ทางสองแพร่ง"พรรคสีฟ้า" ทางเลือก"กรณ์ จาติกวณิช"
"อิ่ม"หรือ"หิว" ทางสองแพร่ง"พรรคสีฟ้า" ทางเลือก"กรณ์ จาติกวณิช"
งวดเข้ามาทุกทีสำหรับการคั่วตำแหน่งผู้นำพรรคสีฟ้า “ประชาธิปัตย์" ที่จะมีการโหวตกันในวันที่ 15 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ล่าสุดยืนยันออกมาแล้วว่ามีผู้ร่วมชิงชัยในครั้งนี้ 4 คนด้วยกัน ได้แก่ กรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรค จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รักษาการรองหัวหน้าพรรค และทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรค อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตรองหัวหน้าพรรค และอดีตผู้ว่าฯ กทม. และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
กรณ์ จาติกวณิช ว่าที่ผู้สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โชว์ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิบรรจุถุงแบรนด์"อิ่ม"
หากดูหน่วยก้านแต่ละคนต่างมีจุดเด่นไม่แพ้กัน ดีคนละแบบ เก่งคนละด้าน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมืองว่าพรรคต้องการใช้คนแบบไหน !
“การเลือกผู้นำพรรค นัั่นหมายถึงการเลือกผู้นำประเทศด้วย ยุคนี้ต้องสู้กันด้วยเรื่องเศรษฐกิจ สู้กันด้วยปากท้องชาวบ้าน ชาวบ้านต้องอิ่มท้องก่อน ประเทศจึงจะเดินหน้าไปได้” แหล่งข่าวระดับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์วิเคราะห์ให้ฟัง
จึงไม่แปลกที่การเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คราวนี้ทุกคนต่างจับจ้องไปที่ “กรณ์ จาติกวณิช” มีือเศรษฐกิจของพรรค ผ่านประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจการคลังมาอย่างโชกโชน เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รั้งตำแหน่งซีอีโอสถาบันการเงินมาไม่ต่ำกว่า 20 บริษัท เป็นหนุ่มนักเรียนนอกที่มีความพร้อมด้านเศรษฐกิจมากที่สุด เมื่อเทียบกับว่าที่ผู้สมัครอีก 3 คน
แม้กรณ์จะมีความช่ำชองในเรื่องเศรษฐกิจ แต่หลายคนมองว่าเขาเก่งกาจเฉพาะเศรษฐกิจมหภาค แต่เศรษฐกิจระดับรากหญ้าวิชาของกรณ์ยังติดลบ ซึ่งเจ้าตัวเองก็รู้ดีและพยายามปิดจุดบอดตรงนี้ให้ได้
การก้าวขึ้นมารั้งตำแหน่งประธานโครงการเกษตรเข้มแข็งของพรรค ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพยายามรับรู้ปัญหาของชาวบ้านในระดับรากหญ้า ด้วยการลงพื้นที่คลุกอยู่กับชาวนาไม่ต่ำกว่า 5 ปี จนมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับในระดับชุมชน จนลบคำครหาที่ว่า "หนุ่มนักเรียนนอกตีนไม่ติดดิน"
“อิ่ม” แบรนด์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์บรรจุถุงแห่งทุ่งกุลาร้องไห้ของชุมชนบ้านหนองหิน ต.โคกก่อ อ.เมือง จ.มหาสาคาม 1 ใน 5 จังหวัดของพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ที่ผลิตข้าวหอมมะลิชั้นดีที่สุดในประเทศไทย โดยกรณ์ได้เข้าไปช่วยเหลือและพยายามปลุกปั้นจนประสบความสำเร็จ เขาใช้เวลากว่า 5 ปีในช่วงว่างเว้นงานการเมืองลงพื้นที่สำรวจปัญหาของชาวนาในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จนพบทางออกของปัญหาชาวนาคือด้านการตลาดและการกู้หนี้นอกระบบมาลงทุน
“ทำมา 5 ปีที่แล้วเริ่มตั้งแต่ช่วง คสช.ยึดอำนาจ ช่วงนั้นมีเวลาว่าง ลงพื้นที่ตลอด ไปๆ มาๆ กรุงเทพฯ มหาสารคาม ทำให้รู้ว่าการแก้ปัญหาชาวนาไม่ใช่เรื่องง่าย มันมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องการตลาดและการกู้หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ส่วนระบบการผลิตของเขาไม่มีปัญหา ที่จริงเขาอยากทำข้าวอินทรีย์ แต่กลับผลผลิตน้อย ไม่มีตลาดรองรับ ราคาขายก็ไม่ต่างจากข้าวเคมี พ่อค้าที่รับซื้อก็ไม่ได้แยกชัดเจนระหว่างข้าวอินทรีย์กับข้าวเคมี ทางแก้ก็คือต้องให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันแปรรูปเพิ่มมูลค่าดีกว่าขายเป็นข้าวเปลือก” กรณ์เผยในวงสนทนากับสื่อมวลชน
