คอลัมนิสต์

ช่องโหว่สุ่มตรวจ...สจ๊วต-แอร์'นักหิ้วพรีออเดอร์'

ช่องโหว่สุ่มตรวจ...สจ๊วต-แอร์'นักหิ้วพรีออเดอร์'

02 ส.ค. 2562

ช่องโหว่สุ่มตรวจ...สจ๊วต-แอร์'นักหิ้วพรีออเดอร์'

 


          จากกรณีที่ “คม ชัด ลึก” เปิดเผยเรื่องอื้อฉาวที่สจ๊วตการบินไทยลักลอบขนบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมากจากประเทศญี่ปุ่นเข้าไทย แต่เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถยึดได้เพียงของกลาง ส่วนผู้กระทำผิดบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ทราบแล้วว่าเป็นใคร และอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนขยายผล เนื่องจากเชื่อว่าทำในรูปแบบขบวนการ ต้องมีผู้สมรู้ร่วมคิดมากกว่า 1 คน แต่ต้องใช้เวลาเพื่อให้ผู้กระทำผิดยอมจำนนต่อพยานหลักฐาน ซึ่งก็มีความคืบหน้าไปมาก

 

 

          ทว่าหลังจากเผยแพร่ข่าวดังกล่าวแแกไปได้มีคนในสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ว่า บรรดาสจ๊วตและแอร์โฮสเตสบางรายของแต่ละสายการบินรวมถึงผู้โดยสารทั่วไป “รับหิ้ว” ของแบรนด์เนม พรีออเดอร์ ต่างๆ นานา รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ซึ่งทำกันมานานจนกลายเป็นธุรกิจหรือ “อาชีพรับจ้างหิ้ว” ที่ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ โดยบุหรี่ไฟฟ้าไอคอส (IQOS) กว่า 100 ชุด ที่ลักลอบขนมาจากญี่ปุ่นตามที่ปรากฏเป็นข่าว มีการประกาศขายในเว็บไซต์ขายของออนไลน์ราคาชุดละ (ตัวเครื่องกับไส้บุหรี่) 6,000 บาท แสดงให้เห็นว่าทำกำไรจากการนำเข้ามาเป็นเท่าตัว เพราะที่ญี่ปุ่นขายในราคาชุดละประมาณ 3,000 บาท


          สอดคล้องกับเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2562 กฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร ได้เปิดเผยสถิติการตรวจพบการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ในช่วง 7 เดือน ว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ถึงปัจจุบัน พบการกระทำความผิด 18,989 คดี มูลค่า 1,448 ล้านบาท มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทั้งปีจับได้ 23,559 คดี โดยยอดการจับกุมของปีนี้แบ่งตามประเภทฐานคดีลักลอบ 3,778 คดี ความเสียหายมูลค่า 1,023 ล้านบาท และคดีหลีกเลี่ยงอีก 15,211 คดี มูลค่าเสียหาย 425 ล้านบาท แยกเป็นความผิดหลีกเลี่ยงราคาต่ำ 7,760 คดี ความผิดหลีกเลี่ยงตรวจสอบเอกสาร 28 คดี ความผิดหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด 1,293 คดี ความผิดหลีกเลี่ยง สำแดงเท็จ 6,130 คดี

 

ช่องโหว่สุ่มตรวจ...สจ๊วต-แอร์\'นักหิ้วพรีออเดอร์\'

 

 



