สัมภาษณ์พิเศษ พล.ท.คงชีพ โฆษกกลาโหม กับพ.ร.บ.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร
กลาโหม ตั้งรับ พ.ร.บ.เลิกเกณฑ์ทหาร ไม่ปิดโอกาสแต่ยังไม่ตอบโจทย์ ยกสภากลั่นกรอง อย่ากระทบมั่นคง ชี้ฝึกคนไปรบให้ชนะ อย่าส่งคนไปตาย
โดย จิตตราภรณ์ เสนวงค์
กองทัพเตรียมแผนตั้งรับอย่างไร เมื่อฝ่ายค้านเตรียมบรรจุ พ.ร.บ.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เสนอเข้าสภาสมัยประชุมหน้า หวังผลักดันเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกำลังพลครั้งใหญ่โดยเปลี่ยนมาใช้รูปแบบสมัครใจ ยกเว้นช่วงสงครามต้องใช้วิธีเกณฑ์ คุณสมบัติของผู้สมัครต้องจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย ฝึก 5 ปีและสามารถสอบเลื่อนตำแหน่งตั้งแต่ยศนายสิบไปจนถึงพันโท เพิ่มเงินเดือนสวัสดิการ ภายใน 6 ปี กองทัพจะมีกำลังรบที่เข้มแข็งครบ 10 ปี จะมีทั้งกำลังรบและกำลังสำรองที่เข้มแข็ง
“คมชัดลึกออนไลน์” สัมภาษณ์พิเศษ พล.ท.คงชีพ ตันตระวานิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ถึง พ.ร.บ.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ของฝ่ายค้านไว้อย่างน่าสนใจ
พล.ท.คงชีพ : กองทัพรับฟังทุกความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และเพื่อประเทศชาติ ทั้งนี้ พรบ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ต้องใช้กลไกทางสภา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายตัว แต่ก็สามารถทำได้ถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและกองทัพ
พล.ท.คงชีพ ตันตระวานิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม
เรามองว่าเป็นเจตนาดีที่ทำให้กองทัพมีความเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบงานกำลังพลให้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องรับฟังเสียงของประชาชน รวมถึงกองทัพเนื่องจากในฐานะที่กองทัพเป็นหน่วยรับผิดชอบและหากมีความจำเป็นยกเลิกเกณฑ์ทหารจริงๆ การเปลี่ยนผ่านตรงนี้จะต้องไม่กระทบระบบงานความมั่นคงและงานกำลังพลของกองทัพในภาพรวม
อยากจะเรียนว่า กองทัพอยู่ระหว่างการปฏิรูป เราปรับขนาดกองทัพให้เล็กลงมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องระบบงานกำลังพลใน 2 ระบบ คือ การนำระบบกำลังสำรองมาใช้จะเริ่มปี 2563 นี้ และระบบข้าราชการพลเรือนของกระทรวงกลาโหม เพื่อลดขนาดกำลังพลให้เหมาะสมซึ่งจะลดภาระเรื่องงบประมาณ ผูกพันระยะยาว ในขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพอาวุธยุทโธปกรณ์ ให้ทันสมัย เพื่อรองรับภัยคุกคามขั้นต่ำ หรือในเกณฑ์เสี่ยงที่จะรับได้ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณ
ส่วนระบบการเกณฑ์ทหารในปัจจุบันจากกฎหมายหรือ พ.ร.บ.การรับราชการทหาร กำหนดไว้ว่า ชายไทยทุกคนต้องรับใช้ชาติ ซึ่งถือเป็นความต้องการนำกำลังพลไปใช้งานของกระทรวงกลาโหม โดยกระทรวงมหาดไทย มีส่วนร่วมจัดคนเข้าระบบเพื่อเข้ามาสู่การเกณฑ์ทหาร มารับใช้ชาติด้วย เพื่อให้ชายไทยทุกคน หมุนเวียนเข้ามาดูแลแผ่นดินเกิดและมีความรับผิดชอบต่องานด้านความมั่นคงรวมถึงประเทศชาติและประชาชน โดยใช้ระบบการเข้ารับราชการทหารแบบผสมผสาน
