คอลัมนิสต์

ย้อนรอย "รุ่งเลิศ เหล่าดี"  เงาร่างของ "นวน เจีย"

ย้อนรอย "รุ่งเลิศ เหล่าดี" เงาร่างของ "นวน เจีย"

10 ส.ค. 2562

รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

***************************

 

อวสานตำนานเขมรแดงไปอีกราย เมื่อโฆษกศาลคดีพิเศษกรุงพนมเปญ แถลงว่า “นวน เจีย” วัย 93 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2562 ที่โรงพยาบาลมิตรภาพเขมร-โซเวียต

 

ภรรยาของอดีตผู้นำหมายเลข 2 ของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ได้นำศพของสามีไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดแห่งหนึ่งใน จ.ไพลิน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของกลุ่มเขมรแดง โดยมีการฌาปนกิจตอนค่ำวันที่ 9 สิงหาคมนี้ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ในเช้าวันถัดมา

 

 

ย้อนรอย \"รุ่งเลิศ เหล่าดี\"  เงาร่างของ \"นวน เจีย\"

นวน เจีย เมื่อปี 2554

 

 

นวน เจีย ถูกทางการกัมพูชาจับตอนรุ่งสางวันที่ 19 กันยายน 2550 ที่บ้านพักกลางป่า จ.ไพลิน และได้นำตัวเขามาที่กรุงพนมเปญเพื่อดำเนินคดีในข้อหาการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อันเกี่ยวข้องกับการบีบบังคับให้ประชาชนโยกย้ายที่อยู่และการสูญหายของประชาชนจำนวนมากในช่วง 4 ปีที่เขมรแดงเรืองอำนาจ

 

คดีนี้ใช้เวลาพิจารณาคดีมานานถึง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2556 ในที่สุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 ผู้พิพากษาศาลพิเศษกรุงพนมเปญ ได้อ่านคำพิพากษาตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจำเลยสองคนคือ นวน เจีย และเขียว สำพัน

 

 

ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์

 

นวน เจีย เกิดวันที่ 7 กรกฎาคม 2469 เป็นชาวพระตะบอง ในวัยเยาว์ และเข้ามาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร จ.พระนคร โดยมีชื่อไทยว่า รุ่งเลิศ เหล่าดี” จากนั้นเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ “เตรียมธรรมศาสตร์” (ต.มธก.) รุ่นปี 2488

 

เหตุที่ นวน เจีย เป็นคนไทย โดยสิทธิอาณาเขตแห่งรัฐ เพราะเขาเกิดในครอบครัวเชื้อสายจีนที่ จ.พระตะบอง ในห้วงที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไปยึดคืนจากฝรั่งเศสและจัดตั้งเป็นมณฑลบูรพา

 

 

ย้อนรอย \"รุ่งเลิศ เหล่าดี\"  เงาร่างของ \"นวน เจีย\"

 

 

เมื่อ นวน เจีย หรือ รุ่งเลิศ จบการศึกษาจาก มธก.แล้ว ได้เข้าทำงานที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ในระหว่างนั้นก็ไปเข้าฟังบรรยายในรั้ว มธก.ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งเขาชื่นชอบวิชานิติศาสตร์มากที่สุด 

 

ปี 2493 นวน เจีย ได้ย้ายมาสังกัดแผนกอินโดจีนในกระทรวงการต่างประเทศ ได้เงินเดือน 24 บาท โดยระหว่างเรียนหนังสือที่ มธก. นวน เจีย ได้รู้จักกับชาวคอมมิวนิสต์ไทยไม่ว่าจะเป็น รวม วงศ์พันธุ์, ส.ท.เริง เมฆไพบูลย์, เสนาะ พานิชเจริญ และอุดม สีสุวรรณ

 

ปี 2490 รุ่งเลิศ เข้าร่วมองค์การเยาวชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)  ที่มี รวม วงศ์พันธุ์ เป็นคนจัดตั้ง และเป็นสมาชิก พคท. มีชื่อจัดตั้งว่า “โรจน์”

 

