พปชร.จัดทัพใหม่ ประวิตร ปธ.ยุทธศาสตร์ พรรคทหาร เริ่มชัด?
พรรคพลังประชารัฐ ขยับใหญ่ พล.อ. ประวิตร นั่งประธานยุทธศาสตร์พรรค เตรียมดึง พล.อ.ประยุทธ์ นั่ง หน.พรรค อีกคน ภาพพรรคทหาร เริ่มเด่นชัดขึ้น
โดย โอภาส บุญล้อม
"พรรคพลังประชารัฐ" ขยับใหญ่ เมื่อ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มานั่งในตำแหน่ง "ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ"
โดย พล.อ. ประวิตร บอกว่า จะเข้าปฏิบัติงานวันแรกที่พรรคพลังประชารัฐ ในวันอังคารที่ 20 ส.ค. นี้
และปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องมีการแก้ไข พล.อ. ประวิตร บอกว่า ก็คือ ปัญหาเสียงแตก เสียงปริ่มน้ำ ซึ่งทำให้รัฐบาลแพ้โหวตในสภาให้กับฝ่ายค้านมาแล้วถึง 2 ครั้ง
ส่วนคณะทำงานยุทธศาสตร์พรรค มีนายอนุชา นาคาศัย , น.ส. ปารีณา ไกรคุปต์ และ น.ส. วทันยา หรือมาดามเดียร์ วงษ์โอภาสี เป็นคณะทำงานยุทธศาสตร์พรรคด้วย
และการเข้ามาเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคในครั้งนี้ แหล่งข่าวกระซิบว่า เป็นความต้องการของ พล.อ. ประวิตร เอง เพราะเป็นที่รู้กันว่า พล.อ. ประวิตร เคยมีเรื่องระหองระแหงอยู่กับ“กลุ่มสามมิตร” ตั้งแต่เมื่อครั้งโหวตนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากตอนนั้น “กลุ่มสามมิตร” ต้องการให้นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นประธานสภา แต่คนของ พล.อ. ประวิตร กลับไปเจรจากับพรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้นการเข้ามานั่งในตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคในครั้งนี้ พล.อ. ประวิตร จึงต้องการมีบทบาทในพรรคพลังประชารัฐเหนือ “ กลุ่มสามมิตร” และต้องการคุมพรรคพลังประชารัฐ
แต่ พล.อ. ประวิตร คนเดียวอาจมีบารมีไม่พอที่จะคุมพรรคพลังประชารัฐ แบบเบ็ดเสร็จ จึงจะมีการดึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม มาเป็นหัวหน้าพรรคด้วย
การให้ พล.อ. ประวิตร มานั่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค จึงเป็นเพียงการปูทางเคลียร์ไปก่อน เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ มานั่งเป็นหัวหน้าพรรค
และก่อนหน้านี้ ก็เคยมีข่าวมาแล้วว่าหลังจัดตั้งรัฐบาลและแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเสร็จเรียบร้อย พรรคพลังประชารัฐจะมีการประชุมใหญ่และเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าพรรคแทนนายอุตตม สาวนายน ที่จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเปิดทางให้ โดยสาเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจมานั่งหัวหน้าพรรค เพราะมีเป้าหมาย ต้องการทำงานการเมืองระยะยาว และเพื่อจะได้เป็น“นักการเมือง”เต็มตัวลบข้อครหาเสียงวิจารณ์ต่างๆ ออกไป โดยเฉพาะข้อครหาเรื่องการเข้ามา“สืบทอดอำนาจ” และที่ผ่านมาการลงพื้นที่หาเสียงก็ทำได้ไม่เต็มที่
นอกจากนั้น อีกสาเหตุคือ ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่แบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะจาก “กลุ่มสามมิตร” ที่เคยก่อหวอดเคลื่อนไหวต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีมาแล้ว ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในการทำงานของพรรค โดยเฉพาะจำนวนเสียงเวลาโหวตเรื่องสำคัญ ๆ ในสภาฯ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค และควบคุมพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด
แต่ ณ เวลานี้ ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังลังเล เพราะเกรงว่า พรรคพลังประชารัฐจะถูกมองว่ากลายเป็น“พรรคทหาร”อย่างชัดเจน ตามที่คนวิจารณ์และพยายามระบายสีให้พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรค“สีเขียว ” ตลอดมา เมื่อมีทั้ง พล.อ.ประวิตร นั่งประธานยุทธศาสตร์พรรค และ พล.อ. ประยุทธ์ นั่งหัวหน้าพรรค
แถมตำแหน่ง “เลขาธิการพรรค” คนต่อไป ก็จะเป็นการชิงกันระหว่าง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ซึ่งทั้งสองคนก็เป็นรัฐมนตรีคู่กาย พล.อ. ประวิตร ทั้งคู่
อีกทั้งการมาในตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ พล.อ. ประยุทธ์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯมือกฎหมาย ก็เคยเตือนเรื่องผลดีผลเสียมาแล้ว เช่น ถ้าเกิดพรรคโดนคดีอะไร ผลร้ายก็จะตกไปถึงหน้าพรรคด้วย ซึ่งในอดีตก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วว่า เมื่อพรรคการเมืองถูกยุบ หัวหน้าพรรคจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วย ทำให้คนสำคัญของพรรคระยะหลังจะหลีกเลี่ยงที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค
รวมทั้งการที่ พล.อ. ประยุทธ์ มานั่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็เท่ากับไปสังกัดกับพรรคพลังประชารัฐอย่างเต็มตัว การที่จะวางตัวเป็นกลางระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน โดยเฉพาะเวลาที่พรรคร่วมรัฐบาลกระทบกระทั่งกัน และทำหน้าที่เป็นคนคอยไกล่เกลี่ย ก็จะหมดไป
และหากเมื่อใดที่พรรคพลังประชารัฐ เด่นชัดถึงขนาดว่าเป็น“พรรคทหาร” จะมีผลอะไรตามมาเกิดขึ้นบ้างต่อเสถียรภาพของรัฐบาล จะดีขึ้นหรือแย่ลง เป็นเรื่องที่น่าจับตา