คอลัมนิสต์

แผนรับมือ'เปิดเทอมใหญ่'..การจราจรว้าวุ่น

แผนรับมือ'เปิดเทอมใหญ่'..การจราจรว้าวุ่น

13 พ.ค. 2562

โดย... สุริยา ปะตะทะโย / เจษฎา จันทรรักษ์

 

 

          ปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่รอการการแก้อย่างยั่งยืน โดยเป็นปัญหาสะสมมาอย่างยาวนาน ทุกหน่วยงานและทุกรัฐบาลหลายสมัยพยายามหาแนวทางและกำหนดเป็นแผนงานเพื่อขจัดปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่แก้เท่าไหร่ ออกนโยบายอะไรก็ยังไม่เห็นเป็นมรรคผล อาจเป็นเพราะระบบขนส่งมวลชนยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง ความสะดวกสบายและค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางยังไม่ตอบโจทก์เท่ากับการใช้รถยนต์ส่วนตัวที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน 

 

 

          เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหาการจราจรติดขัดให้หมดไปในเวลาอันใกล้นี้ แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ยิ่งแล้วช่วงเปิดเทอมของโรงเรียนต่างๆ ย่อมมีผลต่อสภาพการจราจรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น โดยเริ่มโหมโรงเปิดเทอมกันไปบ้างแล้ว แต่โรงเรียนส่วนใหญ่จะเริ่มเปิดเทอมในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ การเตรียมพร้อมรับมือการจราจรในช่วงเปิดเทอมจึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วน

 

 

แผนรับมือ\'เปิดเทอมใหญ่\'..การจราจรว้าวุ่น

 

 

          เกี่ยวกับการรับมือ แก้ไข และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรคงหนีไม่พ้น “ตำรวจ” ที่จะเป็นแม่งานหลัก ซึ่งความห่วงใยเรื่องนี้ถูกส่งมาตั้งแต่ระดับรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดังนั้นในฐานะ “แม่ทัพสีกากี” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. จึงกำชับให้ทุกโรงพักที่มีสถานศึกษาอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ให้ดูแลอำนวยการจราจรจุดรับส่งหน้าโรงเรียน และสัญญาณไฟจราจรให้สัมพันธ์กัน พร้อมประสานเร่งรัดการคืนพื้นผิวจราจรตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังสั่งกำชับในการเพิ่มมาตรการกวดขันวินัยจราจรและอำนวยความสะดวก ขนส่งสาธารณะ การบริหารจัดการจราจรในภาพรวม รวมทั้งการรณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจรร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ พร้อมประสานงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มในจุดที่เป็นปัญหา เพื่อเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

 

 

 

แผนรับมือ\'เปิดเทอมใหญ่\'..การจราจรว้าวุ่น




          กระทั่งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พล.ต.ท.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรช่วงเปิดภาคเรียนของสถานศึกษา (ภาคต้น) โดยได้แบ่งเป็น 4 หัวข้อสั่งการ คือ 1.การแก้ไขปัญหาการเปิดสัญญา 2.การแก้ไขปัญหาการจราจรในช่วงเวลาเปิดภาคเรียน 3.การคืนพื้นผิวการจราจรตามแนวรถไฟฟ้า และ 4.การใช้พื้นที่จอดรถไม่ให้กระทบการจราจร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมด้วย อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กรมการขนส่งทางบก และ กรุงเทพมหานคร

 

 

 

แผนรับมือ\'เปิดเทอมใหญ่\'..การจราจรว้าวุ่น

 


          ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น. ที่รับผิดชอบงานด้านจราจร อธิบายว่า สถานศึกษาที่อยู่ในซอยแคบมักมีปัญหาจราจรมาก ซึ่งได้เน้นย้ำระบายรถไม่ให้กระทบถนนสายหลัก โดยให้แต่ละพื้นที่แก้ปัญหาให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ พร้อมสั่งระดมกำลังตำรวจจราจรเต็มที่ช่วงเดือนแรกของการเปิดภาคเรียน เพื่อให้ผู้ปกครองคุ้นเคยกับระบบบริหารจัดการจราจร