โดยแบ่งการตรวจเลือกการเกณฑ์ทหารเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ต้องการเป็นทหารโดยสมัครใจ มีจำนวน 40-45 % ของความต้องการในแต่ละปี 2. กลุ่มที่ถือเป็นหน้าที่ชายไทยที่ต้องทำตามกฎหมายในการตรวจเลือก หรือ การจับใบดำใบแดง และ 3. กลุ่มที่ไม่ต้องการรับราชการทหารแม้จะมีแรงจูงใจมากเท่าไหร่ก็ตาม
อย่างไรก็ตามระบบการเกณฑ์ทหารกองทัพ กำลังพิจารณาควบคู่ไปกับระบบกำลังสำรอง เช่นนักศึกษาวิชาทหาร หรือ รด.ที่เปิดรับสามารถใช้สิทธิ์ในเรื่องการเรียนหลักสูตรวิชาทหาร เพื่อลดเวลาเรียนหรือได้รับการยกเว้นเพื่อไม่ต้องรับการตรวจเลือกแต่จะเข้าไปอยู่ในระบบของกำลังสำรองที่กองทัพดำเนิน
“สิ่งที่พรรคการเมืองเสนอเพื่อให้กองทัพเข้มแข็ง หรือมีกำลังพลที่เหมาะสมตรงกับสิ่งที่กองทัพกำลังปฏิรูปอยู่แล้ว แต่โดยภาพรวมก็ต้องมาคุยกันรับฟังและทำความเข้าใจกับระบบงานด้านความมั่นคงให้มากขึ้น ไม่ใช่จู่ๆจะมาขอยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเราไม่อยากที่จะให้ทำเพื่อเอาใจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่อยากให้ทำด้วยความรอบคอบ มีเหตุผล ความจำเป็นและไม่กระทบต่อระบบงานความมั่นคงในภาพรวม เพราะนี่คือผลประโยชน์ของชาติและเราไม่คิดจะเอาชนะคะคานกับใคร”
พล.ท.คงชีพ ยังอธิบายให้เห็นภาพงานด้านความมั่นคงแบบง่ายๆว่า สิ่งไหนที่ประชาชน สังคม และประเทศรู้สึกว่าไม่มั่นคงนั้น คืองานด้านความมั่นคง ดังนั้นงานด้านความมั่นคงของทุกประเทศมีหลายมิติ ทั้งงานด้านการรบ และงานที่ไม่ใช่การรบ โดยทุกประเทศใช้กองทัพและทรัพยากรของกองทัพบุคลากรเครื่องไม้เครื่องมือให้เกิดประโยชน์และครอบคลุมการทำงานด้านความมั่นคงในทุกมิติอยู่แล้ว
ในส่วนการเพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการหรือเพิ่มทุนให้ทหารเรียนจบปริญญาตรี ตามที่ฝ่ายค้านเสนอ พล.ท.คงชีพ เห็นด้วยว่า เป็นเรื่องดี เพราะเป็นแรงจูงใจที่จะทำให้คนสมัครเข้าเป็นทหารมากขึ้น ทำให้กำลังพลมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“แต่ก็ต้องมาดูว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่และเป็นภาระงบประมาณระยะยาวหรือไม่ และระบบดังกล่าวทำให้กำลังพลของกองทัพมีความพร้อมในการปฏิบัติการรบได้จริงหรือไม่ หรือจะใช้การเกณฑ์ทหารเฉพาะในยามสงครามซึ่งกองทัพก็เคยใช้การเกณฑ์ทหารเฉพาะในยามสงครามแล้ว แต่ปรากฏว่ากำลังพลไปสูญเสียจำนวนมากเนื่องจากเราไม่มีความพร้อมในการฝึกหรือเตรียมคนให้รองรับการเข้าไปเท่ากับเรานำคนไปตายในสงคราม”
พล.ท.คงชีพ : ย้ำว่า พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ของพรรคการเมือง จะต้องพิจารณาร่วมกันเพื่อให้ครอบคลุมทั้งความเสี่ยงด้านความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศ ตลอดจนถึงงบประมาณที่จะต้องใช้ ถ้าเราสามารถสร้างระบบงานด้านความมั่นคงให้กับประชาชนทุกคนในชาติตระหนักรู้ในภัยคุกคามและมีส่วนร่วมในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างจริงจังแล้ว เราก็เชื่อว่าระบบที่เรากำลังจะร่วมกันคิด ร่วมกันทำ มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบอะไร แต่ประเทศไทย ต้องมั่นคงปลอดภัย โดยเฉพาะผลประโยชน์ของชาติและประชาชนจะต้องได้รับการคุ้มครอง
