เตือน "ลอตโต้"!ผู้สูงวัย "เหงา" เล่นพนันหนี้1.5พันล้าน
เตือน "ลอตโต้"!ผู้สูงวัย "เหงา" เล่นพนันหนี้1.5พันล้าน โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ
ช่วงนี้ผู้บริหารกองสลากฯ คึกคักเตรียมออกพนันรูปแบบใหม่ ทั้งหวยออนไลน์ ลอตโต้ สลากขูด น้ำเต้าปูปลา ฯลฯ จนหลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วงพฤติกรรมติดพนันของคนไทยจะมากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เล่นพนันมากขึ้นกว่า 4 ล้านคน เป็นหนี้สินไม่ต่ำกว่าคนละหมื่นกว่าบาท ยอดหนี้รวมทะลุ 1.5 พันล้านทั่วไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน!
รัฐบาลที่ผ่านมาทุกยุคสมัยพยายามผลักดันวิธีลัดหาเงินง่ายสุดคือเงินจากพนัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเปิดบ่อนกาสิโน ขายหวยออนไลน์ บ่อนไก่ชน สลากลอตโต้ ฯลฯ โดยเฉพาะการขาย “สลากลอตโต้” ที่สามารถสะสมยอดเงินรางวัลแบบสมทบไปเรื่อยๆ จนคนชนะแจ็กพอตอาจได้สูงถึงหลักพันล้านหมื่นล้านบาทแบบฝรั่งนั้น เป็นเสมือนความฝันของรัฐบาลทุกยุค แต่สุดท้ายมาติดขัดที่กฎหมายซึ่งใช้ตั้งแต่ปี 2517 ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า สลากกินแบ่งต้องเป็น “ลักษณะการพิมพ์ขาย” เท่านั้น และไม่สามารถเอาเงินรางวัลไปสมทบกับยอดเดือนถัดไป ทำให้เลียนแบบสลากลอตโต้ของฝรั่งไม่ได้
ในที่สุดรัฐบาล คสช. ปลดล็อก ประกาศใช้กฎหมายใหม่ชื่อ "พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562" ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้ออกสลากรูปแบบอื่นได้และเงินรางวัลสมทบในงวดถัดไปได้ด้วยแต่ไม่เกิน 1 งวด
กฎหมายนี้ทำให้นโยบาย “สลากลอตโต้” ที่ผู้บริหารกองสลากฯ เคยเสนอไอเดียฝันหวานเมื่อหลายปีก่อนใกล้ความจริงเข้ามา เสนอเงินรางวัลแจ็กพอตไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท เพื่อแย่งเงินลูกค้าหวยใต้ดินหลักแสนล้านบาทมาเข้ากระเป๋ารัฐแทน รูปแบบสลากลอตโต้อาจเลียนแบบของญี่ปุ่นหรือไต้หวันที่มีหมายเลข 1-43 ให้ผู้ซื้อเลือกแทงจำนวน 6 หมายเลข หรือที่เรียกว่า “ลอตโต้ 6 บอล”
ล่าสุดวันที่24 มิถุนายน 2562 “พชร อนันตศิลป์” ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังตั้งทีมศึกษาผลิตภัณฑ์การพนันใหม่ๆ ที่มีความเหมาะสมกับเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต เช่น ออกสลาก 2 ตัว 3 ตัว หรือ 4 ตัว 5 ตัว รวมถึง “การออกลอตโต้” ให้คนซื้อเลือกตัวเลขได้เอง และสลากรูปแบบที่ไม่ใช่ตัวเลขอาจเป็นรูปภาพหรือตัวหนังสือแทน แถมเปิดเผยไอเดียว่าจะมีรางวัลแจ็กพอตใหญ่เพื่อแก้ปัญหาสลากเกินราคาและหวยใต้ดิน และจะศึกษาเรื่องความถี่ในการออกรางวัลด้วย เพราะปัจจุบันประเทศไทยออกสลากเดือนละ 2 ครั้ง ติดอันดับประเทศออกสลากถี่น้อยสุดในโลก น่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือนข้างหน้า หวังให้ทันปีงบประมาณ 2563 พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า
"การออกสลากรูปแบบใหม่จะช่วยลดปัญหาหวยใต้ดินปีละ 5 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท ช่วยไม่ให้ประชาชนถูกโกง จากผลการศึกษารอบ 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการเล่นหวยใต้ดินขยายตัวจาก 1 แสนล้านเป็น 5 แสนล้านบาทต่อปี"
ด้าน รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ นักวิจัยปัญหาการพนันในภาคอีสาน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์ “คม ชัด ลึก” ว่ารู้สึกเป็นห่วงที่กองสลากฯ เร่งรีบออกการพนันรูปแบบใหม่ๆ เพราะงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นแล้วว่าเงินที่รัฐบาลหามาได้จากการขายสลากหรือหวยบนดิน หวยออนไลน์ ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลับสร้างปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม และภาวะติดพนันงอมแงม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยรุ่นและผู้สูงวัย
"ปัญหานี้มองได้หลายมิติ เช่น การขายสลากออนไลน์เลขท้าย 2-3ตัว จะทำให้แม่ค้ารายย่อยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเดินขายสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่มีรายได้อีกต่อไป จากที่เคยขายได้เดือนละ 2 ครั้ง ก็ต้องไปหางานอื่นทำ ส่วนอีกมิติหนึ่งคือการออกลอตโต้ หรือสลากพนันออนไลน์ต่างๆ จะกระตุ้นให้คนอยากเล่นพนันมากขึ้น เพราะถ้าเล่นแล้วได้เงินก็อยากเล่นอีก แต่ถ้าเล่นเสียก็ยิ่งเล่นมากขึ้นเพราะหวังเอาคืน นั่นคือผีพนันเริ่มเข้าสิงแล้ว"
