ยธ.เอาไง.. เมื่อกำไลอีเอ็ม ไม่ถึงมาตรฐานขั้นต่ำ
ข้อบกพร่องในระบบควบคุมตัวด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือกำไลอีเอ็ม เป็นประเด็นที่กระทรวงยุติธรรมต้องเร่งกอบกู้ความน่าเชื่อถือต่อระบบกำไลอีเอ็มที่ประมูล
ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย
เป็นที่ทราบกันว่า ผลทดสอบกำไลอีเอ็มซึ่งสามารถรูดออกจากข้อมือ และสวมกลับเข้าไปได้โดยไม่มีสัญญาณแจ้งเตือน และยังถูกดึงทำลายให้ขาดได้โดยง่าย สายกำไลที่เคยการันตีว่าแข็งแกร่ง ถูกกระชากขาดคาตา “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เจ้ากระทรวงตราชั่ง
ข้อบกพร่องในระบบควบคุมตัวด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือกำไลอีเอ็ม เป็นประเด็นที่กระทรวงยุติธรรมต้องเร่งกอบกู้ความน่าเชื่อถือต่อระบบกำไลอีเอ็มที่ประมูลเช่าใช้จากบริษัทเอกชนในวงเงิน 74 ล้านบาท สาระสำคัญคือประสิทธิภาพในการควบคุมตัว ไม่ใช่เรื่องถูก-แพง เพราะในอนาคตกระทรวงยุติธรรมมีแนวทางใช้กำไลอีเอ็มกับผู้ต้องขังที่อยู่ในข่ายได้รับการพักการลงโทษ หรือเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี จำนวน 6 หมื่นคน เพื่อลดปัญหาความแออัดในเรือนจำ
ภารกิจเร่งด่วนของ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม คือตรวจสอบสเป็คในทีโออาร์ โดยขีดเส้นให้คณะกรรมการตรวจสอบที่มี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ร่วมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย ส่งผลสอบภายในวันศุกร์ที่ 23 ส.ค.นี้
เมื่อเจาะเข้าไปในรายละเอียดของร่างทีโออาร์ จะพบข้อระบุชัดๆ ว่า กำไลอีเอ็มเมื่อสวมใส่แล้วต้องถอดออกไม่ได้ ยกเว้นถูกตัดหรือใช้เครื่องมือพิเศษถอดออกเท่านั้น เมื่อผลการทดสอบเผยให้เห็นกันชัดๆ แล้วว่า กำไลอีเอ็มถอดออกได้จริง…เพียงแค่ใช้น้ำสบู่ลูบ เทคนิคบ้านๆ วิธีการเดียวกับการถอดแหวนที่คับติดนิ้วมือ โดยระหว่างถอดออก-สวมกลับ ระบบซอฟแวร์ที่ส่วนกลางไม่แจ้งเตือนว่าสายถูกถอดออกหรือตัดทำลาย แต่บันทึกข้อมูลว่าอุปกรณ์ถูกกระทบกระเทือนก่อนจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งเป็นการแสดงผลคล้ายผู้ถูกควบคุมออกไปทำงานตามปกติ โดยกำไลอาจกระทบกระเทือนจากการทำงาน เช่น งานก่อสร้างหรือเจาะสว่าน ในระหว่างแก้ไขข้อบกพร่องภายในเวลา 15 วัน บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด เอกชนคู่สัญญาได้นำชุดกำไลอีเอ็มเข้ามาเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด โดยเปลี่ยนไปใช้สวมที่ข้อเท้าแทนข้อมือ เนื่องจากทีโออาร์กำหนดว่า กำไลอีเอ็มจะใช้สวมที่ข้อมือหรือข้อเท้า อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
สำหรับระบบสัญญาณเซลลูลาร์ที่ใช้ติดตาม ได้รับการชี้แจงว่ากำไลอีเอ็มของกรมคุมประพฤติยังใช้สัญญาณ 2 จี ทั้งที่ระบบ 2 จีกำลังถูกทยอยยกเลิก จนส่งผลให้สัญญาณในบางพื้นที่ดรอปลง ซึ่งในทีโออาร์กำหนดไว้กว้างๆแบบครอบคลุมว่า ต้องมีผู้ให้บริการเครือข่ายอย่างน้อย 3 ราย มองกันแบบบ้านๆ อาจเป็นการเขียนเลี่ยง เพียงแค่มี AIS TRUE DTAC ก็มีคุณสมบัติตามทีโออาร์แล้ว
โดยในประเด็นสัญญาณ 2 จี เอกชนคู่สัญญาชี้แจงว่า จะอัพเกรดสัญญาณให้เป็น 3จี และ 4 จี ในเร็วๆ นี้ พร้อมเหตุผลว่าในพื้นที่ป่าเขาสัญญาณ 2 จีจะมีขีดความสามารถในการส่งสัญญาณได้มากกว่า ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กีรติวินทกร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์การทดสอบระบบกำไลอีเอ็ม ให้ข้อสังเกตว่า รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เคยให้ข้อเสนอแนะเรื่องการใช้กำไลอีเอ็มในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งรวมถึงมาตรฐานขั้นต่ำที่ต้องใช้งานกับโครงข่ายโทรคมนาคมตั้งแต่มาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 3 จีขึ้นไป แต่ทีโออาร์กำไลอีเอ็มของกรมคุมประพฤติยังเป็น 2 จี ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐาน
และเมื่อเข้าไปศึกษาในรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศ ยังพบว่า มีข้อเสนอแนะซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของกำไลอีเอ็มไว้หลายด้าน รวมถึงคุณลักษณะด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1.อุปกรณ์ต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 513 มีระบบป้องกันการถูกทำลายด้วยของแข็งตั้งแต่ระดับ 6 ขึ้นไป และป้องกันน้ำตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไป แก้ปัญหาการใช้งานสำหรับผู้สวมใส่ที่ต้องลุยน้ำ ลุยโคลน
2.สามารถทำงานได้ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 0-85 องศาเซลเซียส
3.สายรัดมีความเหนียวและทนต่อการตัด โดยอาจใช้เป็นแผ่นเหล็ก สายสแตนเลสถักหรือวัสดุอื่นๆ ที่มีความแข็งแรงทนทานเพื่อเสริมโครงสร้างในสายรัด หรือสายรัดอาจทำจากวัสดุจำพวกโพลิเมอร์เสริมใยเหล็กกล้า
4.สายรัดมีกลไกพิสูจน์การงัดแงะ
5.ตัวอุปกรณ์มีกลไกป้องกันการงัดแงะ และสามารถส่งสัญญาณแจ้งเตือน
6.เมื่อประกอบสายรัดกับตัวอุปกรณ์และสวมใส่ให้กับผู้ถูกควบคุมแล้วต้องไม่สามารถถอดออกได้
7.มีน้ำหนักรวมตัวอุปกรณ์และสายรัด ไม่เกิน 300 กรัม
ดังนั้น ในประเด็นทีโออาร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม จึงต้องวินิจฉัยลงความเห็นว่า “กำไลอีเอ็มของกรมคุมประพฤติ … ผิดไปจากทีโออาร์หรือไม่ ”
แต่ปัญหาอาจไม่จบแค่ทีโออาร์ เพราะยังจะมีคำถามต่อไปถึงขั้นตอนการตรวจรับของกรรมการตรวจรับ ซึ่งปกติจะต้องมีการทดสอบ แต่ปรากฏว่าประเด็นการทดสอบถูกหยิบออกไปจากทีโออาร์ … ไม่มีกำหนดไว้ โดยอ้างว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวมีใบรับรองประสิทธิภาพครบถ้วนแล้วว่า กำไลอีเอ็มที่มีเทคโนโลยีล้ำ ดีไซน์ทันสมัย ห้ามผู้ถูกคุมประพฤติออกนอกบ้านหลังเวลา 22.00 น. ห้ามเข้าใกล้บ้านพักพยานหรือผู้เสียหาย และจำกัดความเร็วในการขับขี่ยานพาหนะในกรณีเด็กแว๊นซ์ กลับกลายเป็นก๊องแก๊ง-บอบบาง??? การไม่ทดสอบก่อนตรวจรับ จึงเป็นประเด็นที่ต้องเจาะเวลาหาอดีต พุ่งย้อนศรกลับไปหาคนทำ ส่วนการตรวจสอบจะเอาจริงเอาจังแค่ไหนอย่างไร ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรียุติธรรมและหน่วยเหนือ
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานล้วงลูกหรือสะกิดแผล แต่บทแรกของสมศักดิ์ ถือว่าได้คะแนนนำหน้าฝ่ายข้าราชการประจำไปหนึ่งดอก
แต่ยังต้องตามดูกันในช็อตต่อๆไป ว่าฝ่ายใดจะหยิบ"โบว์ดำ"หรือคว้า"โบว์แดง "ไปได้มากกว่ากัน