"ตี ต่อย ตบ"..ไม่ได้จบที่จ่ายค่าปรับเสมอไป
คอลัมน์... สายตรวจระวังภัย โดย... ทีมข่าวอาชญากรรม
เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนลากมาจนถึงช่วงสิ้นเดือน มีข่าวความรุนแรงที่ทุกสื่อนำมาเผยแพร่ และผู้คนในสังคมต่างให้ความสนใจ เพราะถ้าดูจากภาพเหตุการณ์ดูเหมือนกับผู้ก่อเหตุไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ไม่ยำเกรงอำนาจรัฐ เนื่องจากยกพวกเข้าต่อยตีทำร้ายกัน เริ่มจากเหตุวินรถจักรยานยนต์รับจ้างยกพวก “ตะลุมบอน” ย่านอุดมสุข และเหตุการณ์คนร้ายชายฉกรรจ์ 4 คม รุมทำร้าย “จ่านิว” นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง ที่ย่านพระยาสุเรนทร์
นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีการทำร้ายร่างกายของคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นการวิวาทบนท้องถนนเวลาขับรถเบียดปาดหน้ากัน หรือพฤติการณ์ต่างๆ นานา รวมถึงเมาสุราทะเลาะวิวาทกัน ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว โดยมีหลายคดีเกี่ยวกับการทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายจบด้วยการยอมความ จ่ายค่าสินไหม และเสียค่าปรับ
ทว่า “การทำร้ายร่างกาย” ไม่ได้จบที่จ่ายค่าปรับเสมอไป แต่ยังมีโทษถึงขั้นติดคุกเนื่องจากเป็นคดีอาญาที่ยอมความกันไม่ได้ ซึ่งต้องพิจารณาดูว่าการทำร้ายร่างกายนั้นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายถึงขั้นไหน โทษเท่าไร?
อาทิ 1.หากตบตีธรรมดาโดยเป็นแผลรอยถลอก ขีดข่วน รอยช้ำบวม แดง “ไม่เป็นเหตุให้เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ก็อาจเป็นความผิดลหุโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (โทษจากเดิมคือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ปัจจุบันได้แก้ไขใหม่ โดยเพิ่มโทษปรับเป็นไม่เกิน 1 หมื่นบาท) 2.หากตบตีถึงขั้นเลือดตกยางออก แผลแตก ถือเป็นการทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยเจตนาจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ กรณีนี้จะเป็นการทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3.หากได้รับอันตรายถึงสาหัส ต้องใส่เฝือก แขน ขาหัก และนอนโรงพยาบาลกว่า 20 วัน จะเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 โดยจะมีโทษสูงกว่าบาดเจ็บธรรมดา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท
ขณะเดียวกันทนายความอย่าง นายรัชพล ศิริสาคร เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีทำร้ายร่างกายไว้ก่อนหน้านี้ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “สายตรงกฎหมาย” ว่า เวลาเกิดคดีพวกทำร้ายร่างกายที่ไม่เป็นอันตรายสาหัส หรือพวกคดีที่มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 1 เดืิอน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ตำรวจมักจะปรับคู่กรณี ซึ่งบางครั้งเราอาจจะคิดว่าปรับน้อยไป โดยจริงๆ แล้ว ถ้าเราเห็นว่าตำรวจปรับน้อยไปสามารถโต้แย้งได้ โดยแจ้งตำรวจว่าเราไม่ยินยอม เพราะตำรวจปรับน้อยไป เมื่อเราแจ้งไปแล้วตำรวจจะต้องกำหนดค่าปรับใหม่จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะยินยอม และเมื่อผู้ต้องหาจ่ายเงินแล้ว คดีก็จะถือว่าเสร็จเด็ดขาด ส่วนกรณีที่ตกลงค่าปรับไม่ได้จริงๆ ตำรวจจะต้องส่งฟ้องศาล เพื่อให้ศาลกำหนดค่าปรับต่อไป
การใช้อารมณ์และความรุนแรงตัดสินปัญหาไม่ใช่ทางออกที่ดี ฉะนั้นควรมีสติในการใช้ชีวิต เพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาดเพียงชั่ววูบอาจส่งผลกระทบที่เลวร้ายทั้งครอบครัว..!!