การดำเนินการทางวินัยไม่ผูกพันกับความเห็นของพนักงานอัยการ
เรื่องน่ารู้ว่านนี้...กับคดีปกครอง โดย... นายปกครอง
“บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน” หน้าที่ที่หลายท่านคงทราบกันดีว่าคงไม่พ้นอาชีพ “ตำรวจ” ซึ่งถือเป็นผู้ธำรงรักษาและเป็นผู้ใช้บังคับกฎหมาย ฉะนั้น ข้าราชการตำรวจจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ประพฤติปฏิบัติตนฝ่าฝืนหรือกระทำผิดกฎหมายเสียเอง
ข้าราชการทุกประเภทรวมทั้งข้าราชการตำรวจ หากกระทำการใดๆ ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยเฉพาะที่มีโทษทางอาญาด้วยแล้ว แม้บางกรณีอาจไม่ต้องรับโทษทางอาญาเพราะศาลยกฟ้องจากเหตุมีข้อสงสัยในพยานหลักฐาน หรือพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องเพราะเหตุพยานหลักฐานไม่เพียงพอก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดทางวินัยได้ หากมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังได้ว่ากระทำผิดวินัย โดยเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรืออาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ดังเช่น “เรื่องน่ารู้วันนี้ ... กับคดีปกครอง” ที่หยิบยกมาเป็นอุทาหรณ์ในฉบับนี้... กรณีข้าราชการตำรวจมีพฤติกรรมเสพยาเสพติด ทั้งที่ปฏิบัติงานด้านการต่อต้านและปราบปรามยาเสพติดโดยตรง
ซึ่งเหตุเกิดเมื่อครั้งผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจ สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนภูธรจังหวัดจับกุมในขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวกำลังจับกุมนายอ่ำผู้ต้องหายาเสพติดตามหมายจับของศาล แต่พบผู้ฟ้องคดีอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยและสังเกตเห็นผู้ฟ้องคดีมีอาการมึนเมาคล้ายเสพยาบ้า เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจัดเก็บปัสสาวะไปตรวจแล้วพบว่าปัสสาวะเป็นสีม่วง
ผู้บังคับการฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง โดยผู้บังคับการฯ พิจารณาผลการสอบสวนแล้วเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีเสพยาเสพติด(ยาบ้า)จริง แม้ภายหลังจะปฏิเสธว่าดื่มน้ำในกระติกน้ำที่ผสมยาบ้าในบ้านเกิดเหตุ แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมายืนยันสนับสนุน การกระทำของผู้ฟ้องคดีถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงมีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง แต่อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการอุทธรณ์ ทำการแทนคณะกรรมการข้าราชการตำรวจมีมติยกอุทธรณ์และให้เพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีจากปลดออกเป็นไล่ออกจากราชการ ผู้บังคับการฯ จึงมีคำสั่งเพิ่มโทษตามมติของอนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจฯ
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ตนไม่ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากพนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว คำสั่งเพิ่มโทษเป็นการวินิจฉัยให้ผิดไปจากข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ยุติไปแล้วและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งของผู้บังคับการฯ ดังกล่าว
คดีมีประเด็นน่าสนใจว่า การที่ผู้บังคับการฯ มิได้นำความเห็นของพนักงานอัยการที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดีในคดีอาญาข้อหาเสพยาเสพติดไปประกอบการพิจารณาการลงโทษทางวินัยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า การสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการด้วยเหตุผลว่าคดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง กรณียังถือไม่ได้ว่ามีการพิสูจน์ความผิดของผู้ฟ้องคดีและศาลได้มีคำพิพากษาในเนื้อหาของคดีว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้กระทำความผิดที่มีโทษทางอาญาหรือไม่ ประกอบกับไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาต้องพิจารณาดำเนินการทางวินัยโดยต้องผูกพันไปตามความเห็นของพนักงานอัยการ ทั้งในการสอบสวนทางวินัยมีกฎหมายและกฎกำหนดอำนาจหน้าที่ วิธีการสอบสวน และการพิจารณาโทษทางวินัยไว้เป็นเอกเทศต่างหากจากการดำเนินคดีอาญา ดังนั้นในการดำเนินการทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนตลอดจนการพิจารณาและใช้ดุลพินิจของผู้บังคับการฯ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในการออกคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดี จึงไม่จำต้องพิจารณาตามความเห็นของพนักงานอัยการแต่อย่างใด
ประเด็นที่พิจารณาต่อมา คือ คำสั่งเพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีจากปลดออกเป็นไล่ออกจากราชการ ถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารบันทึกการจับกุมและบันทึกยินยอมให้ตรวจปัสสาวะว่าผู้ฟ้องคดียินยอมให้ตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด และได้รับสารภาพว่าได้เสพยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน(ยาบ้า)มาก่อนจำนวน 2 เม็ดจริง โดยลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานขณะถูกตรวจค้นและจับกุมตัวด้วยความยินยอมและสมัครใจ ปราศจากการบังคับ ขู่เข็ญใดๆ ประกอบกับเอกสารรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่แสดงผลว่าพบเมทแอมเฟตามีนในตัวอย่างปัสสาวะของผู้ฟ้องคดี จึงบ่งชี้ว่ามีสารเสพติดอยู่ในร่างกายของผู้ฟ้องคดีอันเกิดจากการเสพยาเสพติดดังกล่าว เมื่อตำรวจชุดจับกุมปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่ปรากฏว่าขณะถูกจับกุม ผู้ฟ้องคดีได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ติดตามและสังเกตพฤติกรรมของนายอ่ำในการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยการจับกุมกรณีนี้เป็นการจับกุมนายอ่ำ ไม่ได้เตรียมการที่จะจับกุมผู้ฟ้องคดีมาก่อนและผู้ฟ้องคดีก็มิได้แสดงพยานหลักฐานใดเพื่อยืนยันว่าถูกกลั่นแกล้ง
กรณีจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์เสพยาเสพติดให้โทษ เป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 79 (5) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งเพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีจากปลดออกเป็นไล่ออกจากราชการ จึงถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. 32/2562)ด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. 32/2562)
คดีนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีหน้าที่หลักในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดว่า จะต้องไม่ประพฤติตนหรือมีพฤติการณ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้า ผู้ร่วมขบวนการ หรือผู้เสพก็ตาม เพราะแม้บางกรณีอาจจะไม่ต้องรับโทษทางอาญา เพราะพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องดังเช่นอุทาหรณ์ข้างต้น แต่พฤติการณ์ดังกล่าวอาจถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ที่จะถูกลงโทษถึงขั้นปลดออกหรือไล่ออกจากราชการได้ครับ หากมีข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่ากระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง!!
(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นบทความเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)