" ยืนยันว่า ในส่วนตัวไม่ได้มองว่า พรบ.ยกเลิกเกณฑ์ทหารพรรคการเมือง มีช่องโหว่ แต่เชื่อว่าทุกอย่างไม่มีอะไรตายตัว สภาพแวดล้อมสังคมที่เปลี่ยนไปรวมถึงสถานการณ์ภัยคุกคามด้านความมั่นคงต้องปรับเปลี่ยนไปหมด แต่จะปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างการเปลี่ยนผ่านและกระทบต่อระบบงานความมั่นคงหรือฐานข้อมูลกำลังพลที่ไปเชื่อมโยงกันทางระบบกำลังสำรอง ระบบการเกณฑ์ทหาร ระบบการเตรียมพร้อมของชาติ
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังพรรคการเมือง ชูแคมเปญยกเลิกการเกณฑ์ทหารส่งผลกระทบต่อกองทัพอย่างไรบ้าง?
พล.ท.คงชีพ : มีความพยายามทำลายภาพลักษณ์ของกองทัพและนำคลิปเก่าๆที่ทหารโดนทำร้ายเพื่อให้เห็นว่าการเกณฑ์ทหารเข้ามารับราชการทหารเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ความจริงแล้วการเกณฑ์ทหารเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการพัฒนาคน เนื่องจากคนที่เข้ามารับการตรวจเลือกทหารส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ที่ขาดโอกาสทางสังคมเป็นจำนวนมาก โดยคนที่มีโอกาสสามารถที่จะเลือกเรียน รด. หรือระดับมัธยมแล้วเข้าไปต่ออุดมศึกษา แต่ส่วนใหญ่คนที่เข้ามาเป็นทหารโอกาสในการศึกษาและทางสังคมค่อนข้างน้อย ซึ่งเราก็นำคนเหล่านี้เข้ามาฝึกฝนระเบียบวินัยให้ความรู้ในเรื่องของอาชีพ
นอกจากนั้นนำเข้ามาสู่ระบบการศึกษาเพื่อให้เขาเหล่านั้นมีคุณวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น มีอาชีพเพื่อไปประกอบอาชีพได้อย่างสุจริตมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและจิตสาธารณะ นั่นคือสิ่งที่กองทัพกำลังพัฒนา และการที่จะให้คนสมัครใจเข้ามาเป็นทหาร จะต้องไม่พูดทำลายเกียรติภูมิของทหาร ทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีเกียรติ สังคมจะต้องช่วยกันหากไม่อยากให้มีการเกณฑ์ทหาร ก็ต้องให้เกียรติคนเหล่านั้น และยอมรับว่าเขาเสียสละ ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวม
มีคนรุ่นใหม่บางส่วน เห็นด้วยกับ การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร?
พล.ท.คงชีพ : เรื่องความสมัครใจต้องดูเรื่องความพร้อมด้วย วันนี้มีความพร้อมของคนที่สมัครใจเข้ามาเป็นทหารหรือไม่ ที่เสนอมาทั้งหมดในเรื่องการเพิ่มเงินเดือน สวัสดิการ เป็นเรื่องดี แต่ทำได้มากน้อยแค่ไหน เกิดภาระงบประมาณต่อประเทศชาติ ต้องดูภาพใหญ่ การที่จะไปด่วนสรุปว่าดีหรือไม่ดีต้องศึกษาให้รอบคอบเพราะเรื่องทั้งหมดเกี่ยวข้องกับความมั่นคง
แต่ตนมองว่าการใช้กลไกในสภาร่วมกันพิจารณาน่าจะเกิดความรอบคอบ แต่การไปพูดนอกเวทีสภาเพื่อหาเสียง ผมมองว่าอะไรที่เป็นเรื่องของความมั่นคงควรอยู่ในระบบที่ควรไปพูดคุยกันในกลไกสภาให้เรียบร้อย ไม่ใช่หยิบยกนำมาหาเสียง หรือหาประโยชน์
พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร สามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่?
