"4 สิงห์เกษตร" แชร์ขุมทรัพย์..กุมรากหญ้า
ข่าวจากหนังสือพิมพืคมชัดลึก 13-14 ก.ค.62
********************
ร้องกันลั่นประเทศพลันได้ยลโฉมหน้า “4 เสนาบดี” กระทรวงพระพิรุณทรงนาค ปรบมือสิพี่น้อง “เฮียต่อ บ้านใหญ่ปราณบุรี” “เฮียเม้ง โรงสีบ้านไร่” “มนัญญา ดอนหมื่นแสน” และ “ผู้กองมนัส เมืองกว๊าน” ทุกพรรคต่างหวังยึดกุมฐานเสียงรากหญ้า
แต่ไม่ต้องตกใจว่าทำไมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงได้รัฐมนตรีรวมแล้ว “4 คน” เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก อย่างยุคชวน 2 ก่อนสิ้นสุดรัฐบาลเดือนกุมภาพันธ์ 2544 คนไทยเคยมีรมต.เกษตรฯ รวม 4 คนมาก่อน และยังมาจากหลายพรรคเหมือนกัน
สำหรับครั้งนี้ เฉลิมชัย ศรีอ่อน นั่งเจ้ากระทรวง พรรคประชาธิปัตย์, ส่วนรัฐมนตรีช่วยคือ ประภัตร โพธสุธน พรรคชาติไทยพัฒนา, มนัญญา ไทยเศรษฐ์ พรรคภูมิใจไทย และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พรรคพลังประชารัฐ
งานนี้นอกจากเป็นผลดีที่เจ้าหน้าที่กระทรวงไม่ต้องวุ่นวายเรื่องการต้อนรับ จัดเตรียมห้องหับมากนัก (ฮา) เพราะเคยทำมาแล้ว
แต่อีกทางหนึ่งก็มองได้ว่า “ครม.บิ๊กตู่ 2/1” ที่กระทรวงนี้จัดแน่นมา 4 คน แบบนี้ คงไม่มีใครงอนและน้อยใจน้อยหน้ากันอีก
ที่สำคัญแต่ละคนล้วนแข็งแกร่งที่จะช่วยกันดูแลเกษตรกรได้จบทั่วทุกภาคแถมยังผ่านการสวมหมวกคัดสรรของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาอย่างดีทั้งสิ้น
เกษตรมั่งคั่ง
ก่อนจะไปดูหน้าตารัฐมนตรี ถามว่ากระทรวงนี้สำคัญตรงไหน ตอบเลยขึ้นชื่อว่า “เกษตร” ยังไงก็คืออาชีพหลักส่วนใหญ่ของคนในประเทศอยู่แล้ว
ที่สำคัญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหนึ่งในกระทรวงหลักที่รัฐบาลใช้ขับเคลื่อนโครงการ ‘ประชารัฐ’ ในการอุ้มสินค้าเกษตรหลายอย่างไม่ว่าจะข้าว ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา มีการอัดฉีดงบชนิดทุ่มสุดๆ เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ
หากแต่เอาเข้าจริงๆ ในส่วนงบประมาณที่กระทรวงเกษตรฯ ได้รับจัดสรร ตรวจสอบแล้วที่ผ่านมากระทรวงนี้ไม่ได้อยู่ในลำดับต้นๆ ของกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรให้มากที่สุด
ดังนั้นการที่คนไทยรู้สึกว่าใครๆ ต่างไขว่คว้า รีบจองโควตาไว้ตั้งแต่ไก่โห่ที่จะได้คุมกระทรวงนี้ คงไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณเป็นหลัก แต่อาจมองได้ว่าเมื่อเมืองไทยน้ำท่วม น้ำแล้ง พืชผลราคาตกต่ำ ใครคุมกระทรวงนี้ก็ใช้อำนาจไปดูแลช่วยเหลือชาวบ้านได้มาก แถมยังตุนคะแนนเสียงไว้ล่วงหน้าเผื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้อีก
พูดง่ายๆ ว่าช่วงเดือดร้อน พรรคไหน คนไหน จะเอาหน้ากับชาวบ้านได้ดีเท่าคนที่คุมกระทรวงเกษตรฯ เป็นไม่มี!
