คอลัมนิสต์

ความท้าทายแก้ปัญหา"วัณโรค"

ความท้าทายแก้ปัญหา"วัณโรค"

27 มิ.ย. 2562

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2562

 

 

          คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เผยสาเหตุการเสียชีวิตของ น.ส.บุตรศรัณย์ ทองชิว หรือน้ำตาล เดอะสตาร์ โดยรายงานผลการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อหลังโพรงจมูกที่ส่องกล้องเข้าไปดู พบมีสีผิดปกติไปขนาดประมาณ 0.5–1 ซม. จึงตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อนำมาตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาหาสาเหตุการเสียชีวิต

 


          ระหว่างตัดชิ้นเนื้อพบมีเลือดไหลออกมา หลังจากย้อมชิ้นเนื้อ พบว่าเข้าได้กับวัณโรคแต่ไม่พบเชื้อ จึงได้ทำการตรวจอีกวิธีหนึ่งเพื่อตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อวัณโรคได้ผลเป็นบวก จึงสรุปได้ว่ามีเชื้อวัณโรคหลังโพรงจมูก ซึ่งในกรณีนี้มีโอกาสติดต่อกันได้น้อย จากสถิติในปี 2560 พบคนไทยเป็นวัณโรคประมาณ 80,000 คน โดยร้อยละ 83 จะตรวจพบที่ปอด ส่วนร้อยละ 17 ตรวจพบนอกปอด สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกพบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรคที่พบนอกปอด อีกทั้งวัณโรคสามารถเป็นได้ตามอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย พร้อมระบุด้วยว่าอุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศยังไม่ลดลง สามารถเกิดได้กับทุกคนทุกวัย และเกิดขึ้นได้ในหลากหลายอวัยวะ

 


          เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รมว.สาธารณสุข ได้กล่าวใน “วันวัณโรคสากล” ที่ตรงกับวันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี ถึงสถานการณ์วัณโรคในไทยว่า แม้ว่าประเทศไทยมีอัตราความสำเร็จการรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่มากกว่าร้อยละ 85 สามารถลดอัตราอุบัติการณ์ของผู้ป่วยวัณโรคจาก 172 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2559 ลดลงเหลือ 156 ต่อแสนประชากร ในปี 2560 แต่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ประมาณการว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 108,000 รายต่อปี และเสียชีวิตกว่า 12,000 รายต่อปี ที่สำคัญวัณโรคดื้อยาหลายขนานส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการรักษา 1.2 แสนบาทต่อราย และถ้าเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงค่ารักษาจะสูงถึง 1.2 ล้านบาทต่อราย ทั้งนี้การคัดกรองวัณโรคใน 7 กลุ่มเสี่ยง ในปี 2560-2561 ประมาณ 5 ล้านคน พบเป็นวัณโรค 22,784 ราย

 


          จากรายงานของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อราวเดือนมีนาคม-เมษายน ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้นในระยะหลังอย่างน่าเป็นห่วงทั้งที่เคยลดต่ำไปอย่างมากเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ โดยภาพรวมปัญหาใหญ่เกี่ยวกับการควบคุมโรค คือ 1.มีงบประมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับการควบคุมโรคอื่น 2.ถูกตัดลดงบประมาณวัคซีนจากองค์การระหว่างประเทศเนื่องจากไทยไม่ได้เป็นประเทศกำลังพัฒนาระดับกลางล่างแล้ว 3.การควบคุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถติดตามควบคุมแรงงานต่างด้าวที่เป็นวัณโรคระยะแฝงได้ และ 4.ขาดกฎหมายควบคุมโรคที่เป็นอันตรายต่อสาธารณะทำให้ไม่มีการบังคับควบคุมกักตัวส่งกลับออกนอกประเทศ และที่น่าตระหนกยังพบบุคลากรสาธารณสุขตามโรงพยาบาลตรวจพบเชื้อด้วย


          คนไทยส่วนใหญ่รู้ถึงอันตรายของโรคไข้หวัดใหญ่ แต่น้อยคนจะรู้ว่า คนไทยป่วยเป็นวัณโรครายใหม่ปีละจำนวนมาก และยังมีกลุ่มเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานรวมทั้งกลุ่มเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรง ซึ่งแต่ละปีต้องใช้งบประมาณในการรักษาผู้ป่วยกว่า 1.5 พันล้านบาท ดังนั้นเป็นหน้าที่ภาครัฐต้องจัดให้มีการเข้าถึงการวินิจฉัยที่รวดเร็วด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการตรวจหาวัณโรคดื้อยาและเปิดกว้างนำยารักษาขนานใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ อีกทั้งต้องสนับสนุนงบประมาณทั้งการรักษาและการควบคุมป้องกัน แต่หากภาครัฐและหน่วยงานเกี่ยวข้องยังดำเนินการเช่นปัจจุบันจะส่งผลต่อสถานการณ์วัณโรคในประเทศที่จะเพิ่มความรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันการลดอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรคไทยให้เหลือ 10 ต่อแสนประชากร ในปี 2578 ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก