ระเบิดกรุง หนาวสะท้าน การเมืองชายแดนใต้
คอลัมน์ "ท่องยุทธภพ" โดย "ขุนน้ำหมึก" คมชัดลึก 5 ส.ค.62
**************************
เหตุระเบิดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลครั้งล่าสุด มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 2 คนเป็นชาวนราธิวาส จึงทำให้นักวิเคราะห์ข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ปฏิบัติการและแสดงศักยภาพของกลุ่มจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่?
กรณีผู้บัญชาการทหารบกให้สัมภาษณ์ทำนองว่า เหตุระเบิดระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม 2562 เชื่อมโยงกับกลุ่มเดิมๆ ทำให้นักการเมืองพรรคฝ่ายค้านดาหน้าออกมาตอบโต้
“การเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้นั้น...จะบั่นทอนความรู้สึกของพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังสร้างบรรยากาศของความชิงชัง ซึ่งผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองจะสามารถนำไปขยายผลต่อและทำให้เหตุการณ์บานปลายได้”
ข้อความข้างต้นเป็นความห่วงใยของ สุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคที่ชนะเลือกตั้งได้ส.ส.มากที่สุดจากชายแดนใต้
2 ขั้วขัดแย้งไม่เปลี่ยน
นับแต่การเลือกตั้ง 2550 และ 2554 พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ ยังเป็นความขัดแย้งทางความคิดการเมืองเดิม ประชาชนที่ชื่นชอบทักษิณ และต้องการลดบทบาททหาร ก็จะเลือกพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย
ส่วนประชาชนที่ไม่เอาทักษิณและต้องการให้ทหารคงอยู่ในพื้นที่ก็จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ แม้ในการเลือกตั้ง 2554 นักการเมืองกลุ่มวาดะห์บางส่วนจะย้ายมาสังกัดพรรคมาตุภูมิ ชาวบ้านก็ไม่เลือก
สำหรับเลือกตั้ง 2562 พรรคประชาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ ชูคำขวัญเลือกฝ่ายประชาธิปไตย และให้ทหารออกจากพื้นที่ชายแดนใต้
ผลคะแนนเสียงเลือกตั้งของแต่ละพรรค ก็ยังสะท้อนความคิดการเมืองชุดเดิมคือฝ่ายชอบทักษิณและไม่เอาทหาร อย่างประชาชาติได้ 321,747 คะแนน และอนาคตใหม่ 89,023 คะแนน
ฝ่ายไม่เอาทักษิณ พลังประชารัฐได้ 160,444 คะแนน และรวมพลังประชาชาติไทย 100,043 คะแนน อาจรวมถึงประชาธิปัตย์ 143,727 คะแนน (แม้จะชูแคมเปญโค้งสุดท้าย ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ไม่เอาทักษิณ)
พิจารณาจากคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต 2 ขั้ว จะเห็นว่า คะแนนรวมไม่ต่างกันมาก ประมาณฝ่ายละ 4 ล้านคะแนน ย่อมหมายถึงพลังต่อรองในพื้นที่ยังก้ำกึ่งกันอยู่
สถานการณ์การเมืองชายแดนใต้คงจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน ตราบใดที่นักการเมืองยังได้ประโยชน์จากไฟใต้
“วาดะห์” ลอกคราบ
การเลือกตั้งครั้งนี้กลุ่มวาดะห์ที่นำโดย “วันมูหะหมัดนอร์ มะทา” รวบรวมอดีตส.ส.ที่กระจายอยู่สองพรรค คือ เพื่อไทยและมาตุภูมิ ให้มารวมตัวที่พรรคประชาชาติ
วันมูหะหมัดนอร์ มะทา
“วันนอร์” ต้องการสร้างแบรนด์ใหม่ที่ไม่ใช่นอมินีทักษิณ โดยเน้นความเป็นพรรคของ “มลายูมุสลิม” แม้ในการหาเสียงทั่วไปจะบอกว่า พหุวัฒนธรรม แต่การปราศรัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็พูดว่า “เลือกพรรคประชาชาติ ได้ทั้งโลกนี้และโลกหน้า”
คีย์แมนคนสำคัญอย่าง “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ที่มารับบทเลขาธิการพรรค ก็มีผล อย่างยิ่งต่อการได้เก้าอี้ส.ส.เขตในชายแดนใต้ ด้วยการขายฝันเรื่องการพูดคุยสันติสุข
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
ผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขตในจังหวัดชายแดนใต้ ปรากฏว่าประชาชาติ 6 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 3 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 1 ที่นั่ง และภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง
ชัยชนะของประชาชาติมาจากการจุดกระแสมลายูมุสลิม และความแตกแยกภายใน ปชป.(มีอดีต ส.ส.แยกไปสังกัด รปช.)
“ส้มด้ามขวาน” รุ่นใหม่
ช่วงหาเสียงกระแสคนรุ่นใหม่และแนวคิดประชาธิปไตยของอนาคตใหม่ สร้างแรงกระเพื่อมคะแนนเสียงในฐานะผู้เล่นที่เปลี่ยนเกมการต่อสู้ในการเลือกตั้งครั้งนี้
ช่อ พรรณิการ์ วานิช เข้าเยี่ยมครอบครัวของผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ที่หมดสติในค่ายทหาร
และรักษาตัวอยู่ที่ รพ.สงขลานครินทร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ลึกๆ แล้ว คนรุ่นลูกหลานของกลุ่มวาดะห์นั่นแหละ ที่เข้ามาให้การสนับสนุนอนาคตใหม่ แม้โดยภาพรวมคะแนนอาจจะแพ้พรรคลุงกำนัน แต่ผลคะแนนในเขตเมืองปัตตานีก็เฉลี่ยเขตละหมื่นคะแนน รวมถึงเขตพื้นที่สีแดงก็มีคะแนนตีตื้นประชาชาติ
กลุ่ม PerMAS
PerMAS หรือสหพันธ์นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนปาตานี ย่อมตกเป็นเป้าหมายของอนาคตใหม่ที่จะเจาะเข้ามาเป็นพันธมิตร แต่องค์กรนี้ก็มีแนวคิดแนวทางเป็นของตัวเอง
วัตถุประสงค์การก่อตั้ง PerMAS ก็เพื่อเชื่อมตัวแทนนักศึกษาปาตานีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดทั้งในและนอกประเทศ
PerMAS ยื่นหนังสือให้ UN เข้ามาตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในชายแดนใต้
สิ่งที่ PerMAS ทำในพื้นที่คือ ขจัดความกลัวของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้พูด ไม่ว่าจะเชียร์รัฐ เชียร์บีอาร์เอ็น หรือต้องการเอกราช สามารถพูดได้ผ่านเวทีของ PerMAS ที่เรียกว่า “เสวนาปาตานี”
PerMAS จึงถูกนักการเมืองบางคนลากโยงเข้าหาอนาคตใหม่ และเหตุระเบิดในเมืองหลวง
******************//*******************