สำหรับปีงบประมาณ 2562 กระทรวงเกษตรฯ ได้มา 108,539.324 ล้านบาท คิดเป็น 3.6% ของงบประมาณรายจ่ายรวม งบในจำนวนนี้ได้ถูกกระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ ในกำกับดูแล
ตอนนั้นหน่วยงานสำคัญนอกจาก 1.สำนักงานปลัดกระทรวงฯ ที่จะได้รับงบ 1,756.01 ล้านบาทแล้ว ยังมี 2.กรมการข้าว 3,138.44 ล้านบาท 3.กรมชลประทาน 65,643.27 ล้านบาท 4.กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ 1,354.42 ล้านบาท 5.กรมประมง 4,096.94 ล้านบาท 6.กรมปศุสัตว์ 6,225.69 ล้านบาท
7.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร 2,302.03 ล้านบาท 8.กรมพัฒนาที่ดิน 5,723.70 ล้านบาท 9.กรมวิชาการเกษตร 4,136.47 ล้านบาท 10.กรมส่งเสริมการเกษตร 6,340.56 ล้านบาท 11.กรมส่งเสริมสหกรณ์ 3,101.68 ล้านบาท 12.กรมหม่อนไหม 710.14 ล้านบาท
ที่เหลือยังมีองค์การมหาชนอีก 3 แห่ง รัฐวิสาหกิจอีก 4 แห่ง อยู่ในการกำกับดูแล
มาปี 2563 มีข้อมูลว่ามีการเสนอของบประมาณไว้ในวงเงิน 246,998 ล้านบาท เพิ่มมาอีกกว่าเท่าตัว ก็คงจะเฉลี่ยจัดสรรไปตามสัดส่วนที่เคยเป็นมา
เฉลิมชัยตัวจริง
แน่นอนงานหลักคือเรื่องปากท้องของประชาชนคนไทย รัฐมนตรีที่คุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องมีกึ๋นและพลังมากพอที่จะขับเคลื่อนกลไกของกระทรวงเกษตรฯ นำนโยบายลงสู่ระดับล่างได้ทันทีและทั่วถึง
ถามว่าทำไมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ถึงเป็น “เสี่ยต่อ" เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลาขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ตอบเลยว่าอาจเป็นไปตามการขอโควตาของ “พรรค 53 เสียง” ที่ชัดเจนมาแต่ต้นว่าพรรคเราต้องได้กระทรวงพาณิชย์และเกษตรฯ
เฉลิมชัย ศรีอ่อน
และเมื่อกระทรวงพาณิชย์มีหัวหน้าพรรคอย่าง “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นั่งควบเจ้ากระทรวง พร้อมเก้าอี้รองนายกฯ แล้วทำไมที่กระทรวงเกษตรฯ จะไม่ใช่เก้าอี้ของผู้มากบารมีอย่าง “เสี่ยต่อ”!