นักวิชาการข้างต้นกล่าวถึงกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มเด็กและกลุ่มคนสูงวัย โดยกลุ่มเด็กอาจไม่มีวุฒิภาวะมากพอ เมื่อเข้าสู่โลกออนไลน์แล้วซื้อหวยได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น ก็ยิ่งหลงใหลควบคุมยาก ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุในวันนี้เริ่มมีสมาร์ทโฟน เล่นโปรแกรมไลน์ เล่นเฟซบุ๊ก ส่วนใหญ่มีเวลาว่างและนิยมเล่นหวยใต้ดินอยู่แล้ว ถ้ามีหวยออนไลน์จะยิ่งส่งเสริมให้เล่นพนันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในชนบท หรือแม้แต่ข้าราชการที่เกษียณอายุ มีกลุ่มไลน์แลกเปลี่ยนข้อมูลเลขหวยตลอดเวลา
"ส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่าการออกหวยออนไลน์หรือสลากประเภทอื่นๆ จะช่วยลดปัญหาคนเล่นหวยใต้ดินได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาก็พิสูจน์ไปแล้วว่า การเล่นหวยใต้ดินมีหลายปัจจัยเป็นเรื่องของเครือข่ายเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง การให้สินเชื่อซื้อก่อนจ่ายทีหลัง มีความเชื่อใจและความสัมพันธ์หลายมิติ คงไม่สามารถแย่งลูกค้าหวยใต้ดินมาได้ ส่วนเรื่องการออกสลากให้ถี่ขึ้นมากกว่า 2 เดือนครั้ง ก็ไม่น่าแก้ปัญหา เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านเล่นหวยหุ้น หวยลาว หวยเวียดนาม ที่ออกแทบทุกวัน หวยออนไลน์มาทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้สินมากขึ้น คนสูงอายุปกติไม่มีงานทำก็เอาเงินเก็บหรือเงินที่ได้จากลูกหลานมาเล่นพนันหมด"
นักวิชาการข้างต้นกล่าวแนะนำต่อว่า รัฐบาลควรใช้ความคิดในการหาเงินหรือรายได้เข้ารัฐ ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจรากหญ้า ใช้ทักษะหาเงินด้วยนโยบายใหม่ๆ ที่ยั่งยืน ไม่ควรบ่มเพาะนิสัยติดพนันหรือเปิดทางให้ชาวบ้านเล่นพนันรูปแบบอื่นๆ มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
จากข้อมูลงานวิจัยหัวข้อ “การเล่นพนันในกลุ่มผู้สูงวัย : จุดเริ่มต้น สถานการณ์ และผลกระทบ” ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุผลสำรวจปี 2560 พบตัวเลขนักพนันสูงวัยในไทยกว่า 4 ล้านคน และเกือบ 1.5 แสนคน มีหนี้สินจากการเล่นพนันเฉลี่ยต่อหัว 10,377 บาท รวมแล้วกว่า 1.5 พันล้านบาท
นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนผู้เล่นพนัน 4 ล้านคนนั้นเพิ่มจาก ปี 2558 ที่มี 3.39 ล้านคน เพิ่มถึงร้อยละ 21 ภายในช่วงเวลาเพียง 2 ปี พื้นที่ภาคอีสานมีนักพนันสูงวัยมากสุด 1.63 ล้านคน รองลงมาคือภาคกลาง 7.93 แสนคน ภาคเหนือ 7.09 แสนคน ส่วนภาคใต้และกรุงเทพฯ ปริมณฑล ไม่ต่างกันมาก คือ 4.85 แสนคน และ 4.76 แสนคน ตามลำดับ
การพนันยอดนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล 3.07 ล้านคน และหวยใต้ดิน 2.56 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบ 7 แสนคนยอมรับว่าตนเองติดพนันและได้รับผลกระทบ 3 อันดับแรก คือ เกิดปัญหาความเครียด ร้อยละ 48 ปัญหาขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำ ร้อยละ 41 และปัญหามีปากเสียงทะเลาะกับคนในครอบครัว ร้อยละ 29
ข้อมูลวิจัยข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงวัยมีแนวโน้มตกเป็นเหยื่อของการพนันได้ง่าย เพราะมีเวลาว่าง มีความเหงา และมีเงินเก็บที่สะสมไว้ตั้งแต่วัยทำงาน เมื่อติดพนันส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตเกิดความเครียดจากหนี้สิน กลายเป็นปัญหาครอบครัว และเมื่อสุขภาพเสื่อมโทรมลงก็ยากที่จะฟื้นฟูรักษา สรุปว่า ผู้สูงวัยเป็นกลุ่มเปราะบางต่อปัญหาติดพนัน
แม้ตัวแทนกองสลากฯ พยายามยืนยันว่าก่อนออกพนันรูปแบบใหม่จะทำประชาพิจารณ์และสอบถามความเหมาะสมกับทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่เครือข่ายภาคประชาชนเคลื่อนไหวต่อต้านการพนันไม่ค่อยเชื่อมากนัก
เพราะคำสั่งนี้คงไม่มีใครกล้าแตะเบรก รู้ๆ กันอยู่ว่า “รัฐบาลใหม่” ต้องการ “หาเงินง่ายๆ” มาสั่งซื้อสั่งจ่ายตามนโยบายหาเสียงที่ “สัญญากับชาวบ้าน” ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา!