คอลัมนิสต์

"ธง แจ่มศรี"ผู้ไม่ยอมเปลี่ยน "สี" ธง

"ธง แจ่มศรี"ผู้ไม่ยอมเปลี่ยน "สี" ธง

11 ก.ค. 2562

"ธง แจ่มศรี"ผู้ไม่ยอมเปลี่ยน "สี" ธง รายงาน...

 

 

          เช้าวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ชมรมมิตรสัมพันธ์ แจ้งข่าวเศร้า “ลุงธง” เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) คนสุดท้าย ได้จากมิตรสหายไปแล้ว เมื่อเวลา 00.30 น. หลังจากมีอาการประสาทหูเสื่อมถอยไม่ได้ยินเสียง ร่างกายจึงพลอยเสื่อมถอย เพราะไม่ได้ขยับมือและร่างกายโต้ตอบกับมิตรสหาย

 

 

          "ป้าน้ำ” ภรรยาลุงธง และญาติมิตรได้นำศพลุงธงมาตั้งบำเพ็ญกุศลสวดอภิธรรม ที่วัดพระประโทนเจดีย์วรวิหาร อ.เมือง จ.นครปฐม


          ลุงธงจากไปในวัย 98 ปี ทิ้งอุดมการณ์และภารกิจเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไว้ให้มิตรสหายรุ่นหลัง ตั้งแต่วัยหนุ่มจนวันสุดท้ายแห่งชีวิต ลุงธงไม่เคยคิดคดทรยศต่อ “อุดมการณ์คอมมิวนิสต์” แม้แต่วินาทีเดียว 

 

 

 

\"ธง แจ่มศรี\"ผู้ไม่ยอมเปลี่ยน \"สี\" ธง

 

++

 

          นักสู้อินโดจีน
          “ธง แจ่มศรี” เป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนาม เกิดวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2464 ที่บ้านดง หมู่ 8 ต.ป่ามะคาบ อ.เมือง จ.พิจิตร บิดาชื่อ หวอตุ่ง มารดาชื่อ ดังกวิ่งแอ็ง สมาชิกขบวนการเอกราชเวียดนาม ที่เดินทางมาเคลื่อนไหวกู้ชาติ โดยใช้บ้านดงเป็นที่พักพิง ซึ่ง “ลุงโฮ” ได้แวะมาอาศัยอยู่ที่บ้านดงระยะหนึ่ง


          ช่วงวัยเรียน ธงเข้ารับการศึกษาภาษาไทย และภาษาเวียดนามที่โรงเรียนหนองบัว จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนของสมาคมรักชาติชาวเวียดนาม ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จ.อุดรธานี ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 

 

 

 

\"ธง แจ่มศรี\"ผู้ไม่ยอมเปลี่ยน \"สี\" ธง

 


          วิถีของลูกชายนักสู้เวียดนาม ก็เคลื่อนมาที่บางกอก เข้ารับการศึกษาภาษาจีนขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนหัวเฉียว ซึ่งเป็นโรงเรียนในจัดตั้งของคณะกรรมการคอมมิวนิสต์จีน ธงถูกจับกุมในคดีคอมมิวนิสต์ในปี 2479 และเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สยามในปี 2481


          เมื่อบิดามารดากลับไปต่อสู้กู้ชาติที่บ้านเกิดเมืองนอน ธงเข้ามาเรียนหนังสือกับหน่วยพรรคและครูชาวจีนที่เป็นผู้สอน จึงตัดสินใจเข้าร่วม พคท.ก่อการปฏิวัติไทย

 



          เดือนมีนาคม 2485 ธงเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใต้ดินภาษาไทยฉบับแรกของพรรคชื่อ “มหาชน” ก่อนจะมีการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ธงได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางชุดที่ 1 และได้รับมอบหมายจากพรรค ให้ดูแลงานกรรมกรในโรงงานยาสูบสะพานเหลือง


          ช่วงที่ พคท.ยังไม่ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ธงบุกเบิกงานชาวนาภาคอีสาน และเดินทางไปเขตจรยุทธ์ประเทศลาว ในช่วงปี 2492–2494

 

 

 

\"ธง แจ่มศรี\"ผู้ไม่ยอมเปลี่ยน \"สี\" ธง

 


          หลังการประชุมสมัชชาพรรค ครั้งที่ 2 ในปี 2495 ธงได้รับเลือกเป็นหนึ่งในกรมการเมือง เดินทางไปศึกษาที่สถาบันลัทธิมาร์กซ–เลนิน สาขากรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน


          กลับจากปักกิ่ง ธงยังเคลื่อนไหวงานด้านกรรมกร และทำหนังสือพิมพ์มหาชน ในปี 2504 ธงได้สมรสกับกรรมกรหญิงโรงงานทอผ้ากรุงเทพฯ

 

++

 


          สู่ดงพระเจ้า
          ปี 2504 มีการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 3 ธงยังได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางและกรมการเมือง ระหว่างนั้น ประเทศไทยตกอยู่ในอำนาจการปกครองแบบเผด็จการ และสหรัฐอเมริกา เริ่มเข้ามาสร้างฐานทัพในไทย พคท.จึงวางยุทธศาสตร์ “สู่ชนบท” และเตรียมการต่อสู้ด้วยอาวุธ


          พคท.ประเมินสถานการณ์ภายหลัง จอมพล ส.ธนะรัชต์ สั่งประหารชีวิตครูครอง จันดาวงศ์ เกรงประชาชนจะสิ้นขวัญกำลัง จึงมีมติส่ง “สหายระดับนำ” ธง แจ่มศรี เข้าไปที่ดงพระเจ้า โดยปักหลักอยู่ที่บ้านเหล่าใหญ่ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร


          ช่วงการเดินทางจากกรุงเทพฯ-ดงพระเจ้า ธงถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์ แต่การประชุมคณะกรรมการกลางชุดที่ 3 ครั้งที่ 3 ที่ปักกิ่ง ในปี 2515 ธงยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในกรมการเมืองประจำ โดยที่เจ้าตัวยังอยู่ในคุก จนถึงปลายปี 2516 จึงได้รับการปล่อยตัว และหวนกลับเข้าป่าอีกในช่วงต้นปี 2517 

 

++

 

 

\"ธง แจ่มศรี\"ผู้ไม่ยอมเปลี่ยน \"สี\" ธง

 

 

          กลางวิกฤติ พคท.
          ช่วงปี 2521-2523 เป็นช่วงวิกฤติภายใน “พรรคพี่น้อง” เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามส่งกำลังทหารเข้ายึดกรุงพนมเปญ และพรรคคอมมิวนิสต์จีน เปิดสงครามสั่งสอนกับเวียดนาม 


          พคท.ได้รับผลกระทบ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน เสนอให้สถานีวิทยุกระจายเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ที่เมืองคุนหมิง งดการโจมตีรัฐบาลเกรียงศักดิ์ เพราะจีนต้องพึ่งรัฐบาลไทยส่งอาวุธไปช่วยเขมรแดงรบเวียดนาม


          ธงและสหายนำบางส่วนเห็นว่า หากจะให้ลดการโจมตีรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ก็ปิดสถานีไปเลยดีกว่า จึงนำมาซึ่งการปิดสถานีวิทยุที่คุนหมิง


          อีกกรณีหนึ่ง “สหพันธรัฐอินโดจีน” ธงไม่เห็นด้วยในข้อเสนอเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ที่พรรคเวียดนามจะเข้ามาช่วยปลดปล่อยภาคอีสานของไทย ในปี 2520 


          เนื่องจากการนำกองกำลังติดอาวุธพรรคเวียดนามเข้ามาช่วยปลดปล่อยประเทศไทยนั้น หากประชาชนไม่ยอมรับพรรคเวียดนามก็จะกลายเป็นผู้รุกราน พคท.ก็จะกลายเป็นผู้สนับสนุนทหารต่างชาติให้เข้ามารุกรานประเทศตัวเอง

 

 

\"ธง แจ่มศรี\"ผู้ไม่ยอมเปลี่ยน \"สี\" ธง

 


          ปี 2525 ก่อนการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 4 เจริญ วรรณงาม หรือ “สหายมิตร สมานันท์” เลขาธิการ พคท. เสียชีิวิต ในปีเดียวกันนั้น ได้ย้ายศูนย์การนำจากน่าน ไปที่สุราษฎร์ธานี เพื่อเปิดประชุมสมัชชาพรรคและธงได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ พคท. มีนามจัดตั้งว่า “สหายประชา ธัญญไพบูลย์”


          ช่วงปลายปีเดียวกัน ธงย้ายมาประจำอยู่ที่เขตงานภาคตะวันตก-ภาคใต้ เนื่องจากที่มั่นทางการทหารในภาคใต้ถูกล้อมปราบอย่างหนัก 

 

++

 

          ผู้ไม่ยอมจำนน
          ระหว่างปี 2526-2533 คณะผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ชุดสมัชชา 4 ถูกจับกุมเกือบหมดในปี 2527 แต่องค์การนำบางส่วนได้ไปยอมรับมาตรา 17 สัตตะ บางส่วนก็ไปอยู่ต่างประเทศกว่า 10 ปี


          ธงไม่ได้มอบตัว แต่ใช้ชีวิตอยู่แถวป่าตะนาวศรี จนถึงปี 2536 จึงมาใช้ชีวิตเงียบๆ ที่นครปฐม กระทั่ง พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ ถูกยกเลิกในปี 2542 ธงจึงเริิ่มพบปะผู้คนมากขึ้น และเปิดใจให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกผ่านทีมงานนิตยสารสารคดี


          ปี 2551 ธงได้ออกคำแถลงในนามส่วนตัว เนื่องในวันก่อตั้งพรรคครบรอบ 66 ปี ว่าองค์การนำของพรรคชุดสมัชชา 4 สิ้นสภาพไปแล้ว เมื่อไม่ได้ชี้นำการเมืองใดๆ เป็นเวลานาน ในที่สุดองค์การนำก็สิ้นสภาพ ไม่สามารถนำการปฏิวัติต่อไปได้

 

 

 

\"ธง แจ่มศรี\"ผู้ไม่ยอมเปลี่ยน \"สี\" ธง

ลุงธง สมัยติดคุกลาดยาว

 


          ปี 2553 ธงได้ลาออกจากเลขาธิการพรรค คณะกรรมการกลาง พคท.ที่เหลืออยู่ ได้มีการเลือกสหายวิชัย ชูธรรม เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มสหายนำที่ยังศรัทธาเลขาธิการคนเดิม


          ด้วยเหตุนี้ มิตรสหายจึงขนานนามให้ ธง แจ่มศรี เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคนสุดท้าย เพราะเป็นสหายผู้ยึดมั่นอุดมการณ์ลัทธิมาร์ซ-เลนิน และไม่เคยคิดจะเปลี่ยนสีธงเหมือนสหายนำกลุ่มอื่น