ในทางหนึ่ง เฉลิมชัยเคยกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ สามารถทำงานควบคู่กันไปได้ในด้านการตลาดและการผลิต เพื่อช่วยเหลือปากท้องเกษตรกรไทย
แต่ทางหนึ่งวิเคราะห์ว่างานนี้ลุงตู่เล็งไกล ให้เสี่ยต่อดูแลแก้ปัญหาราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน ให้กระเตื้องขึ้นมา หลังจากตกต่ำมาหลายปี แถมยังอาจช่วยสกัดม็อบเกษตรที่จะขึ้นมาจากภาคใต้ได้ด้วย
ข้อมูลเบื้องต้นระบุ เฉลิมชัยในฐานะเจ้ากระทรวงจะดูแล 4 หน่วยงานหลัก คือ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
ทำได้เพื่อพรรค
สำหรับ ประภัตร โพธสุทน หรือ “เฮียเม้ง” เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา ต้องบอกว่าเซอร์ไพรส์เล็กน้อย
ถ้าใครจำได้เขาเคยนั่งเป็นถึงเจ้ากระทรวงเกษตรฯ มาก่อนช่วงปี 2543-2544 ยุค “ชวน 2” (โควตาพรรคชาติไทย) แทนที่ ปองพล อดิเรกสาร ที่ลาออกจากเก้าอี้ไป
ประภัตร โพธสุทน
คนทั่วไปอาจมองว่าการกลับมานั่ง รมช. ในกระทรวงเดิมที่เคยว่าการ อาจไม่สมศักดิ์ศรี แต่ประภัตรน่าจะมีวาระที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือนอกจากการทำงานในสายที่เชี่ยวชาญแล้ว แต่สำหรับคนพรรคชาติไทย เรื่องดูแลพี่น้องเกษตรกรเรียกว่าเป็นงานหลักของพรรคมาตลอด
ดังที่รู้ว่านโยบายเด่นของพรรคนี้คือเรื่องการเกษตร อย่าง “ใช้ตลาดนำเกษตร” ส่งเสริมการปลูกพืชรายได้ดี ลดต้นทุนและจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัย ฯลฯ
ไม่เช่นนั้น “ท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา จะไม่พูดมาแต่ต้นว่าพรรคเราชัดเจนที่กระทรวงทรัพย์ฯ และกระทรวงเกษตรฯ
ดังนั้นเพื่อให้ “อุดมการณ์และสัญญาใจ” กับชาวบ้านไม่เลือนหาย วันนี้ท็อปนอกจากจะได้เก้าอี้กระทรวงทรัพย์ฯ ตามหวัง ส่วนเฮียเม้งก็ได้เข้าไปนั่งในฐานะรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ
ก็ถือว่าภารกิจด่านแรกสำเร็จแล้วคือจะได้ทำงานเพื่อชาวบ้านเหมือนกัน ไม่มีอะไรให้คาใจอีก
น้องนั่งพี่คุม?
ไม่ใช่ “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” เพราะตกรุ่นไปแล้ว วันนี้หมายถึง “มนัญญา-ชาดา” สองพี่น้องแห่งตระกูลไทยเศรษฐ์ คนใหญ่แห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี
“มนัญญา ไทยเศรษฐ์” หรือ “เบแหม่ม” ได้มานั่งเก้าอี้รมช.อีกคน เป็นดอกไม้งามท่ามกลางหมู่ชายแห่งกระทรวงเกษตรฯ แต่ทุกคนรู้ดีว่าเธอก็คือตัวแทนของ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ส.ส.อุทัยธานี และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
เบแหม่มหรือมนัญญา กับ พี่ชายที่แสนดี
ชาดานั้น นอกจากจะเป็นพี่ชายผู้กว้างขวางและคลุกคลีอยู่กับกลุ่มเกษตรกรอย่างเหนียวหนึบ ด้วยความเป็นประธานสมาคมชาวไร่อ้อยไทยเศรษฐ์ จ.อุทัยธานีแล้ว ยังขึ้นชื่อเรื่อง “ม็อบเกษตร” ผลงานเคยนำม็อบชาวนาเดินทางจะมาลุยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2557
เบแหม่มคนงาม
