กระรอกน้อยลุยตลาดน้ำ ไวรัลป่วนโลก
ข่าวจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก 6-7 ก.ค.2562
****************
“ชิพกับเดลมีสองพี่น้อง ขายของในคลอง ในกอง...เรามีแต่ถั่วดีๆ เพิ่งเด็ดสดๆ มากินให้หมด”
ยอมรับมาว่าเนื้อเพลงท่อนนี้ยังทุ้มอยู่ในหัว กับเพลงล่องเรือขายถั่วของเจ้ากระรอกน้อยสองพี่น้องสุดแสบ “ชิพกับเดล” สองคาแรกเตอร์ดังของค่าย “วอลท์ ดิสนีย์” ในการ์ตูน Mickey Mouse ที่ทำออกมาหลากหลายตอน
แต่ตอนที่พวกเขามาทำความหลอนหูให้คนไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือตอนที่มีชื่อว่า “Our Floating Dreams” ซึ่งปรากฏฉากหลังเป็นตลาดน้ำของไทยเราเอง เท่ไม่หยอก !!
น่าจะยังมีอีกหลายคนที่ยังก่งก๊งว่า แล้วเจ้าชิพกับเดลนี่มันไปไงมาไง แล้วทำไมคนไทยถึงอะไรกับเจ้าการ์ตูนนี้นักหนา
คำตอบแรกพอมีที่มาที่ไป แต่คำตอบหลัง บอกได้เพียงว่าในวันที่โลกแคบเท่าฝ่ามือแบบนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไร้คุณค่า เพราะมันคือสีสันของมนุษย์ยุคนี้
ตลาดน้ำในฝัน
เล่าพอสังเขป เกี่ยวกับมิกกี้เม้าส์ตอน “Our Floating Dreams” หรือ “ตลาดน้ำในฝันของพวกเรา” อันสะเทือนโลกโซเชียลไทยตอนนี้
ตอนนี้ปล่อยออกมาทางยูทูบเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีลักษณะของการ์ตูนสั้น ที่เรียกว่า “Disney Shorts” โดยใช้ตัวละคร มิกกี้และมินนี่ เดินเรื่องหลัก
มาเรื่องนี้ มิกกี้รับบทเป็นพ่อค้าขายสับปะรด ส่วนมินนี่เป็นแม่ค้าขายข้าวผัด ทั้งคู่แย่งที่จอดเรือกันในช่องจอดเบอร์ 999 ของตลาดน้ำที่แออัดไปด้วยพ่อค้าแม่ขายและเรือขายของ
แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยดี เมื่อมิกกี้และมินนี่ร่วมมือกันทำ “ข้าวผัดสับปะรด” ขายด้วยกันอย่างชื่นมื่น
สิ่งที่ถูกใจคนไทยที่สุด ก็คือฉากที่แทรกเข้ามาเพียง 13 วินาที ของ “ชิพ-เดล” ที่พายเรือขายถั่วพร้อมกับร้องเพลงชักชวนคนมาซื้อ จากนั้นก็ทำตัวเป็นตาอยู่มาแทรกจอดได้สำเร็จ และขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ระหว่างที่ตัวละครเอกกำลังฟาดฟันกันอยู่
ไม่รู้ทำไมเพียงแค่ไม่กี่วินาที มันกลับสร้างไวรัลให้คนไทยได้ข้ามวันข้ามคืนไม่จบ
กระรอกน้อยป่วนหัวใจ
ด้วยความฮิตและฮา ปรากฏว่าคนไทยพากันส่งต่อคลิปนี้จนกลายเป็นไวรัล แล้วไม่เพียงแค่มันทำให้เราไม่สามารถสลัดออกจากหูไปได้ จนเผลอฮัมตามไปซะอย่างนั้น
แต่มันยังส่งต่อให้นักสร้างสรรค์แขนงต่างๆ ผลิตผลงานเพิ่มขึ้นมาอีก เช่น นักทำเพลงก็นำไปดัดแปลงทั้งแรพ อาร์แอนด์บี ยูทูบเบอร์ นำไปร้องคัฟเวอร์ต่อในหลายเวอร์ชั่น หรือนักทำมีมขำ ฮาๆ ก็พากันผลิตมีมออกมาอีกเพียบ
ที่เด็ดเช่น ค่ายติวก็ออกมาทำเนียน ให้ลูกเพจทำโจทย์ชิพกับเดล, กองปราบปรามก็นำมาประชาสัมพันธ์เรื่อง พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ บอกว่า ชิพกะเดลขายของในคลองได้ แต่จะขายเกินราคาไม่ได้ !