พล.ท.คงชีพ : ทุกอย่างเป็นไปได้หมด แต่ขอให้ทำด้วยเจตนาดี ไม่มีอคติ และอยากจะให้ระบบงานความมั่นคงมีกำลังพลที่เพียงพอเหมาะสมในการดูแลความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ
แต่หากสิ่งที่ทำไป ดำเนินการด้วยความเร่งรัดไม่ศึกษาให้รอบคอบ จะกระทบงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับและไปกระทบงานด้านความมั่นคงอื่นๆที่จะต้องใช้กำลังพล รวมถึงการพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชน
หาก พ.ร.บ.การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ผ่านสภา กองทัพก็พร้อม ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ใช่หรือไม่?
พล.ท.คงชีพ : เราพร้อมดำเนินการในทุกรูปแบบอยู่แล้ว ขอให้เป็นกฎหมายที่ผ่านสภาที่ถูกต้อง กองทัพก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน
กระทรวงกลาโหมได้เตรียมข้อมูลเพื่อสนับสนุน ให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงข้อมูลหาก พ.ร.บ.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เข้าสภา?
พล.ท.คงชีพ : สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหมเตรียมข้อมูลเอาไว้หมดแล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลยึดตามความเป็นจริงในเรื่องของการปฏิรูประบบงานของกองทัพโดยเฉพาะระบบงานกำลังพลไปชี้แจงในสภาว่าสิ่งที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหารว่ากองทัพทำอะไรอยู่แล้ว และทำไปแค่ไหนและระบบตรงนี้จะไปสอดรับกับแผนงานและข้อเสนอของพรรคการเมืองในอนาคตเมื่อไหร่ อย่างไร และกองทัพ ก็คงจะต้องนำ ข้อเสนอของพรรคการเมืองมาศึกษาด้วย สิ่งใดที่เป็นเหตุผลและทำได้ ก็ถือเป็นเรื่องดี สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ต่อกองทัพหรือกำลังพล ก็เป็นเรื่องที่ดี
พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร พรรคการเมือง หากผ่านสภา จะใช้เวลา 6ปีที่จะทำให้กำลังรบเข้มแข็ง และ 10ปีจะทำให้กำลังรบและกำลังสำรองเข้มแข็ง แผนปรับโครงสร้างของกองทัพ
มีระยะเวลาระบุไว้หรือไม่ ?
พล.ท.คงชีพ : ปัจจุบันนี้กองทัพมีความเข้มแข็งอยู่แล้วแต่ความเข้มแข็งของกองทัพต้องดูในระดับที่ไม่ได้มากจนเกินไป ความเข้มแข็งที่เหมาะสม มีขนาดกองทัพที่เหมาะสม มีกำลังพลเพียงพอ
ยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อรับมือกับภัยคุกคามขั้นต่ำของภูมิภาคหรือภัยคุกคามขั้นต่ำที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงที่เรายอมรับได้ในภูมิภาค คือเป็นเรื่องที่กองทัพกำลังดำเนินการอยู่
“เราไม่ได้สร้างความเข้มแข็งของกองทัพที่เวอร์เกินไปหรือสะสมยุทโธปกรณ์ที่มากเกินไป แต่เราดูในจุดที่เหมาะสมกับภัยคุกคามและสถานภาพงบประมาณภายในประเทศและเราจะต้องไม่ถูกท้าทายริดรอนจากภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งกองทัพจะต้องรักษาความสมดุลตรงนี้ให้ได้”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ซึ่งเป็นอดีตทหาร จะสามารถชี้แจงสภาให้เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงกองทัพที่กำลังทำอยู่หรือไม่ ?