อุดม สีสุวรรณ อดีตกรรมกลาง พคท. เคยเขียนบันทึกถึงหนุ่มเขมรที่ทำงานกระทรวงการต่างประเทศว่า “ผมจำไม่ได้ว่า ได้ไปคุยสถานการณ์อย่างนี้อีกกี่ครั้ง หลังจากนั้นผมก็มิได้สัมพันธ์กับหน่วยนี้อีก ผมทราบโดยทางอ้อมว่า “คุณโรจน์” ได้กลับไปประเทศของเขาแล้วตอนนั้นเป็นปี 2490”

 

หนุ่มเขมรสหายโรจน์ หรือรุ่งเลิศ เหล่าดี ในวัย 24 ปี ได้กลับบ้านเกิดเพื่อเข้าร่วมต่อสู้ปลดปล่อยกัมพูชาและเปลี่ยนชื่อเป็น “นวน เจีย” 

 

 

 

ทั้งรักทั้งชัง

 

สมัยที่ชาวเขมรต่อสู้กู้เอกราชจากฝรั่งเศส เชิง ง็อก มินห์” คนเขมรเชื้อสายเวียดนาม ได้ก่อตั้งกลุ่มเขมรอิสระ และเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนปี 2473 ภายใต้การนำของโฮจิมินห์

 

ฝ่ายซ้ายเขมรมีความใกล้ชิดกับกลุ่มเวียดมินห์มายาวนาน ตั้งแต่มีชื่อว่าเขมรอิสระ และพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา ซึ่งตอนนี้ฝ่ายซ้ายเขมรได้แยกทางจากเชิง ง็อก มินห์ และพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน 

 

ตู สามุด เป็นเลขาธิการประชาชนปฏิวัติกัมพูชา และนวน เจีย เป็นกรรมการพรรค หลังจากนั้น ตู สามุด ถูกลอบสังหาร พล พต จึงเป็นเลขาธิการพรรคแทน 

 

การก้าวเข้ามาของพล พต หมายถึงการเปลี่ยนผ่านของคอมมิวนิสต์เขมร จากลุงโฮ มาสู่ "กลุ่มปัญญาชนปารีส” (Paris Student Group) ซึ่งหมายถึงกลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายชาวกัมพูชา ที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลกัมพูชาให้ไปศึกษาต่อในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ในช่วงทศวรรษที่ 1950

 

ต่อมากลุ่มปัญญาชนปารีส (นักเรียนทุนฝรั่งเศส) นำโดย พล พต,ซอน เซน, เอียง สารี และเขียว สำพัน ยึดองค์กรการนำพรรค ซึ่งตอนนั้น พล พต ได้เปลี่ยนชื่อจากพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา เป็นพรรคคนงานเขมร

 

นวน เจีย เป็นสหายนำของพรรคคนงานเขมรคนเดียวที่จบมาจากปารีส แต่จบมาจากธรรมศาสตร์ ถึงกระนั้น นวน เจีย ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้นำหมายเลข 2 รองจากพล พต หรือ ซาล็อต ซาร์

 

ปี 2509 พล พต เปลี่ยนชื่อพรรคคนงานเขมร เป็นพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา โดยการสนับสนุนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

 

คอมมูนเขมรแดง

 

หลังจากกองทัพเขมรแดงบุกยึดกรุงพนมเปญและสาธารณรัฐกัมพูชาได้สำเร็จ เขมรแดงได้เปลี่ยนระบอบการปกครองของกัมพูชาให้เป็นระบอบ “กัมพูชาประชาธิปไตย”

 

5 มกราคม 2519 เขมรแดงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญกัมพูชาฉบับใหม่และมีการบัญญัติชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศกัมพูชาว่า “กัมพูชาประชาธิปไตย” (Democratic Kampuchea)

 

ศูนย์กลางอำนาจของกัมพูชาในขณะนั้นอยู่ที่สหายพล พต ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในปี 2519 โดยมีสหายเอียง สารี ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการต่างประเทศ และสหายซอน เซน ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการกลาโหม

 