หนักๆ เข้าเมื่อคนไทยเริ่มบ่นว่าช่วงนี้หูมันหลอนๆ ไปด้วยเสียงเพลงท่อนนี้ของเจ้าพี่น้องหางฟู กรมสุขภาพจิตเลยออกมาแนะนำ 5 วิธี หยุดเพลงดังวนในหัว หรือที่เรียกว่า “เพลงติดหู” หรือ “earworm” วิธีการง่ายๆ เช่น ให้ไปเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือไปฟังเพลงอื่นซะ ฯลฯ
พออ่านความเห็นทางโซเชียลยิ่งขำกว่า เช่น “รักแอดมินกองปราบ แต่จะรักกว่านี้ ถ้าผู้กองช่วยจับชิพกับเดลไปที่อื่น” หรือ “เพลงที่ดังในหูตอนนี้ตลอดเวลาคือท่อน “เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน” มากกว่า” (ฮา)
แต่จะว่ากันจริงๆ ทั้งหมดนี้ ถ้าจะตีความว่ามันเกิดขึ้นเพราะพวกเราตกหลุมรักเจ้าสองกระรอกสุดกวนคู่นี้มากกว่าก็คงได้
กำเนิดสองฟู
สองกระรอกไม่ได้เพิ่งมาทำให้เรารักหัวปักหัวปำเอาตอนนี้ ที่จริงแต่ก่อนทีวีไทยช่องหนึ่งมักนำการ์ตูนดิสนีย์มาฉายคั่นเวลาบ่อยๆ กับเรื่องราวของสองฟูที่วันๆ เอาแต่ตามเก็บลูกโอ๊กของโปรด (ในวิดีโอเป็นลูกโอ๊ก แต่ในเพลงเป็นถั่วเพื่อความเข้าใจของคนไทย)
ชิพกับเดล คือกระรอกสายพันธุ์เล็ก “ชิพมังก์” โดยชิพมีจมูกสีดำคล้ายช็อกโกแลตชิพ มีฟันบนที่ยื่นออกมาสองซี่่ตรงกลาง ซึ่งในวิดีโอคือตัวที่สวมหมวกพายเรือ ส่วนเดลมีจมูกสีแดง มีฟันบนสองซี่ที่ยื่นออกมาอยู่ห่างกัน ก็คือตัวที่นั่งอยู่บนกองถั่วในเรือ
สองตัวนี้ออกแบบโดย บิล จัสติส นักวาดคนสำคัญของสตูดิโอ วอลท์ ดิสนีย์ โปรดักชัน ปรากฏตัวครั้งแรกในการ์ตูน Private Pluto ในปี 2486 โดยยังไม่มีชื่อ
แต่ความน่ารักของมัน ที่โผล่มาแจมเมื่อไรก็ขโมยซีนคนอื่นไปหมดสิ้น ไม่ว่าจะ โดนัลด์ ดั๊ก, มิกกี้, มินนี่, กูฟฟี่, พลูโต ฯลฯ เลยทำให้ในปี 2490 มันก็ได้มีชื่อเป็นของตนเอง โดยล้อมาจากชื่อของ “โทมัส ชิพเพนเดล” ที่เป็นช่างทำตู้และนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังในศตวรรษที่ 18
และยังเคยได้มีซีรีส์ของตัวเองในชื่อ Chip 'n Dale Rescue Rangers ที่ได้รับอิทธิพลจาก อินเดียนา โจนส์ ที่เป็นเรื่องราวของชิพกับเดล่ในแดนคาวบอยสุดเท่ แถมยังโลดแล่นในโลกของการ์ตูนมาจนทุกวันนี้
ไทยกับเทศ
เรื่องมีม เรื่องมุก บางคนบอกไร้สาระ เลยมีผู้รู้ออกมาวิเคราะห์ “Our Floating Dreams” ตอนนี้กันขนานใหญ่
อย่างเรื่องการผสานวัฒนธรรม ที่ดิสนีย์หยิบเอามาเล่นในการ์ตูนมากมาย อย่างของไทย ถ้าจะนับไกลกว่านี้ก็ราว 64 ปีก่อน ดิสนีย์เคยส่งความเป็นไทยครั้งแรกแก่สายตาชาวโลก ผ่านคาแรกเตอร์แมววิเชียรมาศ 2 ตัว ใน “Lady and the Tramp” หรือ “ทรามวัยกับไอ้ตูบ” ที่เข้าฉายเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2498
จากนั้นเร็วๆ นี้ วันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวของ “แอน บุญช่วย” จากการ์ตูนสั้น “Amphibia” ที่แปลว่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เพราะแอนพลัดหลงเข้าไปอยู่ในโลกของกบ เธอจึงเปิดร้านอาหารไทยเพื่อผูกมิตรชาวกบ ซึ่งในเรื่องจะมีอาหารและสิ่งต่างๆ ที่เป็นของไทยๆ มากมาย งานนี้เป็นฝีมือสร้างสรรค์ของหนุ่มลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ที่ใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา
ดิสนีย์ต้องการอะไร พูดแบบโลกสวยคือเพื่อให้ผู้ชมได้ตระหนักว่าโลกนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ชาวอเมริกันผิวขาว ตัวอย่างล่าสุดผู้รับบทเงือกน้อย “แอเรียล” ยังเป็นสาวน้อยผิวสี “ฮัลเล เบลลีย์” ที่ฉีกจากจินตนาการเดิมไปทั้งปวง
ส่วนในมุมที่มีคนมองว่าเป็นการครอบงำทางวัฒนธรรมผ่าน “soft power” ที่หมายถึงเรื่องบันเทิง บอกตรงๆ วันนี้เราทำได้แค่ “รู้เท่าทัน” แต่คงปิดกั้นไม่ได้ ตั้งแต่โลกนี้มีอินเทอร์เน็ตแล้ว
คำถามคือเราจะผลิตอะไรออกมาสู้ดีกว่า...ที่น่าคิด
และนี่คือคลิปต้นเรื่อง
////////////////////
ขอบคุณภาพจากเฟซบุค กองปราบปราม
กรมสุขภาพจิต