คอลัมนิสต์

ยกฟ้อง กปปส. ดีเอสไอรีวิวคดีนักการเมือง-ดารา "กบฏ"

ยกฟ้อง กปปส. ดีเอสไอรีวิวคดีนักการเมือง-ดารา "กบฏ"

24 ส.ค. 2562

 คำพิพากษายกฟ้องคดีกบฏ กปปส. กับ 4 จำเลย แนวร่วม ทำให้ดีเอสไอ กำลังทบทวนคดีว่าจะเอายังไงต่อกับดารา-นักการเมือง ที่เป็นแนวร่วม กปปส.

     ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย    

     คำพิพากษายกฟ้องคดีกบฏ กปปส. กับ 4 จำเลย แนวร่วมกลุ่มนักวิชาการ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯกทม. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และสภาปฏิรูปการเมือง (สปช.) และนายเสรี วงศ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ส่งผลให้ดีเอสไอ ต้องนำรายละเอียดในคำพิพากษามาศึกษาและทบทวน ถึงการตั้งข้อหาดำเนินคดีกบฏกับแนวร่วมกปปส. กลุ่มนักการเมือง นักวิชาการ ดารา นักร้อง กว่า 50 ราย ที่เข้าร่วมเวทีปราศรัย “ชัทดาวน์กรุงเทพฯ”

     เมื่อศาลชี้ออกมาแล้วว่า พยานหลักฐานที่นำสืบในชั้นศาล รับฟังได้เพียงว่าจำเลยทั้ง 4 รายได้เข้าร่วมชุมนุม กับกปปส. “จริง” แต่ไม่ได้เป็นแกนนำที่สั่งการผู้ชุมนุมหรือขึ้นปราศรัยสั่งการให้กระทำการรุนแรง 

       อีกทั้งการชุมนุมของ กปปส.ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยไว้แล้วในคำวินิจฉัยที่ 59/2556 ว่าการชุมนุมของกปปส. สืบเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 63 ซึ่งสืบเนื่องจากเหตุที่คัดค้านการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นการชุมนุมทางการเมืองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการปฏิรูปก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง พยานหลักฐานที่อัยการโจทก์ นำสืบมาจึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 4 ได้กระทำความผิดตามฟ้องทั้ง 8 ข้อหา

     จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ , กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ , อั้งยี่ , ซ่องโจร , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ , เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำนั้นแต่ไม่เลิก, ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างเพื่อบังคับรัฐบาล , ร่วมกันบุกรุก และร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง , ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของ กกต. ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มา ซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 ยกฟ้องทั้งหมดทุกข้อหา

        ผลคำตัดสินคดีจะสะท้อนไปยังคดีในส่วนของแกนนำร่วมกลุ่มนักการเมือง ดารา นักแสดง ดีเอสไอยังจะไปต่อ เดินหน้าฟ้องทุกคนที่ขึ้นเวทีปราศรัยเป็นผู้สนับสนุนหรือร่วมกันก่อกบฏ หลังกำนันสุเทพ ประกาศยึดอำนาจประเทศไทย หรือจะนำคำพิพากษาของศาลมาเป็นแนวพิจารณา สั่งไม่ฟ้องคดี เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่แกนนำผู้สั่งการการชุมนุม

       หากจะย้อนเวลากลับไปทบทวนเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม  กปปส. จะพบว่ามีดารา นักแสดงชื่อดัง เกือบ 30 คน เข้าร่วมการเดินขบวนประท้วง อาทิ “นก” ฉัตรชัย- สินจัย เปล่งพานิช ,“ออฟ” พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ,“อิง” อชิตะ ปราโมช ณ อยุธยา, “ตู่” นพพล โกมารชุน ,“โตโน่” ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ “แตงโม” ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ,ณัฐ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ,“หมอก้อง” พ.ต.นพ.สรวิชญ์ สุบุญ ,“อ่ำ” อัมรินทร์ นิติพน ,“ดีเจเปิ้ล” หัทยา วงศ์กระจ่าง ,“โย” ยศวดี หัสดีวิจิตร ซึ่งผู้ที่ขึ้นปราศรัยบนเวที กปปส. ทุกราย ล้วนมีชื่อเป็นผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 235/2560 ตกเป็นดารากบฏ  ร่วมกับนักการเมืองและกลุ่มคนดังอีกว่า 30 ชีวิต อาทิ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน, ชินวรณ์ บุญยเกียรติ ,พนิช วิกิตเศรษฐ์ ,สาธิต ปิตุเตชะ, ทศพล เพ็งส้ม, บุญยอด สุขถิ่นไทย ,องอาจ คล้ามไพบูลย์, นาถยา เบ็ญจศิริวรรณ, ไทกร พลสุวรรณ ซึ่งทุกรายมีบทบาทเข้าร่วมชุมนุมเป่านกหวีด ปราศรัยคัดค้านการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย

     จากนี้จึงต้องจับตาการทบทวนรูปคดีของดีเอสไอ จะเดินหน้าสั่งฟ้องฐานร่วมกันก่อกบฏ แบบเหมาเข่ง หรือจะแยกย่อยฟ้องโดยจำแนกข้อหาความผิดตามพฤติการณ์ของแต่ละคนหรือว่าสั่งไม่ฟ้อง