คอลัมนิสต์

 ปรากฎการณ์ "สิระ" สะท้อนมารยาทนักการเมือง

 ปรากฎการณ์ "สิระ" สะท้อนมารยาทนักการเมือง

20 ส.ค. 2562

ปรากฎการณ์ "สิระ" สะท้อนมารยาทนักการเมือง "รธน.ม.185" ห้าม ส.ส. ใช้สถานะตำแหน่งแทรกแซงข้าราชการ(อาจ)จัดการได้

         โดย ขนิษฐา เทพจร

        คลิปที่ว่อนโซเชียลมีเดีย กรณี "สิระ เจนจาคะ" ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ พูดกับ พ.ต.ท.ประเทือง ผลมานะ รองผู้กำกับป้องกันปราบปราม สภ.กะรน จ.ภูเก็ต ระหว่างลงพื้นที่ที่ อ.กะรน จ.ภูเก็ต เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์ชาวบ้าน จากกรณีก่อสร้างคอนโดมิเนียมบนพื้นที่ที่ได้รับเอกสารสิทธิไม่ชอบ 

 

       บทสนทนาที่เกิด ไม่เกี่ยวกับเรื่องร้องทุกข์จากชาวบ้าน ตามรายละเอียดที่คลิปวิดีโอฉายให้เห็น คือ กิริยาของ "ส.ส." ที่ไม่พอใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่มาอำนวยความสะดวกและดูแลระหว่างลงพื้นที่ 

      กับพฤติกรรม และคำพูดที่เห็นได้จากคลิปวิดีโอ "ผู้ชมคลิปทางโซเชียลมีเดีย" วิจารณ์ไปไกลถึง การใช้อำนาจข่มขู่ ข้าราชการตำรวจ และก้าวก่ายการทำงาน ทั้งคำพูดที่ถามถึง ความเหมาะสมในตำแหน่ง "รองผู้กำกับฯ"

       และ แนวทางการบริหารจัดการงานในพื้นที่ รวมถึงคำพูดในเชิงว่าให้โอกาสแก้ตัว และขอรับการขอโทษจากข้าราชการที่ทำงานบกพร่อง

       ทำให้กลายเป็น คำถามที่ถูกตั้งขึ้นว่า พฤติกรรมของ "ส.ส." ระหว่างการลงพื้นที่ แบบนี้เหมาะสมหรือไม่?

       ภายใต้คำตอบ ของคำถามที่เกิดขึ้น เชื่อว่าอยู่ที่มุมมองของแต่ละคน

       แต่สำหรับ "ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์" ที่เคยทำหน้าที่ใน กรรมาธิการ (กมธ.) ด้านการตรวจสอบการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร มองว่า การลงพื้นที่ในนามส่วนตัว หรือ ใช้ตำแหน่ง ส.ส. ตรวจสอบข้อมูลนอกพื้นที่เลือกตั้งของตนเอง คือ สิ่งที่ต้องคำนึงให้ดี และสมัยการทำงานที่ผ่านมา ไม่เคยพบการทำงานข้ามเขตเลือกตั้ง ยกเว้นแต่ได้รับมอบหมายในฐานะ กรรมาธิการฯ หรือ ตามที่พรรคมอบหมาย ฐานะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในงานด้านใดด้านหนึ่งเฉพาะ

            ปรากฎการณ์ \"สิระ\" สะท้อนมารยาทนักการเมือง

      "มาตรฐานการทำงานของ ส.ส. ฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ คือ การควบคุมการบริหารราชการ แก้ปัญหาของชาวบ้าน การทำงานที่ผ่านมา หาก ส.ส.จะใช้สถานะส่วนตัวลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลหรือรายละเอียด เพื่อสะท้อนปัญหาสู่สภา เขาไม่ต้องลงไปแบบเอิกเกริก หรือมีคณะมาดูแล หรือให้ใครต้อนรับ เขาใช้การลงพื้นที่ฐานะ ส.ส. เพื่อไปเก็บข้อมูลเพื่อประกอบการอภิปรายในสภา เพราะตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้แบบนั้น จะไม่มีอำนาจที่ทำเกินกว่านั้น ยกเว้นลงพื้นที่ไปในนามกรรมาธิการฯ ที่สมัยก่อนเคยมีกรรมาธิการลงพื้นที่ ที่ทำได้มากสุดคือ แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้รับทราบเท่านั้น" อดีต ส.ส.ชาญชัย ระบุ

       ขณะที่กรณีของ "ส.ส.สิระ" นั้น ที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต นั้นเพราะใครมอบหมาย หรือ ไปในนามส่วนตัวหรือไม่ "อดีตกมธ.ตรวจสอบทุจริต" ไม่ขอวิจารณ์ แต่พฤติกรรมที่สะท้อนผ่านคลิปวิดีโอนั้น เชื่อได้ว่าอาจเป็น กรณีเฉพาะตัว ตามนิสัยการทำงานของแต่ละบุคคล แต่สิ่งสำคัญที่ต้องยึดถือเป็นสำคัญ คือ ต้องไม่ใช่ตำแหน่ง ส.ส. เข้าไปทำงานหรือทำสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย ที่ว่าด้วยการแทรกแซง สั่งการ หรือยุ่งเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของข้าราชการประจำ

