เพิ่มทักษะ'พีอาร์'ทีมโฆษกตำรวจนครบาล คอลัมน์... โดย...ทีมข่าวอาชญากรรม
การประชาสัมพันธ์ (Public relation) หรือ พีอาร์ (PR) คือ การทำงานในการจัดการการสื่อสารระหว่างองค์กรและสาธารณะ การประชาสัมพันธ์นั้นช่วยทำให้องค์กรหรือบุคคลได้แสดงสู่ผู้ชม ผู้อ่าน โดยใช้เรื่องที่สาธารณะสนใจของสาธารณะ และใช้เป็นการรายงานข่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายโดยตรง ยิ่งแล้วกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร
ทว่ามีบางหน่วยงานราชการของประเทศไทยที่ยังไม่ให้ความสำคัญกับงานประชาสัมพันธ์ หรือยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าการประชาสัมพันธ์คืออะไร บางรายถึงขั้นเข้าใจผิดว่าการประชาสัมพันธ์เป็นเพียงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท่านั้น พอมีหน้าที่ด้านประชาสัมพันธ์ก็จะวางแผนแต่เรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร หรือคอยทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารที่เกี่ยวกับหน่วยงานตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ เพราะแท้ที่จริงแล้วการประชาสัมพันธ์เป็น “การบริหารจัดการภาพลักษณ์และชื่อเสียง" ซึ่งมีทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการทำกิจกรรมอื่น ๆ อาทิ การบริการของเจ้าหน้าที่ การดูแลอาคารสถานที่ การจัดกิจกรรมต่างๆ
เช่นเดียวกับองค์กรตำรวจที่งานประชาสัมพันธ์ถือเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันปราบปราม เพราะนอกจากจะเผยแพร่ผลงานการจับกุมคดีต่างๆ แล้ว ยังต้องมีการให้ข้อมูลแจ้งเตือนภัยประชาชนให้ระมัดระวังเกี่ยวกับมิจฉาชีพรูปแบบต่างๆ ตลอดจนจัดกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำความเข้าใจเพื่อลดการกระทบกระทั่งระหว่างตำรวจกับประชาชน เปลี่ยนจากความหวาดระแวงมาเป็นความร่วมมือ แจ้งเบาะแส แต่งานพีอาร์ของตำรวจก็ต้องพึ่ง “นักข่าว” ซึ่งจะทำให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด เหมือนสุภาษิตที่ว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า”
ด้วยเหตุนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โดย พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. จึงเป็นประธานจัดสัมมนาในหัวข้อ “สื่อมวลชนกับการประชาสัมพันธ์ของบช.น.” ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ตามโครงการอบรมด้านการประชาสัมพันธ์แก่ทีมโฆษก รองโฆษก ผู้ช่วยโฆษก และคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ในสังกัด บช.น. เพื่อเพิ่มความรู้ รวมถึงสร้างความเข้าใจทักษะด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์และประสบการณ์เกี่ยวกับการทำหน้าโฆษก รวมทั้งการเป็นผู้แทนหน่วยงานที่แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยมีผู้แทนคณะทำงานทีมโฆษก บก.น.1-9 บก.สปพ. บก.สส.บช.น. บก.จร. และกก.ดส.บช.น. รวมกว่า 241 คน เข้าร่วม
สำหรับการสัมมนาดังกล่าว มี ดร.อรรจน์ สีหะอำไพ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประชาสัมพันธ์ มาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการเป็นนักประชาสัมพันธ์ เช่น นักประชาสัมพันธ์ที่ดีควรมีทักษะในการเขียน การพูดและเล่าเรื่อง มีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม คุณธรรม มีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ อดทน และมีจิตสาธารณะ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมและสื่อมวลชนจากหลากหลายสาขาทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ เข้าร่วมรับฟัง นอกจากนี้ยังมีตัวแทนผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์ข่าวสด สำนักข่าวเนชั่น และข่าวฮอตนิวส์ ไทยแลนด์ ขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ และถามตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสื่อมวลชนกับตำรวจอีกด้วย
ที่บอกว่านักข่าวกับตำรวจเปรียบเหมือนสุภาษิต “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” ก็เพราะ “นักข่าวอาชีพ” กับ “ตำรวจอาชีพ” มีภารกิจหน้าที่เหมือนกันบางเรื่อง แตกต่างกันบางภารกิจ แต่สุดท้ายต้องปฏิบัติงานเป็นคู่ขนานกันไป ซึ่งสิ่งที่เหมือนกันคือไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือนักข่าวต่างต้องแสวงหาความจริง นักข่าวเสาะแสวงหาข้อมูลข้อ เท็จจริง ทำความจริงให้ปรากฏมานำเสนอประชาชน เฉกเช่นเดียวกันกับตำรวจที่ต้องสืบสวน สอบสวน แสวงหาความจริงจากคู่กรณีที่เกิดคดีขึ้น หาพยานหลักฐานเพื่อนำผู้กระทำความผิดมารับโทษตามกฎหมาย
หากตำรวจมีความรู้ความเข้าใจในทักษะการประชาสัมพันธ์ ก็จะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบบมืออาชีพ เป็นประโยชน์ต่อประชาชน มากกว่าใช้เป็นแค่เครื่องมือให้เจ้านายมาแถลงโชว์ผลงาน..!!