กรณ์ ย้ำว่าอันที่จริงชาวบ้านหนองหินนั้นมีแนวคิดที่จะเลิกพึ่งพาสารเคมีและต้องการฟื้นฟูพันธุ์ข้าวท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่ก็ยังคงติดปัญหาตรงที่กลัวได้ผลผลิตน้อยจนทำให้ขายข้าวไม่ได้ราคา ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการเกษตรเข้มแข็ง ที่ตนเองเป็นประธานก็มีแนวคิดตรงกันว่า
“ถ้าสามารถเลือกพันธุ์ข้าวท้องถิ่น มาพัฒนาด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี พร้อมกับเพิ่มมูลค่าด้วยการทำแพ็กเกจและแบรนด์ดีๆ ก็น่าจะสามารถยกระดับข้าวท้องถิ่นของที่นี่ให้เป็นสินค้าระดับพรีเมียมได้ นำพาให้ ชาวบ้านขายข้าวได้ราคามากขึ้น และมีความกินดีอยู่ดีตามไปด้วย โดยใช้หลักคิด “From Farm to Fork” หรือ “จากนาสู่จาน”
หลังแก้ปัญหาเรื่องการตลาดจนสำเร็จไปอีกขั้นสำหรับข้าวหอมมะลิอินทรีย์บรรจุถุงภายใต้แบรนด์ “อิ่ม” จากนั้นมาลุยแก้ปัญหาการกู้หนี้นอกระบบ โดยผ่านโครงการเกษตรเข้มแข็ง หลังจากวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตแล้วทำให้รู้ว่าต้นทุนการทำนาจริงอยู่ที่ไร่ละไม่เกิน 4,000 บาท จึงปล่อยให้ชาวนาในหมู่บ้านกู้ยืมไปลงทุนก่อนโดยไม่คิดดอกเบี้ยแล้วค่อยหักจากรายได้จากการจำหน่ายข้าวถุง ซึ่งปรากฏว่าข้าว 1 ไร่ ทำรายได้เยอะมากเมื่อนำมาแปรรูปบรรจุถุงจำหน่าย ส่วนข้าวหักหรือข้าวตกเกรดจะจำหน่ายให้แก่ผู้มีจิตศรัทธาถวายแด่วัดพระบาทน้ำพุ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประทานข้าวหอมชั้นดี
“ข้าวหอมปลูกได้ปีละครั้งเหมือนกับข้าวพันธุ์พื้นเมืองทั่วไป ต่างจากข้าวขาวทั่วๆ ไปที่ปลูกได้ปีละ 2-3 ครั้ง ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง เมื่อเขาปลูกได้ปีละครั้งก็ควรจะขายได้ในราคาที่สูงให้สมกับเป็นสุดยอดข้าวหอมมะลิของไทย จึงต้องนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า ข้าวพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ ก็เช่นกัน อย่างข้าวสังข์หยดหรือมะพร้าวน้ำหอม เป็นต้น” กรณ์ให้มุมมอง
บ้านหนองหินคือตัวอย่างความสำเร็จในการบริหารจัดการเรื่องการตลาดและการแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ ผ่านโครงการเกษตรเข้มแข็งและยังเป็นต้นแบบให้แก่หมู่บ้านหรือชุมชนอื่นๆ อีกหลายชุมชน ที่ไม่เพียงแค่ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาเท่านั้น หากแต่ข้าวพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ เขามองว่าน่าจะใช้ในรูปแบบเดียวกันกับข้าวหอมทุุ่งกุลาฯ ไม่ว่าข้าวสังข์หยดหรือข้าวพันธุ์พื้นเมืองอื่นที่ปลูกยากและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยข้าวเหล่านี้ควรจะแยกออกจากข้าวขาวทั่วไป เนื่องจากเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า และที่สำคัญชาวนาก็จะมีรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
“ไม่ใช่แค่ข้าวหอมทุ่งกุลานะ ข้าวสังข์หยดพัทลุงก็ควรจะแยกออกจากข้าวขาวทั่วไปให้ชัดเจน แล้วก็ต้องยกให้เป็นข้าวเกรดพรีเมียม รวมไปถึงการส่งออกต่างประเทศด้วย ไม่เช่นนั้นผู้บริโภคจะสับสน เห็นเป็นข้าวหอมก็คิดว่าเหมือนๆ กัน ที่จริงไม่ใช่ ถ้าเป็นข้าวหอมทุ่งกุลาจะหอมกรุ่นมาก เวลาหุงกลิ่นจะหอมมาแตไกล เป็นกลิ่นหอมเฉพาะของข้าวทุ่งกุลานะ”
นอกจากนี้ ตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าข้าวหอมนั้น ควรเป็นกลุ่มสหกรณ์ที่ทุกคนเป็นสมาชิก เพราะกำไรที่ได้ก็จะตกถึงมือชาวนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งยอมรับว่าทุกวันนี้มีหลายสหกรณ์ที่มีความพร้อมในการแปรรูปเพิ่มมูลค่าข้าวและทำตลาดได้เองแล้ว
