"กษัตริย์นักบินพระองค์แรก" แห่งราชวงศ์จักรี
"กษัตริย์นักบินพระองค์แรก" แห่งราชวงศ์จักรี
ตลอดระยะเวลาที่คนไทยได้ชื่นชมพระบารมีของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร นับแต่ทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ภาพที่ปวงชนชาวไทยเห็นจนเจนตา คือภาพที่ทรงฉลองพระองค์ในเครื่องแบบทหารอากาศ และฉลองพระองค์นักบิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทรงพระปรีชาสามารถทางด้านการบินเป็นเอกอุ
สิ่งที่ยืนยันเรื่องนี้คือ ณ ช่วงเวลานั้น พระองค์ยังทรงได้รับการถวายพระสมัญญา “เจ้าฟ้านักบินพระองค์แรก” แห่งราชวงศ์จักรี และเช่นเดียวกันที่จะนับว่า ณ วันนี้พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์นักบิน” ของปวงชนชาวไทยอีกด้วย
แต่ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้น หากว่าพระองค์มิได้สนพระราชหฤทัยเรื่องการบินอย่างจริงจัง โดยทรงมุ่งมั่นทุ่มเทในการศึกษาเล่าเรียนด้านนี้มาตลอดตั้งแต่พระชนมายุเพียง 11 พรรษา จากครั้งที่เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ จากนั้นจึงทรงศึกษาฝึกฝนศาสตร์ด้านการบิน จนทรงพระปรีชาสามารถด้านการบินในทุกรูปแบบ
สำหรับเส้นทางแห่ง “เจ้าฟ้านักบิน” เริ่มต้นอย่างจริงจังหลังจากที่่ได้ทรงศึกษาต่อทางด้านวิชาทหาร พระองค์ทรงศึกษาในสถาบันชั้นนำระดับโลก ทั้งที่โรงเรียนคิงส์ ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และในระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (ด้านการทหาร) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2519
เมื่อทรงรับการศึกษาทางด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติม และทรงศึกษางานทางการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนกระทรวงกลาโหม โดยทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ หลักสูตรการทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง หลักสูตรส่งทางอากาศ และยังทรงเข้าการศึกษาหลักสูตรต่างๆ ทางด้านการบินอีกมากมาย ทำให้ทรงมีพระประสบการณ์และทรงพระปรีชาสามารถด้านการบินในระดับสูงมาก
พลอากาศเอกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเริ่มทำการบินตามหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ของโรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2522, พระองค์เริ่มทำการบินเฮลิคอปเตอร์แบบยูเอช-1 เอช และเฮลิคอปเตอร์แบบยูเอช-1 เอ็น จำนวน 54.4 ชั่วโมง และเฮลิคอปเตอร์แบบ ยูเอช-1เอ็น จำนวน 134.8 ชั่วโมงบิน
เมื่อสำเร็จตามหลักสูตร เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2535 ทรงรับพระราชทานประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถในการบินของกองทัพอากาศ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชบิดา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2523 ณ โรงเรียนนายเรืออากาศดอนเมือง
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.2523 ขณะตามเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ ทรงเข้ารับการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์แบบ ยูเอช-1 เอช ของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่ ฟอร์ท แบรก นอร์ทแคโรไลนา ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 3 เมษายน 2523 จำนวน 31.4 ชั่วโมงบิน
จากนั้นทรงเข้ารับการฝึกบินหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ (GUNSHIP) ของกองทัพบก ในระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2523 สำเร็จตามหลักสูตร มีชั่วโมงบิน 54.8 ชั่วโมง
ไม่เพียงเท่านั้น ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2523 พระองค์ยังทรงฝึกบินเปลี่ยนแบบกับเครื่องบินใบพัดแบบ มาร์คเคตตี้ (MARCHETTI) ของฝูงบินฝึกขั้นปลายโรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ และสำเร็จตามหลักสูตร เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2524 มีชั่วโมงฝึกกับเครื่องบินแบบนี้ 142.3 ชั่วโมง
จากนั้น ทรงฝึกบินเปลี่ยนแบบกับเครื่องบินไอพ่น ที-37 ฝูงบินฝึกขั้นปลาย โรงเรียนการบินกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ถึง 10 กรกฎาคม 2524 มีชั่วโมงบินกับเครื่องบินไอพ่นแบบ ที-37 รวม 206.4 ชั่วโมง
ตามด้วย ทรงฝึกบินในหลักสูตรนักบินพร้อมรบขั้นพื้นฐานกับเครื่องบินไอพ่น ที-33 ของกองบิน 1 ฝูงบิน 101 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2524 และทรงสำเร็จหลักสูตรเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2525 มีชั่วโมงบินกับเครื่องบินไอพ่นแบบ ที-33 จำนวน 189 ชั่วโมง และทรงฝึกบินหลักสูตรนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูงแบบ เอฟ-5 อีเอฟ ของกองบิน 1 ฝูงบิน 102 เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2525 ไปถึงเดือนตุลาคม 2525 มีชั่วโมงบินในหลักสูตรนี้ 200 ชั่วโมง
ระหว่างปลายปี พ.ศ.2525 ถึงปลายปี พ.ศ.2526 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปฝึกศึกษาด้านการบินกับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงแบบ เอฟ-5 อี/เอฟ ที่ฐานทัพอากาศ วิลเลียม รัฐแอริโซนา ในหลักสูตรการบินขับไล่ขั้นพื้นฐาน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2525 ถึงเดือนพฤษภาคม 2526 มีชั่วโมงบินตามหลักสูตร 97.5 ชั่วโมง และหลักสูตรการบินขับไล่ขั้นสูง ระหว่างเดือนมิถุนายน 2526 ถึง กันยายน 2526 มีชั่วโมงบินตามหลักสูตร 41.8 ชั่วโมง
เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทย ทรงเข้ารับการฝึกบินในหลักสูตรการบินรบขั้นสูง (Advance Fighter Course) กับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง เอฟ-5 อี/เอฟ ที่กองบิน 1 ฝูง 102 อีก จนจบหลักสูตร
ครั้งหนึ่งพระองค์ยังได้ทรงแสดงพระปรีชาชาญในวิทยาการด้านการบินทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จ.ลพบุรี และทรงชนะเลิศการแข่งขัน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2530
หลังจากนั้นยังทรงฝึกศึกษาเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงแบบ เอฟ 5 อี/เอฟ และทรงเข้ารับการฝึกบินในหลักสูตรการบินรบชั้นสูง (Advance Fighter Course) กับเครื่องเอฟ 5ดี/เอฟ อย่างสม่ำเสมอ จนทรงพร้อมรบ และครบชั่วโมงบินทุกประเภทรวมกันกว่า 1,000 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2532
อีกทั้งยังทรงเข้าร่วมการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศประจำปี โดยทรงทำคะแนนได้สูงตามกติกา กองทัพอากาศจึงทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องหมายความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศชั้นที่ 1 ประเภทอาวุธระเบิดสี่ดาว อาวุธจรวดสี่ดาว และอาวุธปืนสี่ดาว
พระองค์ทรงมีชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องสูงมาก และถือว่าเป็นสิ่งที่ยากสำหรับนักบินทั่วโลกจะทำได้ ยังทรงพระกรุณาปฏิบัติหน้าที่ครูการบินแก่นักบินขับไล่ของกองทัพอากาศ แบบ เอฟ 5 อี/เอฟ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2537 เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของกองทัพไทย และปวงชนชาวไทย
และด้วยพระวิริยอุตสาหะ พลอากาศเอกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจการบินกับเครื่องบินแบบนี้ อย่างสม่ำเสมอ จนทรงมีชั่วโมงบินเฉพาะแบบถึง 2,000 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2540 ซึ่งทางบริษัท นอร์ธรอป ประเทศสหรัฐฯ บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงแบบเอฟ 5 อี/เอฟ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเกียรติบัตรการบิน ทรงทำการบินกับเครื่องบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูงแบบ F-5 E/F ครบ 2,000 ชั่วโมง
ไม่เพียงเท่านั้นตลอดมา ชาวไทยยังได้เห็นอีกมุมของพระปรีชาสามารถทางด้านการบินอีกหลายครั้งหลายครา โดยเฉพาะกับการทรงขับเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ในเที่ยวบินมหากุศลหลายวาระด้วยกัน อาทิ
ในปี พ.ศ. 2552 ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 เครื่องบินโบอิ้ง 737–400 ในเที่ยวบินสายใยรักแห่งครอบครัว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (เที่ยวบินที่ ทีจี 8870 (กรุงเทพมหานครถึงจังหวัดเชียงใหม่) และเที่ยวบินที่ ทีจี 8871 (จังหวัดเชียงใหม่ถึงกรุงเทพมหานคร) โดยมีผู้โดยสารวีไอพีจำนวน 80 คน เป็นผู้ร่วมบริจาคเงินสำหรับภารกิจดังกล่าวรายละ 1 ล้านบาท มียอดบริจาคทั้งสิ้น 80 ล้านบาท
ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ทรงนำคณะพุทธศาสนิกชนจำนวน 123 คน กราบสักการะพุทธสังเวชนียสถาน สถานที่ตรัสรู้ ณ ตำบลพุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยเป็นเที่ยวบินที่ทีจี 8842 และทีจี 8843 เครื่องบินโบอิ้ง 737-400 เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อินเดีย
โดยทรงทำการบินในตำแหน่งนักบินที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้จากการจำหน่ายบัตรที่นั่งละ 5 แสนบาท และผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเพื่อร่วมกุศลโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย สมทบมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมทบกองทุนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ (เพื่อผู้ประสบภัยพิบัติ) มียอดบริจาคทั้งสิ้น 50.5 ล้านบาท
จากนั้นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2555 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ทรงรับเป็นนักบินที่ 1 ในเที่ยวบินพิเศษมหากุศล นำคณะพุทธศาสนิกชนเดินทางไปกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดป่าวิเวกธรรม อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นการบินไป-กลับ ในเส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น จำหน่ายบัตรโดยสารในราคาที่นั่งละ 5 แสนบาท จำนวน 100 ที่นั่ง รายได้สมทบมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)
เที่ยวบินมหากุศลครั้งนี้ ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737-400 เที่ยวบินทีจี 8866 และทีจี 8867 มีผู้โดยสาร 113 คน โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำรายได้จากเที่ยวบินมหากุศลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมทบมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) โดยมียอดเงินบริจาคกว่า 50 ล้านบาท
นับเป็นกษัตริย์นักบินพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีอย่างแท้จริง...