       ทั้งนี้ในสมัยที่ผ่านมา ก่อนมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 การทำงานของ "ส.ส." ภายใต้สภานิติบัญญัติ มีมาตรฐานการทำงานกำหนดไว้ภายใต้กติกาของการทำหน้าที่ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดไว้ถึงเส้นแบ่งการทำงานของ "นักการเมือง" และ "ข้าราชการประจำ" ที่ต้องไม่ถูกแทรกแซง หรือ ก้าวก่ายการทำงาน ยกเว้น แต่เป็นการทำงานภายใต้ "กมธ.ฯ" ที่มีสิทธิเรียกข้าราชการและส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจง และให้ข้อมูลในชั้น กมธ.ฯ ได้ 

        และเมื่อถึงยุคปัจจุบันที่ "รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน" ให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบของ "ผู้แทนปวงชนชาวไทย" และต้องการสร้าง "นักการเมืองในอุดมคติ ที่ดีพร้อม" ตามกรอบที่ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)" กำหนดไว้ ทำให้รัฐธรรมนูญกำหนดมาตรฐานการทำตัวของ ส.ส. และ ส.ว. ไว้ในบทบัญญัติที่สำคัญ คือ มาตรา 185 ว่าด้วยข้อห้ามส.ส. หรือ ส.ว. ใช้สถานะหรือตำแหน่ง ก้าวก่าย แทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ใน 3 เรื่อง

         คือ 1.การปฏิบัติราชการของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ  ราชการส่วนท้องถิ่น 2.มีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณหรือให้ความเห็นชอบทำโครงการใดๆของหน่วยงานรัฐ ยกเว้นเป็นการทำภายใต้กิจการของรัฐสภา และ 3. บรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือให้พ้นตำแหน่งของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น

         กับกรณีของ "สิระ" ที่มีพฤติกรรมปรากฎนั้น "เจษฎ์ โทณะวณิก" ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ฐานะอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560  บอกว่า หากมีคนเอาเรื่อง โทษฐานที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึง มาตรา 185 นั้นสามารถทำได้  โดยรัฐธรรมนูญกำหนดเป็นขั้นตอนตามหน้าที่และอำนาจของ "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)" มาตรา 234 (1) โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ป.ป.ช. อาจจะเห็นเอง และไต่สวนได้โดยไม่ต้องมีผู้ร้องเรียน

                   ปรากฎการณ์ \"สิระ\" สะท้อนมารยาทนักการเมือง

       ซึ่งผลแห่งการลงโทษตามพฤติกรรมฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญนั้น กระทบต่อสมาชิกภาพของ "ส.ส." ที่อาจต้องสิ้นสุดลง

      กับมาตรฐานของ "ส.ส." ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นยาแรง แต่ทำไมยังเห็นพฤติกรรม ส.ส. กร่างใส่เจ้าหน้าที่ นี่คืออีกคำถามที่สังสัย

        เรื่องนี้ "อดีตที่ปรึกษากรธ." บอกว่า รัฐธรรมนูญ เป็นเพียงมาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่หากจะทำให้มาตรการนี้ใช้บังคับอย่างได้ผล คือ ต้องมีมาตรการเชิงกฎหมายคุ้มครองการทำงานของข้าราชการที่ไม่ยอมให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงการทำงาน รวมถึง ตัวนักการเมืองต้องตระหนักถึงมารยาททางสังคมด้วย

      ส่วนที่ตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐ "ธนกร วังบุญคงชนะ" รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ขอโทษแทน ส.ส.ในสังกัดนั้น จะถือว่าเรื่องนี้ควรยุติได้หรือไม่ ตามมุมมองของ "เจษฏ์"  ระบุว่า ฝั่งที่คอยจับจ้องคงไม่ยอมให้จบง่ายๆ   อย่างไรก็ดีเรื่องนี้จะไม่เกิดเป็นปัญหา หากนักการเมือง ซึ่งหมายถึง ส.ส., ส.ว., รัฐมนตรี ตระหนักถึงการทำหน้าที่ที่สำคัญ คือ การขับเคลื่อนนโยบายให้ลุล่วง โดยมีหน่วยงานข้าราชการเป็นกลไกแก้ป้ญหา ดังนั้นการทำงานร่วมกันระหว่างข้าราชการประจำ และฝ่ายการเมือง แม้จะมีเส้นเชื่อมโยง คือการประสานเพื่อให้นโยบายนำไปสู่การปฏิบัติ แต่วิธีการต้องไม่ก้าวก่ายงานซึ่งกันและกัน เพราะนี่คือ มารยาทของนักการเมืองที่ต้องรู้ว่าอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำ

        "ในประเทศที่เจริญแล้ว นักการเมืองเขายึดถือมารยาททางสังคมเป็นมาตรวัดของการเป็นนักการเมืองที่ดี ส่วนประเทศไทยแม้รัฐธรรมนูญจะเขียนบัญญัติไว้ อาจช่วยได้บ้าง แต่ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ คนที่เป็น ส.ส.ใหม่ต้องตระหนักถึงการทำหน้าที่ และเรียนรู้การทำงาน โดยเฉพาะการทำงานตามหน้าที่ไม่ก้าวก่าย และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ใช้อำนาจเหนือคนอื่น" ดร.เจษฏ์ ระบุ

      กับการปฏิบัติหน้าที่ "ส.ส.ที่ดี"  นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ พูดย้ำกับ ส.ส.หลายครั้ง หลายหน ถึงการปฏิติตัวให้สมกับผู้แทนปวงชน และ ฐานะผู้ออกกฎหมาย ที่ต้องไม่ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่เชื่อว่าในการปฏิบัติตนของบุคคลนั้นอาจต้องใช้การบ่มเพาะและเรียนรู้ด้วยตัวเอง

        อย่างไรก็ดี หลักสูตรเร่งรัดที่ดีที่สุด คือ การฟังคำสอนและคำแนะนำจากรุ่นพี่นักการเมือง อย่าง "จองชัย เที่ยงธรรม" อดีต ส.ส.สุพรรณบุรีพรรคชาติไทย หลายสมัย ผู้คร่ำหวอดในวงการเมือง กว่า 30 ปี ที่หลายคนมักเรียกฉายาติดปากว่า "คิดไม่ออก บอกจองชัย" 

        แม้ "จองชัย" จะไม่ขอตัดสินพฤติกรรมของ "สิระ" ที่แสดงออกมา แต่สิ่งที่เขาพอจะบอกได้ โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวบอกเล่า คือ  การทำหน้าที่ส.ส. คือ การซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ดูแลแก้ปัญหาทุกข์ร้อนให้ประชาชน และเข้าร่วมประชุมสภา 

        "สำหรับการแก้ปัญหาให้ประชาชน ทั้งที่รับเรื่องร้องเรียน หรือ ลงไปดูในพื้นที่ การแก้ปัญหาจะสำเร็จลุล่วงได้ดี ขึ้นอยู่กับความสามารถของ ส.ส. ฐานะผู้ประสานงาน ผมโชคดีที่อยู่ในวงการการเมืองยาวนาน เป็นรัฐมนตรีก็เคย จึงรู้จักคนมาก ดังนั้นเมื่อมีข้อมูล มีเอกสาร ชาวบ้านร้องทุกข์ให้แก้ปัญหา เราใช้คอนเน็คชั่นที่มี ประสานเพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลลงไปดูแลและแก้ปัญหา ซึ่งการประสานงานนั้น ไม่ใช่การแทรกแซง หรือ ก้าวก่ายการทำงาน หรือใช้อำนาจบาตรใหญ่เพราะงานที่ต้องแก้ปัญหาให้ชาวบ้านเป็นเรื่องต้องทำ ทั้งฝ่ายรัฐบาล และข้าราชการ"

       ขณะที่การทำงานข้ามพื้นที่หรือนอกพื้นที่เลือกตั้งของตนเองนั้น "อดีตส.ส.สุพรรณบุรี" บอกว่า ไม่มีประเพณีไหนเขาทำ เพราะงานนอกพื้นที่เราอาจไม่รู้ดีที่สุด เช่น อยู่จ.สุพรรณบุรี ข้ามไปพื้นที่ จ.สงขลา บางเรื่องอาจช่วยได้แต่น้ำหนักจะน้อย ยกเว้นแต่เป็นพื้นที่จังหวัดเดียวกันแต่คนละเขตเลือกตั้ง เช่น จ.สุพรรณบุรี สามารถข้ามเขตไปช่วยชาวบ้านได้ เพราะมีลักษณะปัญหาใกล้เคียงกัน

       กับสิ่งที่อยากบอก "ส.ส. ใหม่ ชั่วโมงบินไม่สูง" ฐานะ "รุ่นพี่ส.ส." บอกว่า อาจมีบ้างที่ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ไม่ได้ เพราะไม่รู้จะประสานใครให้มาช่วยชาวบ้าน ดังนั้นอาจพึ่งพาส.ส.รุ่นพี่ให้ช่วยประสานติดต่อให้ ซึ่งเขาเคยถูกส.ส.ใหม่ร้องขอให้ประสานฝ่ายบริหารให้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน แต่การประสานต้องถือเป็นการช่วยเหลือและทำงานที่เกื้อหนุนกัน บอกข้อมูลความเดือดร้อนและนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน  โดยยึดสิ่งสำคัญ คือ การช่วยเหลืองานซึ่งกันและกัน

       ในปรากฎการณ์ของ "สิระ เจนจาคะ" อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ "ผู้แทนปวงชน" ตระหนักต่อบทบาทของตนเองให้มาก โดยเฉพาะการให้เกียรติและเคารพต่อการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ส่วนจะล้ำไปถึงการเอาผิดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าคิดต่อ