          พล.ต.ต.จิรสันต์ อธิบายอีกว่า ด้วยการแก้ไขปัญหาจราจรเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีข้อสั่งการในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้หลัก ๆ อยู่ 9 ข้อ คือ 1.ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรทุกนายให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ผู้บังคับบัญชาระดับ ผู้บังคับการ (ผบก.) และรองผู้บังคับการ (รองผบก.) ต้องลงมากำกับดูแล ร่วมแก้ปัญหากับผู้กำกับ (ผกก.) สถานีตำรวจท้องที่ เมื่อมีปัญหาจราจรติดขัด หรืออุบัติเหตุใหญ่ ส่งผลกระทบไปยังเขตพื้นที่อื่นๆ ในส่วนรองผู้กำกับ (รองผกก.) และสารวัตรจราจร (สว.จร.) ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาทุกครั้ง โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งเด่วนเช้าเย็น

 

 

แผนรับมือ\'เปิดเทอมใหญ่\'..การจราจรว้าวุ่น

 


          2.ให้สถานีตำรวจในพื้นที่ที่มีสถานศึกษาบูรณาการร่วมกับโรงเรียนและสถานศึกษาในการอำนวยความสะดวกการจราจร เร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ขอความร่วมมือในการจอดรถรับส่งบุตรหลาน และการเตรียมความพร้อมของนักเรียนก่อนถึงโรงเรียน โดยตำรวจ ผู้ปกครอง โรงเรียน ต้องร่วมมือกันบริหารจัดการจุดรับส่งนักเรียนอย่างเป็นระบบ 3.ประสานความร่วมมือภาคีเครือข่าย เร่งรัดคืนพื้นผิวการจราจรตามแนวก่อสร้างให้ได้มากที่สุด 4.ให้ทุกหน่วยจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ รถยก หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาการจราจรให้พร้อม กรณีรถของประชาชนเกิดอุบัติเหตุ หรือเสีย ตำรวจจราจรที่อยู่ใกล้เคียงต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาและเคลื่อนย้ายรถที่กีดขวางการจราจรให้เร็วที่สุด เพื่อให้การจราจรลื่นไหลไปได้


          5.ให้ทุกโรงพักทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจัดทำแผนอำนวยความสะดวกจราจร หรือแก้ไขปัญหาในพื้นที่รับผิดชอบ จะต้องรายงานกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยการทำแผนขอให้คำนึงถึงสถานกำลังพลตำรวจจราจร และจุดเสี่ยงที่จะวางกำลังประจำจุด ซึ่งขอให้มีการสุ่มตรวจจาก บก., บช.น. และตร. หากออกแผนแล้วไม่ปฏิบัติตามหรือไม่มีการดำเนินการต้องถูกพิจารณาข้อบกพร่อง 6.ให้ทุกหน่วยนำเทคโนโลยีมาบริการจัดการจราจร เช่น การเชื่อมต่อระบบซีซีทีวีเข้าไปในป้อมตำรวจควบคุมสัญญาณไฟจราจรตามแยกต่างๆ เพื่อให้เห็นท้ายแถวของรถ แล้วบริหารจัดการเฉลี่ยปล่อยรถในเส้นทาง ซึ่งอยากให้เชื่อมต่อไปยังโรงพักด้วย เพื่อให้ผู้กำกับ หรือผู้บริหารในโรงพักได้ร่วมบริหารจัดการ หรือตรวจสอบการจราจรในพื้นที่ของตนเองได้ตลอดเวลา

 

 

แผนรับมือ\'เปิดเทอมใหญ่\'..การจราจรว้าวุ่น

 

 


