น้ำท่วมปาก "นักการเมือง" สองฝั่งโขง
คอลัมน์... กระดานความคิด โดย... บางนา บางปะกง
ระหว่างวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2562 บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เชิญสื่อมวลชนไทยไปเยี่ยมชมโครงการเขื่อนไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ปราศจากการกักเก็บน้ำ เพราะเป็นเขื่อนน้ำไหลผ่าน และการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจและการผลิตไฟฟ้าสะอาดเพื่อเป็นมาตรฐานในการพัฒนาประเทศแถบลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน
อันที่จริง ทางซีเค พาวเวอร์ หรือ ช.การช่าง เชิญสื่อไทย สื่อลาวไปชมเขื่อนไซยะบุรีหลายรอบแล้ว แต่คิวนี้น่าจะเป็นหมายข่าวเร่งด่วน เพราะเขื่อนไซยะบุรี กำลังตกเป็นจำเลยกรณี “แม่น้ำโขงแห้ง”
บังเอิญปีนี้ มรสุมยังไม่พัดผ่าน แถมเขื่อนของจีนเก็บกักน้ำไว้ เลยส่งผลให้แม่น้ำโขงตอนล่างแห้งขอด องค์กรแม่น้ำนานาชาติ รายงานสถานการณ์ปัญหาความผันผวนของระดับแม่น้ำโขง ที่กำลังเกิดขึ้นที่ภาคเหนือและอีสานของไทย นอกจากภาวะความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นทั้งภูมิภาคโดยรวม และการลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิงหงในยูนนานระหว่างวันที่ 5-17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคอีสานของไทย โดยเฉพาะ จ.เลย จ.หนองคาย คือ เรื่องการทดลองเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องที่ 5 ของเขื่อนไซยะบุรี เป็นเวลา 72 ชั่วโมง
ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติของไทย ได้ทำหนังสือด่วนผ่านคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว และเร่งประสานอย่างไม่เป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ สปป.ลาว ให้พิจารณาชะลอการทดลองใช้งานเขื่อนไซยะบุรี เพื่อรอให้น้ำที่ระบายเพิ่มขึ้น
พลิกแฟ้มข่าวเมื่อต้นเดือนเมษายน 2562 ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานขณะนั้น พร้อมด้วย ท่านคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว ได้ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องที่ 1 นับเป็น 1 ใน 8 ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี
ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ผู้บริหารงานในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี กล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับซื้อไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องที่ 1 ของโครงการ ภายหลังจากที่ กฟผ.อนุมัติการทดสอบระบบการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในช่วง Unit Operation Period หรือ UOP
โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายน้ำล้น ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว มีความยาวข้ามลำน้ำ 820 เมตร กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,285 เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 7,600 ล้านหน่วยต่อปี เริ่มก่อสร้างในปี 2555 โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 7 เครื่อง แต่ละเครื่องมีกำลังการผลิต 175 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าส่งผ่านระบบส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ เพื่อเชื่อมโยงกับระบบสายส่งของ กฟผ. และส่งกลับมายังประเทศไทยทาง อ.ท่าลี่ จ.เลย
ส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 8 มีกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ซึ่งจะผลิตและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้าขนาด 115 กิโลโวลต์ใน สปป.ลาว
ปัจจุบันโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มีความก้าวหน้ากว่า 98% และจะทยอยเปิดเดินเครื่องเพื่อขายไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ผ่านการทดสอบระบบแล้ว ให้แก่ กฟผ. ได้ครบทั้ง 8 เครื่อง ภายในไตรมาส 4 ของปี 2562
กรณีทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องที่ 5 แผนกพลังงาน และบ่อแร่ แขวงไซยะบุรี แจ้งให้ทราบว่า นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2562 เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป โครงการเขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรี จะเริ่มทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องที่ 5 ซึ่งการทดสอบนี้ จะใช้เวลาต่อเนื่อง 72 ชั่วโมง หรือ 3 วันนับจากนี้ไป
เจ้าเมืองปากลาย ได้ออกหนังสือเตือนประชาชนที่อยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำโขง ให้ระมัดระวังการขึ้นลงของน้ำอย่างฉับพลัน เมื่อเขื่อนไซยะบุรี จะทำการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ด้าน กิจพจน์ สระสมทรัพย์ ผู้ประสานงานโครงการเขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรี ได้กล่าวกับ นสพ.เวียงจันทน์ไทม์ ว่า การทดสอบดังกล่าว จะไม่มีผลกระทบต่อบ้านเรือน พืชผักสวนครัว และสัตว์เลี้ยงของประชาชน เพียงแต่แจ้งให้รู้ว่า ระดับน้ำเหนือเขื่อน และใต้เขื่อน จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย
จริงๆ แล้ว ภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงของไทย ได้เคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี มาตั้งแต่เริ่มลงมือสำรวจเตรียมการก่อสร้าง แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งโครงการดังกล่าวได้ เนื่องจากรัฐบาล สปป.ลาว ยืนยันว่า เป็นโครงการพลังงานไฟฟ้าที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแม่น้ำโขง
อนาคตอันใกล้นี้ รัฐบาลลาวจะอนุมัติให้กลุ่มทุนไทย สร้างเขื่อนบนน้ำโขงอีกแห่งที่บริเวณเมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง ประชาชนไทยคงได้เฝ้ามองตาปริบๆ เหมือนเดิม