คอลัมนิสต์

จุดรั่วไหล แจกไฟฟรี..ท้าทายรัฐบาลใหม่

จุดรั่วไหล แจกไฟฟรี..ท้าทายรัฐบาลใหม่

27 ส.ค. 2562

โดย...   ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

 

          ปี 2562 คนไทยทำลายสถิติใช้ไฟสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ละบ้านควักกระเป๋าจ่ายบิลค่าไฟแทบหน้ามืด และในอนาคตค่าไฟจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เงินช่วยเหลือ “ค่าไฟฟ้าฟรี” ให้ผู้มีรายได้น้อย กลับมีจุดรั่วไหลที่รัฐบาลไม่ค่อยให้ความสนใจนัก นโยบายนี้ดูเหมือน “คนจนไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้จน” !

 

 

          ย้อนไปช่วงหน้าร้อนปี 2562 “การไฟฟ้าฯ” เปิดแถลงข่าว คนไทยใช้ไฟถึงจุดพีคสูงสุดอย่างที่เรียกว่า ทุบสถิติเก่า ทำสถิติใหม่ กันเกือบแทบทุกอาทิตย์ เริ่มจาก 20 เมษายน ระบบของ “กฟผ.” ได้บันทึกสถิติสูงสุดไว้ที่ 29,680 เมกะวัตต์ จากนั้นไม่กี่วัน 24 เมษายน เกิดสถิติใหม่ทะลุ 3 หมื่น คือ 30,120 และวันถัดไปพุ่งเป็น 31,677 สุดท้ายคือวันที่ 3 พฤษภาคม เกิดการทำสถิติใหม่ 2 ครั้งในวันเดียว รอบแรกตอน 13.36 น. เพิ่มเป็น 31,986 และรอบสองเวลา 14.27 น. สูงสุดที่ 32,273 เมกะวัตต์


          หากตัวเลขเพิ่มแบบนี้ทุกปี มีการประเมินว่าไม่กี่สิบปีข้างหน้าคนไทยอาจใช้ไฟฟ้ามากถึงวันละกว่า 5 หมื่นเมกะวัตต์ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรถไฟฟ้าสายต่างๆ โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงเครื่องใช้เทคโนโลยีที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในเกือบทุกครอบครัว

 

 

จุดรั่วไหล แจกไฟฟรี..ท้าทายรัฐบาลใหม่

 


          ยกตัวอย่างง่ายๆ ไม่กี่ปีที่แล้วบ้านคนชั้นกลางทั่วไปจะมีโทรทัศน์ หรือแอร์ แค่ 1–2 ตัว แต่ในวันนี้แทบทุกห้องนอน ห้องนั่งเล่นติดแอร์เย็นฉ่ำ ขณะที่บ้าน “ผู้มีรายได้น้อย” ก็มีเหตุให้ใช้ไฟไม่แพ้กัน เช่น โทรศัพท์มือถือ พัดลม คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่เสียบชาร์จไฟจนปลั๊กแทบระเบิด ล้วนแล้วแต่เป็นต้นเหตุให้ “จำนวนหน่วย” การใช้ค่าไฟฟ้าต่อหลังคาเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคนไทยจ่ายค่าไฟเฉลี่ยประมาณหน่วยละ 3.6 บาท


          จากผลการศึกษาของ "Apaitan and Wibulpolprasert" เมื่อปี 2561 วิเคราะห์ข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือนของผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 90–140 หน่วยต่อเดือน หรือประมาณ 3–4 หน่วยต่อวัน จ่ายค่าไฟฟ้าประมาณ 250–400 บาทต่อเดือน

 

 

 


          สำหรับชนชั้นกลางทั่วไปแล้ว บิลค่าไฟเดือนละ 200-400 บาท อาจไม่มากนัก แต่คนที่ว่างงานหรือมีรายได้เดือนละไม่เกิน 3,000 บาท ตามคุณสมบัติผู้ได้รับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือบัตรคนจนนั้น ถือว่าเป็นจำนวนถึงร้อยละ 10 ของรายได้ต่อเดือนเลยทีเดียว ซึ่งตอนนี้คนไทยมาลงทะเบียนรับบัตรฯ ไม่ต่ำกว่า 14.5 ล้านคน เฉพาะผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง คาดว่ามีมากกว่า 3 ล้านคน


          ดังนั้น นโยบาย “แจกค่าไฟฟรี” สำหรับผู้มีบัตรคนจนจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ค่าไฟจะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่หนักอึ้ง หมายถึงรัฐต้องควักกระเป๋าช่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันเงื่อนไขช่วยเหลือค่าไฟฟ้า มอบให้เฉพาะครอบครัวที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วย หมายถึงค่าไฟต่อบิลไม่เกิน 230 บาทต่อครัวเรือน ถ้าใช้ไฟเกินกว่านั้นก็ไม่ได้รับสิทธินี้


          แต่ปัญหาที่กำลังถูกเปิดโปงอยู่ขณะนี้ คือ “คนจนไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้จน” !

 

 

จุดรั่วไหล แจกไฟฟรี..ท้าทายรัฐบาลใหม่

 


          "ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ" นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผู้จัดทำ "โครงการประเมินนโยบายไฟฟ้าฟรีเพื่อผู้มีรายได้น้อย" วิเคราะห์จากงานวิจัยว่า มีการพบปัญหารั่วไหลของนโยบายไฟฟ้าฟรีหลายส่วนด้วยกัน เช่น ข้อมูลปี 2558 พบครอบครัวยากจนที่ไม่มีมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นของตัวเอง ทำให้ไม่ได้รับสิทธิ 1.5 หมื่นครัวเรือน เช่น ผู้เช่าบ้านคนอื่นอยู่ หรือผู้อาศัยในเพิงพักพิงชั่วคราว ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


          "นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องการกำหนดเงื่อนไขให้สิทธิไฟฟ้าฟรี เฉพาะบ้านที่ใช้น้อยกว่า 50 หน่วยต่อเดือน ทำให้มีการใช้บิลค่าไฟฟ้าของบ้านหลังที่ 2 มาเบิกแทน เฉพาะช่วงปี 2555–2558 พบเงินอุดหนุนรั่วไหลในเขต กฟภ. ไปยังบ้านหลังที่สองสูงถึงปีละ 830 ล้านบาท"


          นักวิชาการข้างต้นได้เสนอวิธีแก้ปัญหา จุดรั่วไหลของโครงการ “แจกไฟฟรี” โดยรัฐบาลชุดใหม่ควรเน้นนโยบายสร้างความเป็นธรรมด้านพลังงานในอนาคต ด้วยการอุดหนุนค่าไฟฟรีแบบเหมาจ่ายผ่านบัตรสมาร์ทการ์ดแทนการผูกสิทธิกับปริมาณใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยในแต่ละเดือน เพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรมใช้ไฟฟ้าบิดเบือน และควรมีกลไกระบุตัวผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับสิทธินี้จากข้อมูลแผนที่ความยากจนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พร้อมขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ช่วยกันระบุตัวคนมีรายได้น้อยจริงๆ ในพื้นที่

 

 

จุดรั่วไหล แจกไฟฟรี..ท้าทายรัฐบาลใหม่

 


          หมายความว่า ปัญหาตอนนี้คือมี “คนไม่จนจริง” มาลงทะเบียนเพื่อเอาสิทธิค่าไฟฟรีไปใช้กับบ้านหลังที่ 2 ทำให้งบประมาณช่วยเหลือไม่ตกไปอยู่กับคนที่ต้องการอย่างแท้จริง


          ขณะนี้กรมบัญชีกลางเตรียมตั้งเงินงบประมาณเบิกจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิใช้ไฟฟรีอย่างน้อย 145 ล้านบาท โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะจ่ายให้ผู้ใช้สิทธิจากการไฟฟ้านครหลวง 2,281 คน เป็นเงิน 3.5 แสนบาท จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 826,762 คน เป็นเงิน 144.5 ล้านบาท


          ล่าสุด วันที่ 20 กรกฎาคม 2562 “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พลังงาน ได้จัดประชุมระดมสมองร่วมกับข้าราชการระดับสูง ผู้บริหาร ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายของกระทรวงพลังงาน โดยกล่าวถึงความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่า อาจต้องพิจารณาปรับเงื่อนไขคุณสมบัติของ “ผู้มีสิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี” เนื่องจากเดิมมอบให้เฉพาะครอบครัวที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วย แต่พบว่ามีหลายครอบครัวที่มีฐานะยากจนแต่ใช้ไฟเกิน 50 หน่วย


          ถือเป็นแนวคิดน่าสนใจที่จะช่วยเหลือกลุ่มคนจนที่ใช้ไฟเกิน 50 หน่วย ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตตัวเมืองที่ขึ้นอยู่กับการไฟฟ้านครหลวง


          ขณะเดียวกัน “กระทรวงพลังงาน” ก็ควรระดมสมองคิดวิธีแก้ไข เงินรั่วไหลกว่า 830 ล้านบาท ที่กลุ่มคนไม่จนจริง แอบเอาไปให้บ้านหลังที่สองด้วย


          ถือเป็นเรื่องท้าทาย ทีมงานรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะจัดการ อุดจุดรั่วไหล “นโยบายแจกฟรี” เพื่อให้คนที่มีรายได้น้อยหรือคนยากจนจริงๆ ได้ประโยชน์สูงสุดอย่างไร เพราะในอนาคตค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ

 

 

 

จุดรั่วไหล แจกไฟฟรี..ท้าทายรัฐบาลใหม่

 


          เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศพร้อมใจกันเสียสละเงินภาษีช่วยคนกลุ่มนี้ แต่ไม่อยากให้เผาผลาญภาษีไปกับ “นโยบายให้ฟรีแต่ไม่มีประโยชน์” !?!