          จากการตรวจสอบพบการหิ้วสินค้าแบรนด์เนม และพรีออเดอร์ต่างๆ เข้ามาขายในไทยมีมานานแล้ว แถมยังเป็นที่ต้องการของลูกค้าจำนวนมากและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสินค้าที่แอบหิ้วเข้ามานั้นไม่ต้องเสียภาษี จึงมีราคาถูกกว่าที่ขายในช็อปทั่วไป โดยที่ผ่านมาคนที่แอบหิ้วแบรนด์เนมส่วนใหญ่จะเป็นลูกเรือของสายการบินต่างๆ เนื่องจากเดินทางไปต่างประเทศเป็นประจำอยู่แล้ว มีทั้งแบบหิ้วมาขายเองและรับจ้างหิ้วไปส่งให้ร้านขายของแบรนด์เนม แต่ในช่วงหลังที่ตลาดออนไลน์เข้ามามีบทบาท จึงทำให้ธุรกิจหิ้วของแบรนด์เนม และพรีออเดอร์ขยายตัวมากขึ้น เพราะช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันลูกค้ามีโอกาสพบเห็นและสั่งซื้อ-สั่งจองสินค้าได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และ ไลน์ ส่งผลทำให้ผู้ค้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะจ้างสจ๊วตหรือแอร์โฮสเตสหิ้วสินค้าเข้ามา ก็เริ่มขยายวงไปจ้างกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะ “ไกด์” ซึ่งพาคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ หรือจัดกรุ๊ปทัวร์ไปเที่ยว แต่คนในกรุ๊ปส่วนใหญ่ล้วนไปรับจ้างหิ้วของเข้ามา กลายเป็นอาชีพใหม่ที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน โกยเงินเป็นกอบเป็นกำ


          รายงานข่าวยังบอกว่า เส้นทางการหิ้วของแบรนด์เนมและพรีออเดอร์นั้น คนที่หิ้วจะรู้แหล่งสินค้าแต่ละอย่างว่าต้องไปเอาที่ไหน โดยหลักๆ ส่วนมากมักจะเป็น ฮ่องกง สิงคโปร์ ที่เป็นแหล่งเอาท์เล็ตของสินค้าแบรนด์เนม ตามด้วย เกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งสินค้าแบรนด์เนม เช่นเดียวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังนิยมมีขายมากมายในญี่ปุ่นกับเกาหลี บางคนถึงขั้นมีเจ้าประจำ และดิวตี้พรีในสนามบินของแต่ละประเทศก็เป็นอีกแหล่งที่ไปหาของกัน แน่นอนว่าของเหล่านี้เป็นของที่เมื่อนำเข้ามาในประเทศต้องเสียภาษีอากร หรือบางอย่างอาจจะเป็นของต้องห้าม แต่ก็ยังมี “เทคนิค” ไม่ต้องเสียภาษี หรือถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรจับได้ ถ้าหากเอามาน้อยก็ยัดลงกระเป๋า สะพายเข้ามา ซึ่งพวกไกด์ แอร์โฮสเตสหรือสจ๊วตมักจะใช้วิธีนี้ บางครั้งลูกเรือที่รู้จักศุลกากรก็ปล่อยผ่าน

 

 

 

ช่องโหว่สุ่มตรวจ...สจ๊วต-แอร์\'นักหิ้วพรีออเดอร์\'

 


          รายงานข่าวยังระบุว่า เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าว ทำให้รัฐสูญเสียรายได้มหาศาล ศุลกากรจึงเข้มงวดมากขึ้น ทำการสุ่มตรวจถี่ขึ้น การหิ้วจึงทำได้ยากขึ้น ลูกเรือบางคนที่รับหิ้วของมาก็เก็บในเครื่อง แล้วให้แม่บ้านมาขนทีหลังตอนทำความสะอาดเครื่อง ส่วนไกด์ที่รับหิ้วบางครั้งก็ฝากลูกทัวร์ถือเข้ามา ซึ่งบางคนหิ้วกระเป๋ามา 10 กว่าใบโดยอ้าง “บารมีท่านทูต” ส่วนคนที่หิ้วเข้ามาลอตใหญ่จำเป็นต้องรู้จักเจ้าหน้าที่ รู้ช่องทางว่าจะจ่ายใต้โต๊ะตรงไหน ส่วนใหญ่จะโหลดมาในคาร์โก้ แล้วให้คนมีสีไปรับถึงหน้าเกตงวงช้าง แล้วพาออก ไม่ต้องผ่านด่าน ไม่ต้องสแกนกระเป๋า ส่วนอัตราการจ่ายใต้โต๊ะก็แล้วแต่มูลค่าของ