"ข้าวประเภทนี้ควรให้กลุ่มสหกรณ์เขาดูแลจัดการกันเอง เพราะปริมาณมีไม่มากเมื่อเทียบกับข้าวขาวทั่วๆ ไป พ่อค้าหรือบริษัทค้าข้าวเอกชนควรจะไปดูข้าวอื่นๆ ซึ่งมีปริมาณที่มากกว่า” ประธานเกษตรเข้มแข็งให้ความเห็น
ไม่ใช่แค่เพียงการแปรรูปเพิ่มมูลค่าข้าวเท่านั้น แต่กรณ์ยังลงลึกในการนำทุกส่วนของข้าวมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำเอาซังข้าวหลังเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วมาประดิษฐ์เป็นกระเป๋าถือและตะกร้าเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์แทนที่จะเป็นเศษวัสดุเหลือทิ้ง จากนั้นก็เติมแต่งด้วยเครื่องประดับก็จะทำให้มีมูลค่าขึ้นมาทันที ซึ่งในส่วนนี้ภรรยาของเขาจะเป็นคนรับผิดชอบ
“ซังข้าวหลังเก็บเกี่ยวแทนที่จะทิ้งหรือทำลายก็นำมาใช้ประโยชน์ได้นะ ภรรยาผมเขาก็นำเอามาทำกระเป๋าถือ ลองเปิดขายทางออนไลน์ดูปรากฏว่ามีคนสนใจเยอะมาก ส่วนราคาขายไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับความพอใจระหว่างคนซื้อกับคนขาย” กรณ์เผยพร้อมโชว์รูปกระเป๋าถือจากซังข้าวฝีมือภรรยา
การลงลึกสู่เศรษฐกิจรากหญ้าเพื่อศึกษารายละเอียดของปัญหาเป็นอีกมิติหนึ่งในการเตรียมความพร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำ ภายใต้สโลแกน “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” หากเป็นไปตามที่วาดหวังจะมีการรีแบรนด์ครั้งใหญ่เพื่อให้พรรคแม่ธรณีบีบมวยผมกลับมายิ่งใหญ่และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกครั้ง
“กระแสมันแรงจริง ทั้งๆ ที่ผู้สมัครของพรรคแต่ละคนลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนมาตลอด แต่ช่วง 2-3 เดือนก่อนเลือกตั้งมีกระแสการแบ่งขั้วการเลือกข้าง กระแสโซเชียลมาแรงมาก คนก็เลือกไปตามกระแส ซึ่งอันนี้เห็นผลชัดเจนมาก” กรณ์กล่าวยอมรับ พร้อมจะนำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้ในพรรคต่อไป โดยเฉพาะการใช้สื่อโซเชียล ซึ่งเขาเป็นบุคคลแรกๆ ของพรรคที่หันมาเล่นสื่อประเภทนี้ เห็นได้จากมีคนติดตามทวิตเตอร์ กรณ์ จาติกวณิชย์ มากถึง 6 แสนคนในปัจจุบัน
“ต่อไปจะต้องใช้ทีมสื่อโซเชียลมาเป็นตัวหลักในการสื่อสาร ทีมโฆษกเป็นแค่ตัวประกอบไม่ใช่ตัวหลัก เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงง่ายในเวลาที่รวดเร็ว” กรณ์วาดหวังหากก้าวสู่การเป็นผู้นำพรรค พร้อมกับคำมั่นสัญญาว่าจะต้องสลายขั้วในพรรคและจะรวมทีมเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ โดยเขาย้ำอย่างชัดเจนว่า
“ถ้าสลายขั้วในพรรคไม่ได้ อย่าคิดเลยว่าจะสลายขั้วในสังคมได้" กรณ์ยืนยัน ส่วนพรรคจะร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น เขาสงวนท่าทีบอกเป็นสิทธิ์ของคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา แต่ไม่ว่าประชาธิปัตย์จะเลือกเดินทางไหน สำหรับเขามีคำตอบอยู่ในใจแล้ว
................................................
เมื่อสองหนุ่มนักเรียนนอกจากเมืองผู้ดี มีกีฬาอยู่ในหัวใจ เมื่อคู่หู “หล่อใหญ่" อดีตหัวหน้าพรรค “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แฟนพันธุ์แท้นิวคาสเซิล “หล่อโย่ง” อย่างกรณ์ก็เป็นแฟนพันธุ์อดีตทีมดังอย่าง “ลีดส์ ยูไนเต็ด” มาตั้งแต่อายุ 19 ตั้งแต่ยุคลีดส์รุ่งเรืองในปี 1973 แม้วันนี้ทีมในดวงใจจะตกชั้นไปอยู่แชมเปี้ยนชิพ แต่แฟนพันธุ์แท้อย่างเขาก็ยังเหนียวแน่นกับ “ลีดส์ ยูไนเตฺ็ด” เช่นเดิม
ความพยายามของ “ลีดส์ ยูไนเต็ด” ในการก้าวขึ้นมาสู่พรีเมียร์ลีกฉันใด ไม่ต่างจากการนำพา “ประชาธิปัตย์” ก้าวสู่ระดับแถวหน้าการเมืองไทยอีกครั้ง
นี่คือความหวังและความตั้งใจของลูกผู้ชายที่ชื่อ “กรณ์ จาติกวณิช”