'อีซูซุ-ดีแมคซ์'..พรีออเดอร์โจรลักรถ!
คอลัมน์... สายตรวจระวังภัย โดย... ทีมข่าวอาชญากรรม
การจอดรถยนต์ทิ้งไว้ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวัน กลางคืน จอดในห้าง ตามซอยในชุมชน หรือทุกๆ ที่ จะจอดชั่วครู่ชั่วคราว หรือนานข้ามวัน ล้วนมีความเสี่ยงถูกโจรกรรมได้ โดยไม่จำเป็นว่า “รถเป้าหมาย” ต้องรถใหม่ป้ายแดงเท่านั้น เพราะรถเก่าหลายปีก็มีโอกาสถูกขโมยได้เช่นกัน เนื่องจากมี “พรีออเดอร์” ของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงใบสั่ง “ตลาดมืด” ตลอดจนอะไหล่รถยนต์รุ่นนั้นๆ ซึ่งปัจจุบัน “โจรลักรถ” ได้พัฒนาเทคนิควิธีการขโมยหลากหลายรูปแบบ แม้กับรถที่ติดตั้งระบบป้องกันชนิดดีเยี่ยมก็ไม่อาจหยุดความพยายามของเหล่าโจรได้
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาหลายคนน่าจะได้เห็นข่าวผลงานการจับกุม “แก๊งโจรกรรมรถ” ของตำรวจแต่ละหน่วยงานทั่วประเทศ ยิ่งแล้วพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทว่าในห้วง 3 ปีมานี้ เกือบทุกคดีหรือแก๊งที่ถูกจับกุมล้วนมีเป้าหมายขโมยเป็นรถกระบะยี่ห้อ “อีซูซุ-ดีแมคซ์” นั่นเป็นเพราะมี “พรีออเดอร์ตลาดมืด” ส่งออกไปยังประเทศเพื่อบ้าน หรือจะแยกชิ้นส่วนขายอะไหล่ก็ได้ราคาดี ไม่ก็สวมทะเบียนประกาศขายบนออนไลน์
เช่นเดียวกับกรณีล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศปจร.น.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.นิตินันท์ เพชรบรม รองผบช.น. ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปจร.น. พ.ต.อ.สุวัฒน์ เกิดแก้ว รองผบก.น.7 ในฐานะรองหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปจร.น. พ.ต.อ.ทินกร สมวันดี ผกก.สน.พระโขนง ชุดสืบสวน สน.พระโขนง และ กก.สส.บก.น.5 ร่วมกันแถลงผลจับกุม นายภาณุพงศ์ ครองบุญ ฉายา “เต้ย อ่างทอง” ซึ่งร่วมกับพวกก่อเหตุตระเวนลักรถกระบะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อได้รถมาก็จะเอาไปซุกซ่อนไว้ที่บ้านพักในพื้นที่ ต.คำหยาด อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง จากนั้นก็เอาไปอู่ซ่อมรถยนต์ในพื้นที่ ต.วังน้ำเย็น อ.แสวงหา จ.อ่างทอง เพื่อชำแหละแล้วแยกอะไหล่
โจรลักรถรายนี้บอกว่า เมื่อเจอรถเป้าหมายจะใช้เครื่องตรวจหาสัญญาณจีพีเอส ก่อน ถ้ารถคันไม่มีระบบสัญญาณจีพีเอส จะลงมือขโมยทันที ก่อเหตุมาราว 1 ปี โดยเลือกขโมยรถกระบะ ยี่ห้อ “อีซูซุ-ดีแมคซ์” เนื่องจากเป็นรถตลาด เมื่อนำไปขายจะได้ราคาดี โดยเฉพาะเครื่องยนต์สามารถนำไปขายได้ประมาณ 3-4 หมื่นบาท ซึ่งการชำแหละรถที่ขโมยมาแล้วนำไปขายตามร้านรับซื้ออะไหล่ และโพสต์ขายหน้าเฟซบุ๊กชื่อว่า “กะโหลกบางตายช้ากะโหลกหนาตายก่อน” หรือไม่ก็ไปโพสต์ขายตามเพจเปิดขายอะไหล่เครื่องยนต์รถปิกอัพ
เกี่ยวกับเรื่องนี้หลายต่อหลายคดีที่มีการจับกุมที่ผ่านมา ตำรวจมักบอกข้อมูลว่าส่วนใหญ่แล้วจุดหมายปลายทางรถถูกขโมยได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวตะเข็บชายแดนต่างๆ ส่วนรถที่ไม่ได้เป็นรุ่นยอดนิยมก็มักจะถูกนำไปแยกชิ้นส่วนเพื่อเป็นอะไหล่ต่อไป หรืออาจนำมาสวมทะเบียนเพื่อขายต่อ แต่พักหลัง “อีซูซุ-ดีแมคซ์” เป็นคำตอบแรกของแก๊งโจรกรรมที่จับกุมได้ แม้จะมีระบบป้องกันโจรก็ยังหาวิธีลักขโมยได้อยู่ดี แต่การป้องกันที่ดีคือ “ถ่วงเวลามากที่สุด” เพราะโจรต้องการใช้เวลาน้อยที่สุดในการลงมือเพื่อไม่ให้เสี่ยงถูกจับ
ดังนั้นเจ้าของรถก็ต้องมีระบบป้องกันต่างๆ ที่สามารถล็อกได้ทุกอย่างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และวัสดุแข็งแรงที่สุด เช่น ใช้ที่ล็อกเกียร์ ล็อกเบรก ล็อกคลัทช์ (มีระบบตัดไฟยิ่งดี) ล็อกพวงมาลัย ล็อกล้อ ล็อกเบาะด้วยการเลื่อนเบาะไปหน้าสุดใส่กุญแจสายยูที่รางเบาะ จะทำให้โจรถอยเบาะได้ลำบาก ทำให้ขับรถไม่ได้เพราะติดชิดพวงมาลัย ล็อกฝากระโปรง ติดตั้งอุปกรณ์ตัดระบบไฟสตาร์ทแยกต่างหากและซ่อนเอาไว้ ติดตั้งระบบติดตามค้นรถด้วยจีพีเอส ถ้าอยากประหยัดสามารถใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นถูกๆ ใส่ซิมการ์ดเปิดเบอร์แบบเติมเงินทิ้งไว้ เมื่อรถหายยังสามารถใช้การติดตามจากสัญญาณโทรศัพท์ได้ ฯลฯ ที่สำคัญเมื่อไปไหนมาไหนต้องระมัดระวังการฝากกุญแจไว้กับผู้อื่น เนื่องจากอาจนำไปปั๊มกุญแจได้ โดยเฉพาะตามปั๊มน้ำมันและสถานบริการต่างๆ