นำภา” แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อ 19 มีนาคมนี้ ว่า “ถ้าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยรวมคะแนนเสียงได้เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร นั่นหมายความว่าคนส่วนใหญ่ไม่เอาเผด็จการทหาร และถ้าฝ่ายเผด็จการทหารจะดึงดันไม่ให้เราตั้งรัฐบาล วันนั้นจะได้เห็นดีกัน นั่นคือเป้าหมาย จะบอกว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายก็ไม่น่าจะผิด”
จับตา! นปช.ภาคใหม่
หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และเพิกถอนสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทั้ง 13 คนเป็นระยะเวลา 10 ปี วันที่ 9 มีนาคม 2562 แกนนำที่เป็นสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, พิชัย นริพทะพันธุ์, ประภัสร์ จงสงวน, นิคม ไวยรัชพานิช, ก่อแก้ว พิกุลทอง, เหวง โตจิราการ, อุเมส ปานเดย์ และ พชร ธรรมมล ได้ออกมาตั้งโต๊ะร่วมกันแถลงจัดตั้ง “กลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย”
กลุ่มดังกล่าว จะสานต่อภารกิจหยุดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ คสช. เนื่องจากกรรมการบริหาร รวมถึงอดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติที่ลงสมัคร ส.ส. หมดสถานะ เหลือฐานะเป็นเพียงประชาชาชน ที่ยังมีสิทธิดำเนินการต่างๆ ทางการเมืองได้
ในระยะเวลาที่เรียกว่า โค้งสุดท้าย กลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย จึงเดินทางไปเปิดเวทีปราศรัย 4 เวที 4 ภูมิภาค และจะสร้างแฟนเพจเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร
จากนั้น แกนนำกลุ่มก้าวต่อไปฯ ได้เดินทางไปเปิดปราศรัยที่ร้อยเอ็ด, ฉะเชิงเทรา, นครศรีธรรมราช และสุโขทัย ทุกเวทีแกนนำกลุ่มนี้ย้ำว่า ในวันที่ไร้พรรคสังกัด แต่อุดมการณ์นักต่อสู้ยังคงเต็มเปี่ยม พร้อมสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.
ว่ากันว่า แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในสถานการณ์เลือกตั้ง ตกอยู่ในสภาพ “น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ” โดย “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช. เลือกที่จะสนับสนุนพรรคเพื่อชาติ ส่วน “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” หันกลับมาซบเครือข่ายชินวัตร
มีการคาดหมายกันว่า “กลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย” อาจกลายเป็น นปช.ภาคใหม่ ที่ดำเนินการเคลื่อนไหวภายใต้ธงคนแดนไกล ขณะที่ นปช.เดิม นับวันจะห่างไกลออก