เดิมทีกระแสข่าวว่า ชาดา อาจได้นั่งช่วยว่าการที่กระทรวงมหาดไทย จากนั้นขยับมาที่เก้าอี้ รมช.เกษตรฯ แต่สุดท้ายไม่ถึงฝันเพราะลุงตู่ไม่ปลื้มจากเรื่องภาพลักษณ์ที่เป็นผู้ทรงอิทธิพล หรือบางคนเรียก “เจ้าพ่อ”
แต่หากถามชาวอุทัยธานี กลับมองว่าชาดานี่แหละคนจริง ใจถึง พลังถึง และพึ่งได้ ดูแลคนทั้งจังหวัด
ที่สุดเพื่อไม่ให้เสียน้ำใจของพรรคภูมิใจไทย การที่ผู้ใหญ่จัดแจงให้ชาดาส่งน้องสาวคนสวยลงไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยที่กระทรวงเกษตรฯ แทน ก็ถือว่าโอเคมากแล้วสำหรับ “พี่ใหญ่อุทัยธานี” คนนี้
แซบสุดธรรมนัส
จะว่าไปการเมืองไทยนาทีนี้ระดับปี้ใหญ่เมืองเหนืออย่างผู้กองมนัส “เหมาะแต๊เหมาะว่า” กับเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งอยู่แล้ว
ไม่ใช่แค่ผลงานที่ผู้กองมนัสทำไว้อย่างดีเลิศ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งภาคเหนือของพรรคพลังประชารัฐ ทะลวงฐานเสียงพรรคสีแดงของนายใหญ่ได้หลายพื้นที่
หรือเพราะผลงานมือประสานสิบทิศที่สามารถสยบคลื่นลมจากการต่อรองเก้าอี้รมต.ของพรรคกลาง-เล็ก-จิ๋ว แบบจบสวย ด้วยความเป็นเจ้าพ่อคอนเนกชั่น ที่เรื่องการเจรจาต่อรองติดมือวางอันดับ 1
หรือแม้เดิมทีผู้กองมนัสจะถูกวางตัวไว้ที่กระทรวงแรงงาน แต่การรับหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ของคนใหญ่เมืองพะเยา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ย่อมมีเหตุผลสำคัญ
อย่าเพิ่งคิดในมุมที่เจ้าตัวแถลงไปวันก่อน ตอนที่เคลียร์ข่าวสีเทาๆ ในอดีตทำนองที่ตีความได้ว่า ตนนั้นเป็นกำลังหลักในการจัดตั้งรัฐบาลและหลายเรื่องที่ได้ประสานงานไว้นั้นเป็นความลับที่รู้เพียงคนเดียว
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
แต่ในทางลึกวิเคราะห์กันว่าการที่ลุงตู่ไว้วางใจให้เป็น รมช.เกษตรฯ ไม่น่าจะแค่ให้ผู้กองมนัสมาดูเรื่องอ้อย ปาลม์ ยาง ข้าว เท่านั้น
คนไทยคงพอรู้ว่ายังมีเรื่องใหญ่อย่างการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ “ไอยูยู” ที่ต้นปีที่ผ่านมาสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศปลดธงเหลืองของไทยเราออก ซึ่งนับเป็นงานโบแดงของรัฐบาลลุงตู่ที่คว้าธงเขียวมาได้
แต่เรื่องนี้ยังไงก็ยังไม่จบครบสมบูรณ์ เพราะทุกอย่างยังเต็มไปด้วยแรงเสียดทานที่ชาวประมงไทยไม่ขานรับด้วยเสียประโยชน์มหาศาล ดังนั้นที่ผ่านมาช่วงหาเสียงพรรคอื่นต่างขายเรื่องรื้อกฎหมายคุมประมงผิดกฎหมายเพื่อเอื้อฐานเสียงประมงไทยทั้งนั้น
ปรากฏว่าก็เป็นพรรคใหญ่ๆ ที่ร่วมรัฐบาลนั่นแหละ งานนี้ลุงตู่คงเกรงว่าถ้าเป็นเช่นนั้น อาจทำให้ไทยกลับมาโดนใบแดงถาวรกันคราวนี้ ที่ทำไว้ก็เรือหายหมด!
ทีนี้ถ้าคนอย่างผู้กองธรรมนัส การันตีผลงานเคลียร์จบครบทุกค่ายมาเป็นที่ประจักษ์แล้ว เรื่องปัญหาประมงทั้งมิติไอยูยู, มิติพรรคร่วม, มิติกลุ่มชาวประมง หรือมิติอื่นๆ ก็น่าจะดูแลจัดการได้ไม่ยาก
วันนี้ผู้คนเม้าท์สิบทิศว่ากระทรวงเกษตรฯ ยุคใหม่เป็น “กระทรวงผู้กว้างขวาง” ก็พูดเกินไป ให้เรียกว่าเป็นกระทรวงเกรดเอของคนระดับ “เอทีม” ก็แล้วกัน
******************///*****************