ไฟรั่วเพราะติดตั้งโคมไฟผิดวิธี-ไม่ได้มาตรฐานเทศบาลต้องรับผิด
ไฟฟ้ารั่วเพราะติดตั้งโคมไฟผิดวิธีและไม่ได้มาตรฐาน เทศบาลต้องรับผิด คอลัมน์... เรื่องน่ารู้วันนี้...กับคดีปกครอง โดย... นายปกครอง
แสงสว่างที่เพียงพอในยามค่ำคืนบนถนนสาธารณะเป็นเรื่องที่สำคัญ...เพราะนอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการใช้ทางของประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการช่วยป้องกันการก่ออาชญากรรมในเขตชุมชนเพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย
เรื่องน่ารู้ในวันนี้...เป็นกรณีมีผู้เสียชีวิตเพราะถูกกระแสไฟฟ้าดูด เนื่องจากมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลจากโคมไฟที่เทศบาลตำบลติดตั้งบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเห็นว่าสาเหตุของการเสียชีวิตเกิดจากการที่เทศบาลตำบลและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ทำหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยแก่ประชาชน จึงยื่นฟ้องเทศบาลตำบลและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดดังกล่าว
ประเด็นปัญหา คือโคมไฟที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้าต้นที่พิพาท อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหน่วยงานใด ระหว่างเทศบาลตำบลกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เสียชีวิตหรือไม่?
เรื่องนี้...เหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลากลางคืน ขณะที่ผู้เสียชีวิตได้นำขยะไปทิ้ง โดยมือไปสัมผัสบริเวณสายสลิงที่ยึดโยงเสาไฟฟ้าริมถนน กระแสไฟฟ้าที่รั่วจากโคมไฟซึ่งติดตั้งอยู่บนเสาไฟฟ้าจึงไหลลงมาตามสายสลิงดูดผู้ตาย โดยหลังจากเกิดเหตุได้มีการตรวจสอบพบว่าเทศบาลตำบลได้ดำเนินการติดตั้งโคมไฟดังกล่าวเอง โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อีกทั้งอุปกรณ์ที่ติดตั้งยังไม่ได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และดำเนินการติดตั้งไม่ถูกต้องตามแบบที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำหนด คือต้องไม่ติดตั้งทับจุดยึดโยงกับเสาไฟฟ้า
ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำพิพากษายกฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และให้เทศบาลตำบลรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย
เทศบาลตำบลอ้างว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการแก้ไขหรือรื้อถอนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้สายส่งหรือเสาไฟฟ้าที่มีลักษณะจะเป็นอันตรายต่อการส่งกระแสไฟฟ้า มิให้เกิดการรั่วไหล และเทศบาลตำบลได้ซื้อวัสดุโคมไฟฟ้าจากร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้าจึงเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน
คดีจึงมีประเด็นพิจารณาว่า เทศบาลตำบลได้กระทำละเมิดผู้เสียชีวิตและจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิตหรือไม่?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าเมื่อผู้ถูกฟ้องคดี (เทศบาลตำบล) ได้ติดตั้งโคมไฟฟ้าโดยไม่ได้ขออนุญาตหรือประสานงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และดำเนินการติดตั้งไม่ถูกต้องตามแบบที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำหนด อีกทั้งโคมไฟฟ้าที่ติดตั้งยังเป็นยี่ห้อที่ยังไม่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดวงโคมไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างบนถนนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหลผ่านก้านโคมไฟฟ้าและแป้นยึดโคมไฟฟ้าไปยังสายสลิงที่ยึดเสาไฟฟ้า เป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งนำมือไปสัมผัสสายสลิงถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนเสียชีวิต
การเสียชีวิตของผู้ตายจึงเกิดจากการที่เทศบาลตำบลซึ่งมีหน้าที่จัดให้มีและบำรุงรักษาไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ละเลยต่อหน้าที่ไม่ควบคุมดูแล ตรวจสอบ รักษาและซ่อมแซมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของตนให้มีความปลอดภัยอยู่เสมอ อันเป็นการกระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิตในผลแห่งการกระทำละเมิดดังกล่าว
กรณีนี้จึงถือเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญสำหรับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการติดตั้ง ดูแลรักษา และตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าบริเวณสาธารณะ ที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้เพราะหากมีการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นก่อนดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าใดๆ จะต้องประสานงานกับการไฟฟ้าเพื่อขออนุญาตและใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมทั้งต้องติดตั้งให้ถูกต้องตามรูปแบบที่การไฟฟ้ากำหนดเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเช่นคดีนี้ ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบย่อมไม่พ้นความรับผิดดังกล่าว
(ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดของคดีได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 831/2561 และปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 รวมทั้งสืบค้นบทความเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-จุดรั่วไหล แจกไฟฟรี..ท้าทายรัฐบาลใหม่
-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมแสดงพลัง สร้างเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริต
-EVAT ชง 8 ข้อ เเนะรัฐควรจริงจัง!!! ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า
-กล่องประหยัดไฟฟ้านวัตกรรมแหกตาเบอร์5