คอลัมนิสต์

แปลงเพศแล้วขอแก้ไขคำนำหน้านามและเพศในทะเบียนราษฎรได้หรือไม่?

แปลงเพศแล้วขอแก้ไขคำนำหน้านามและเพศในทะเบียนราษฎรได้หรือไม่?

24 พ.ค. 2562

โดย... นายปกครอง

 

 

          เรื่องน่ารู้วันนี้ ...มีคดีปกครองที่น่าสนใจ กรณีบุคคลผู้ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศเรียบร้อยแล้ว ได้ยื่นคำร้องขอต่อนายทะเบียนอำเภอเพื่อขอแก้ไขข้อมูลประวัติในเอกสารทะเบียนราษฎรให้เป็นปัจจุบัน เข้ากับเพศสรีระของตน โดยได้ขอเปลี่ยนคำนำหน้านามจาก “นาย” เป็น “นางสาว” และแก้ไขเพศจาก “เพศชาย” เป็น “เพศหญิง”

 

 

          แต่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่ผู้ยื่นคำขอคาดหวังไว้ เพราะนายทะเบียนอำเภอไม่รับคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรของผู้ยื่นคำขอ ด้วยเหตุผลที่ว่า การลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎร ที่ระบุเพศว่าเป็นเพศชาย ถูกต้องตามข้อเท็จจริงในขณะเกิดแล้ว 


          แม้ผู้ยื่นคำขอจะเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศจากเพศชายเป็นเพศหญิง ก็ไม่ทำให้สถานะทางกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปเป็นเพศหญิงได้แต่อย่างใด การร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรดังกล่าวจึงไม่อาจทำได้ !!


          ผู้ยื่นคำขอดังกล่าวเห็นว่าตนถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งเพศสภาพในปัจจุบันไม่ตรงกับเพศกำเนิดในเอกสารทางกฎหมาย ทำให้ต้องเสียสิทธิต่างๆ ที่ผู้หญิงพึงได้รับตามกฎหมาย จึงยื่นฟ้องนายอำเภอ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งไม่รับคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรและดำเนินการแก้ไขข้อมูลทางทะเบียนให้เป็นไปตามคำขอ


          ถึงตรงนี้ ...ท่านผู้อ่านคงอยากทราบแล้วใช่ไหมครับ ! ว่า... การที่ผู้ฟ้องคดีผ่าตัดแปลงเพศแล้ว จะสามารถร้องขอให้นายทะเบียนอำเภอแก้ไขข้อมูลสถานะทางกฎหมายในเอกสารทะเบียนราษฎรได้หรือไม่...?

 

          ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลใบรับรองแพทย์ซึ่งระบุว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นโรคความผิดปกติของเอกลักษณ์ทางเพศ ซึ่งเป็นสภาวะทางจิตใจไม่ตรงกับเพศที่ถือกำเนิด การรักษาโดยวิธีผ่าตัดแปลงเพศก็เพื่อแก้ไขความผิดปกติดังกล่าว และเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีใช้ชีวิตได้สอดคล้องกับสภาพจิตใจที่เป็นหญิงของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น หาใช่เป็นการแก้ไขความบกพร่องของร่างกายกรณีเพศกำกวมแต่อย่างใด




          ฉะนั้นแม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะได้รับการผ่าตัดโดยแก้ไขให้มีอวัยวะเพศเป็นหญิงแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้สถานะทางกฎหมายของผู้ฟ้องคดีเปลี่ยนแปลงจากเพศชายเป็นเพศหญิงได้ เนื่องจากสถานะทางกฎหมายของผู้ฟ้องคดีย่อมขึ้นอยู่กับเพศกำเนิด และไม่มีกฎหมายรับรองไว้เช่นนั้น 


          เมื่อยังไม่มีกฎหมายใดรับรองสิทธิที่ผู้ฟ้องคดี จะสามารถยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพศที่ถือกำเนิด และเปลี่ยนคำนำหน้านามจาก นาย เป็น นางสาว ได้ นายอำเภอจึงไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ คำสั่งของนายอำเภอที่ยืนยันไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ จึงชอบแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.203/2562)


          คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวได้วางหลักว่า เมื่อกฎหมายรับรองสถานะทางเพศโดยให้ถือเอาเพศตามที่กำเนิดมาโดยธรรมชาติ และยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรับรองที่จะให้สิทธิแก่บุคคลที่แปลงเพศมาแล้วสามารถที่จะขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเอกสารทะเบียนราษฎรได้ นายอำเภอจึงไม่อาจดำเนินการให้ตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอได้ โดยสรุปก็คือ ไม่มีสิทธิ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้กระทำได้นั่นเองครับ !! 

          (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)