          มาตรการการสุ่มตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะพิธีการศุลกากรที่ปฏิบัติกับบรรดาลูกเรืออาจเป็น “ช่องโหว่” ให้ลูกเรือสายการบินต่างๆ อาศัยตรงนี้เสี่ยงดวงหิ้วของตามออเดอร์ ซึ่งสอดรับกับข้อมูลจากนายตำรวจระดับ รองผู้กำกับการ ยศ พ.ต.ท. ที่เคยปฏิบัติหน้าที่สืบสวนในหน่วยงานตำรวจท่องเที่ยว และคลุกคลีกับคนในแวดวงสายการบิน บอกว่า ลูกเรือและทูตต่างประเทศเมื่อลงจากเครื่องจะผ่านช่อง เอกสิทธิ์ทูตต่างประเทศและลูกเรือ (Foreign Diplomats and Crew) ซึ่งศุลกากรจะทำการสุ่มตรวจสัมภาระ หรือไม่ตรวจเลย เว้นแต่ได้รับแจ้งเบาะแส หรือมีข้อมูลการลักลอบกระทำผิด ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเป็นลูกเรือคนไทยก็มีความไว้ใจปล่อยผ่าน เพราะความสนิทคุ้นหน้า รู้จักกัน หรือบางครั้งอาจจะทำเป็นปิดตาข้างเดียว เพราะเรื่องลูกเรือหรือผู้โดยสารรับหิ้วของไม่ใช่เพิ่งเกิดแต่มีมานานแล้ว อยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐจะจริงจังและเข้มงวดแค่ไหน


          เกี่ยวกับประเด็นนี้สจ๊วตสายการบินดังคนหนึ่ง บอกว่า ส่วนใหญ่ศุลกากรจะตรวจลูกเรือ แต่บางครั้งก็แล้วแต่อารมณ์ แต่ถ้าจะทำจริงๆ มันก็มีวิธี ซึ่งสจ๊วตหรือแอร์ทำเพียงลำพังไม่ได้ ถ้ามีการหิ้วเข้ามาเยอะๆ ยิ่งไม่ใช่ของหนีภาษี แต่เป็นของผิดกฎหมาย ของต้องห้ามบ้านเรา เพราะฉะนั้นจะต้องทำเป็นขบวนการ มีผู้สมรู้ร่วมคิดคอยอำนวยความสะดวกให้เอาเข้ามาแล้วสามารถผ่านไปได้ รายได้จาก “ธุรกิจสีเทา” แบบนี้ บินแค่ไฟลท์เดียวอาจได้รับมากกว่าเงินเดือนทั้งเดือน หากสินค้านั้นเป็นของดีมีราคา ขนมาเยอะๆ และเป็นที่นิยม เป็นที่ต้องการ ไม่เช่นนั้นคงไม่กล้าทำกัน ถามว่าทำเช่นนี้ผิดกฎระเบียบของบริษัทไหม บอกเลยว่าผิดเต็มๆ ถ้าจับได้โทษคือไล่ออกสถานเดียว


          รายงานข่าวยังบอกด้วยว่า สายการบินชั้นนำที่ราคาตั๋วแพงส่วนใหญ่จะได้รับความไว้วางใจ ไม่ค่อยถูกจับตาเพ่งเล็งในการตรวจสัมภาระเข้มเท่าไรนัก แต่สายการบินราคาถูกมักจะถูกจับจ้องเป็นพิเศษ เนื่องจากมีไกด์รับจ้างหิ้ว จัดกรุ๊ปทัวร์รับจ้างหิ้วไปเอาของตามออเดอร์มา เนื่องจากเมื่อเทียบเงินจากขายสินค้าแล้วมีความคุ้มค่ากับการจ่ายค่าจ้างกับค่าตั๋วราคาถูกให้นักหิ้วแบบเนื้อๆ


          ขณะเดียวกันเกี่ยวกับเรื่องการตรวจสัมภาระดังกล่าว ได้มีประกาศกรมศุลกากร ที่ 60/2561 เรื่องการปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน ซึ่งเนื้อหาบางส่วนในประกาศดังกล่าว ระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 51, 53, 157, 161 และ 172 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยข้อ 1 ให้บริษัทสายการบินหรือตัวแทนแจ้งผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทราบก่อนที่อากาศยานจะเดินทางเข้ามาถึง กรณีของต้องเสียอากร หรือของต้องกำกัด (ของที่มีกฎหมายกำหนด หากจะมีการนำเข้ามาในหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักรจะต้องได้รับอนุญาต หรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย) เข้ามาพร้อมกับตน หรือไม่แน่ใจว่าของที่มาพร้อมกับตนเป็นของต้องเสียอากร หรือของต้องกำกัด จะต้องนำของที่ติดตัวดังกล่าวผ่านการตรวจที่ช่อง “แดง” (Goods to Declare) ภาษาไทยว่า “มีของต้องสำแดง” สำหรับผู้โดยสารที่ไม่มีของต้องเสียอากร ของต้องห้าม (ของที่กฎหมายกำหนดห้ามมิให้นำเข้ามาในหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักร) หรือของต้องกำกัดมาพร้อมกับตน ให้ผ่านการตรวจที่ช่อง “เขียว” (Nothing to Declare) ภาษาไทยมีว่า “ไม่มีของต้องสำแดง”​