          7.กำชับการแต่งกายตำรวจจราจรทุกนาย จะต้องแต่งกายให้ถูกต้องตามระเบียบ สะอาด สง่างาม ใช้กิริยาวาจาสุภาพ มีจิตใจให้บริการประชาชน และให้ถือปฏิบัติตามที่ ตร. เคยสั่งไว้โดยเคร่งครัด 8.ให้ บก.จร. พิจารณาจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่สร้างภาพลักษณ์ให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องของการจราจรและการให้บริการประชาชน ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดหน้าโรงเรียน สถานศึกษา สถานที่สำคัญๆ รวมทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วไว้ให้บริการตามแผนที่เตรียมไว้ และ 9.ให้ศูนย์แก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (บก.02) ประชาสัมพันธ์ผ่านหมายเลข 1197 เป็นที่พึ่งให้ประชาชนในการแก้ไขปัญหาจราจร เช่น สอบถามข้อมูลจราจร แจ้งรถเสีย หรืออุบัติเหตุ รวมทั้งบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ สวพ.91 และจส.100 ร่วมกับแชร์ข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่าวโซเชียลมีเดีย เพื่อรับรู้ข่าวสารทางโซเชียลมีเดียมาวางแผนในการจัดการจราจร แก้ปัญหารถติด รับแจ้งอุบัติเหตุ


          อย่าลืมใช้รถใช้ถนนมีน้ำใจ มีวินัย เคารพกฎลดอุบัติเหตุ เพราะจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตัวเองและผู้อื่น..!!

 

 

 

แผนรับมือ\'เปิดเทอมใหญ่\'..การจราจรว้าวุ่น

 

 

          วันเปิดเทอมโรงเรียนในพื้นที่การจราจรหนาแน่น
          1.กลุ่มโรงเรียน ถนนสามเสน ราชวิถี นครราชสีมา ได้แก่ ร.ร.เซนต์คาเบียล (5,000 คน) เปิดเทอมวันที่ 21 พ.ค. (ประถม+มัธยม) ร.ร.เซนต์ฟรังฯ (2,000 คน) เปิดเทอมวันที่ 15 พ.ค. (อนุบาล+ประถม+มัธยม) ร.ร.โยนออฟอาร์ค (305 คน) เปิดเทอมวันที่ 14 พ.ค. (อนุบาล+ประถม+มัธยม) ร.ร.ราชินีบน (3,000 คน) เปิดเทอมวันที่ 21 พ.ค. (อนุบาล+ประถม+มัธยม) ร.ร.เขมะสิริอนุสสรณ์ (1,802 คน) เปิดเทอมวันที่ 16 พ.ค. (ประถม+มัธยม) ร.ร.สามเสนวิทยาลัย (3,000 คน) เปิดเทอมวันที่ 8 พ.ค. (มัธยม) ร.ร.อนุบาลสามเสน (1,200 คน) เปิดเทอมวันที่ 8 พ.ค. (อนุบาล+ประถม)


          2.กลุ่มโรงเรียน ถนนเพชรบุรี อโศก สุขุมวิท เพลินจิต ได้แก่ ร.ร.เซนต์ดอมินิก (3,000 คน) เปิดเทอมวันที่ 16 พ.ค. (ประถม+มัธยม) ร.ร.วัฒนาวิทยาลัย (3,000 คน) เปิดเทอมวันที่ 13 พ.ค. (อนุบาล+ประถม+มัธยม) ร.ร.มาแตร์เดอีวิทยาลัย (2,000 คน) เปิดเทอมวันที่ 16 พ.ค. (อนุบาล+ประถม+มัธยม) ร.ร.สาธิต มศว ประสานมิตร (1,700 คน) เปิดเทอมวันที่ 27 พ.ค. (มัธยม)


          3.กลุ่มโรงเรียน ถนนสีลม สาทร เจริญกรุง ได้แก่ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียน (5,000 คน) เปิดเทอมวันที่ 14 พ.ค. (ประถม+มัธยม) ร.ร.อัสสัมชัญแผนกประถม (3,000 คน) เปิดเทอมวันที่ 16 พ.ค. (อนุบาล+ประถม+มัธยม) ร.ร.อัสสัมชัญคอนแวนต์ (2,700 คน) เปิดเทอมวันที่ 15 พ.ค. (มัธยม) ร.ร.เซนต์หลุยส์ศึกษา (600 คน) เปิดเทอมวันที่ 15 พ.ค. (อนุบาล+ประถม+มัธยม) ร.ร.เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ (5,500 คน) เปิดเทอมวันที่ 15 พ.ค. (อนุบาล+ประถม+มัธยม)