 

ย้อนรอย \"รุ่งเลิศ เหล่าดี\"  เงาร่างของ \"นวน เจีย\"

 

 

ส่วนสหายนวน เจีย ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนประชาชนกัมพูชา ซึ่งเป็นสถาบันหลักทางการเมืองของกัมพูชาประชาธิปไตย

 

ผู้นำเขมรแดงได้กวาดต้อนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดจากกรุงพนมเปญและเมืองสำคัญอื่นๆ มาบังคับให้ทำการเกษตรและใช้แรงงานร่วมกันในพื้นที่ชนบทเพื่อจำแนกประชาชนที่ถือว่าเป็นศัตรูทางชนชั้น

 

ผลจากการสร้างคอมมูนใหม่ ทำให้ประชาชนชาวกัมพูชาต้องเสียชีวิตจากการถูกสังหาร ถูกบังคับใช้แรงงานและความอดอยาก ประมาณ 3 ล้านคน

 

เขมรแดงปกครองกัมพูชาเป็นระยะเวลา 4 ปี “เฮง สำริน”, “เจีย ซิม” และ “ฮุน เซน” สมาชิกเขมรแดงสายเวียดนาม หรือ “เขมรฮานอย” หนีข้ามแดนไปขอให้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม มาโค่นเขมรแดง จากนั้นฟื้น “พรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา” อีกรอบ ภายใต้การอุปถัมภ์ของเวียดนาม

 

 

เหยียบซากเขมรแดงหาเสียง

 

ฝ่ายเขมรแดงยังเคลื่อนไหวแบบต่อต้านรัฐบาลใหม่ และเวียดนาม โดยมีที่มั่นอยู่ในชายแดนไทย จนกระทั่งปี 2539 พล พต ก็ปิดฉากกลุ่มเขมรแดงลงอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ

 

พล พต ถึงแก่กรรมเมื่อ 15 เมษายน 2541 ส่วนผู้นำคนอื่นๆ ถูกรัฐบาลกัมพูชาควบคุมตัวมาพิจารณาโทษจากศาลพิเศษ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีของอดีตกลุ่มผู้นำเขมรแดงโดยเฉพาะ

 

ด้วยเหตุที่การเมืองภายในกัมพูชานั้น ต้องตกอยู่ภายใต้ปัญหาของการแย่งชิงอำนาจระหว่างพรรคการเมืองมาโดยตลอด สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีสมัยโน้น จึงอยากจะขุดศพผู้ที่ได้รับเคราะห์กรรมในช่วงเขมรแดงเป็นใหญ่ขึ้นมาประจาน เพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองให้แก่ตัวเอง โดยมีเป้าหมายที่จะกำจัดคู่แข่งทางการเมืองอย่าง เจ้านโรดม รณฤทธิ์ เป็นสำคัญ

 

สมเด็จฮุน เซน เรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาช่วยเหลือในการจัดตั้งศาลเพื่อดำเนินคดีกับอดีตผู้นำเขมรแดงที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่การเจรจาระหว่างรัฐบาลกัมพูชากับสหประชาชาติไม่ลงตัว จนฝ่ายยูเอ็นประกาศถอนตัว ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นและฝรั่งเศสต้องยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ยให้เปิดการเจรจารอบใหม่ และตกลงจัดตั้งศาลระหว่างกันได้ในปี 2547 

 

พูดง่ายๆ สมเด็จฮุน เซน หักหลังสหายร่วมอุดมการณ์อีกรอบ และฉวยโอกาสหาเสียงจากเหยื่อระบอบเขมรแดง ซึ่งสหายฮุน เซน ก็มีส่วนร่วมในโศกนาฏกรรมสะท้านโลกด้วย

 

ประวัติศาสตร์การเมืองปีกซ้ายในกัมพูชาค่อนข้างซับซ้อน เต็มไปด้วยเรื่องทรยศหักหลัง และได้รับอิทธิพลความคิดจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นขบวนการเวียดมินห์พรรคคอมมิวนิสต์จีน และพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

 

*******************///********************