          การตรวจที่ช่องเขียวนั้น พนักงานศุลกากรจะตรวจสอบหีบห่อสัมภาระของผู้โดยสารที่เข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งนี้พนักงานศุลกากรอาจใช้หลักบริหารความเสี่ยงในการสุ่มตรวจหีบห่อสัมภาระของผู้โดยสารที่เข้ามาในราชอาณาจักร หรือสุ่มตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ เมื่อผู้โดยสารนำสัมภาระผ่านเครื่องเอกซเรย์แล้ว กรณีมีเหตุอันควรสงสัย พนักงานศุลกากรจะเปิดหีบห่อสัมภาระเพื่อตรวจสอบโดยละเอียด หรือตรวจค้นตัวผู้โดยสาร หากตรวจพบของต้องเสียอากร ของต้องห้าม หรือของต้องกำกัดในการนำเข้า ถือเป็นความผิดทางศุลกากร พนักงานศุลกากรจะดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป


          อย่างไรก็ตามในประกาศยังพบ ข้อ 2.3 ระบุว่า กรณีที่สนามบินมีช่องทางออกสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายในห้องผู้โดยสาร ให้ผ่านการตรวจผ่านช่อง “ผู้ติดบัตรอนุญาต" (Authorized Personnel) สำหรับทูตต่างประเทศและลูกเรือ ให้ผ่านการตรวจที่ช่อง “เอกสิทธิทูตต่างประเทศและลูกเรือ (Foreign Diplomats and Crew)” โดยใช้การสุ่มตรวจมาตรฐานเดียวกับช่องเขียว นอกจากนี้ยังมีข้อ 2.4 ที่บอกว่า กรณีที่ผู้โดยสารและลูกเรือที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ทราบว่าของที่ติดตัวมาพร้อมกับตนเป็นของต้องเสียอากร ของต้องห้าม หรือของต้องกำกัดหรือไม่ ให้ผ่านการตรวจที่ช่องแดงเท่านั้น


          ด้าน พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 (รอง ผบก.ตม.2) ในฐานะโฆษก บก.ตม.2 บอกว่า จากการรายงานของสื่อต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับมีผู้ลักลอบหิ้วสินค้าแบรนด์เนม-พรีออเดอร์หลบเลี่ยงภาษี หรือของต้องห้าม หรือของต้องกำกัด ที่มีเพิ่มมากขึ้นนั้น ในส่วนของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็มีหน้าที่ในการสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการเข้า-ออกประเทศของบุคคลต่างๆ ตามที่ศุลกากรประสานมา เพราะ ตม.มีหน้าที่ตรวจคนที่อาจจะมีความเสี่ยงก่ออาชญากรรม กระทบความมั่นคง ใบหน้าบุคคลตรงกันถูกต้อง หรือเป็นบุคคลที่มีหมายจับหรือไม่ ส่วนการตรวจสัมภาระหาสิ่งผิดกฎหมาย ของหลบเสี่ยงภาษี ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารหรือลูกเรือเป็นอำนาจหน้าที่ของศุลกากร แม้จะทำงานร่วมกันอยู่จุดเดียวกันแต่แบ่งหน้าที่ปฏิบัติกันชัดเจน และคอยสนับสนุนข้อมูลบุคคลเมื่อได้รับการร้องขอ


          ท้ายที่สุดอาชีพรับหิ้วพรีออเดอร์ ไม่ว่าจะเป็นลูกเรือหรือผู้โดยสารทั่วไป คงไม่ขยายวงกว้างและเติบโตสร้างความเสียหายให้ภาครัฐไปมากกว่านี้ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคร่งครัดจริงจัง ไม่ปิดตาข้างเดียว..!!