พล.ท.คงชีพ : ทั้ง 2 ท่านใจกว้าง และรับฟังเหตุผลและข้อเสนอเพราะเป็นการทำงานการเมืองที่มีหลายพรรคการเมือง ข้อเสนอข้อคิดเห็นอะไรที่เป็นกฎหมาย เพื่อส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชนและไม่กระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคง รัฐมนตรีทั้ง 2 ท่าน รับฟัง
กองทัพจะยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้เมื่อไหร่?
พล.ท.คงชีพ : ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเพราะขนาดนี้เราใช้ระบบกำลังสำรอง หมายความว่า ผู้ที่ได้รับการฝึก รด.มา ก็อยู่ในบัญชีกำลังสำรอง
หากเราจะใช้กำลังสำรองให้เป็นประโยชน์ นั่นหมายความว่า เราจะต้องมีแรงจูงใจเพียงพอที่จะดึงให้คนเหล่านี้กลับเข้ามารับราชการทหาร ด้วยความสมัครใจ มีสวัสดิการที่เพียงพอ เงินเดือนค่าตอบแทน ก็มีโอกาสเป็น ทุกอย่างเป็นไปได้ แต่เราไม่อยากให้มองในเรื่องของค่าตอบแทนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการรับใช้ชาติถือเป็นเรื่องของจิตสำนึกในการดูแลงานด้านความมั่นคงและเป็นเรื่องของความรับผิดชอบและความศรัทธาของคนที่มีต่อประเทศชาติของตัวเอง
หากเราใช้ในเรื่องค่าตอบแทนหรือเงินอย่างเดียวการสร้างจิตสำนึกให้คนมีความสำนึกดูแลชาติบ้านเมืองก็จะลดน้อยลงไป ทุกคนจะมองในเรื่องของผลประโยชน์ของตัวเองหรือสิ่งที่ตัวเองจะได้รับ แทนที่จะกลับไปมองในเรื่องของสำนึกความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นคนไทย
หากเป็นเช่นนี้ ความหวังของคนรุ่นใหม่ที่อยากให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารเท่ากับเป็นศูนย์หรือไม่?
พล.ท.คงชีพ :จะเอาความรู้สึกของใคร เป็นตัวชี้วัด ความรู้สึกของคนวัยรุ่น หรือเหตุผลความจำเป็น ซึ่งโดยธรรมชาติคนเราจะมองผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว อยากให้มองความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ หากมองเรื่องผลประโยชน์ความสบายส่วนตัว ไม่มีใครที่อยากจะมาลำบาก
“ ไม่ว่าจะใช้ระบบอะไรก็แล้วแต่ หากระบบนั้นสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสำนึกตระหนักถึงภัยคุกคามหรือมีส่วนร่วมแก้ปัญหาที่จะกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ต่อประเทศชาติระบบนั้นก็ใช้ได้แล้วอยากให้มองตรงนี้ อยากให้สร้างสำนึกความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้เข้าใจระบบงานความมั่นคง ทำให้ประเทศชาติเข้มแข็งและแข็งแรง การยกเลิกการเกณฑ์ทหารยังไม่ตอบโจทย์ และเป็นเพียงวิธีการหนึ่งอยากให้มองงานด้านความมั่นคงครอบคลุมในทุกมิติและเกี่ยวข้องกับทุกคน อะไรที่ประชาชน สังคม รู้สึกไม่มั่นคง นั่นแหละคืองานด้านความมั่นคง "
พล.ท.คงชีพ กล่าวทิ้งท้ายและให้ข้อคิดกับคนรุ่นใหม่ ว่า สิ่งที่กองทัพทำอยู่ คือ การเตรียมกำลังในสภาวะปกติ เพื่อใช้กำลังในสภาวะที่เกิดความขัดแย้งและสงครามให้กองทัพมีชัยชนะ กำลังพลกับยุทโธปกรณ์จะต้องได้รับการฝึกผสมผสาน คงไม่มีใครมาบอกล่วงหน้าว่าจะเกิดสงคราม การเกณฑ์คนไปจับปืนแล้วออกไปรบจำเป็นต้องใช้เวลาฝึกฝน เพราะการรบก็คือการส่งคนไปเพื่อชนะศึกสงครามไม่ใช่การส่งคนไปตาย ดังพระราชดำรัสของ รัชกาลที่ 6 ที่มีใจความว่า “แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ”