บุหรี่ไฟฟ้า ทางเลือก-กับดักสิงห์อมควัน
บุหรี่ไฟฟ้า ทางเลือก-กับดักสิงห์อมควัน
บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ช่วยเลิกบุหรี่ แต่ชวนให้โจ๋อยากลองและนำไปสู่การสูบ บุหรี่มวน มากกว่า ?
ในสหรัฐอเมริกา สถิติการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มนักเรียนมัธยมขยายตัวถึง 74% งานวิจัยที่ศึกษาติดตามเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าระยะยาวพบว่าผู้ที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุ 14-30 ปี มีโอกาสที่จะเริ่มสูบบุหรี่ 30.4% ขณะผู้ไม่เคยใช้มีแนวโน้มที่จะสูบ 7.9%
นอกจากนี้ผู้ที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสที่จะเริ่มต้นสูบบุหรี่ชนิดอื่นๆ มากกว่าผู้ที่ไม่เคยลองใช้เกือบ 4 เท่า
ส่วนที่ไต้หวัน นักเรียนมัธยมที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มเริ่มสูบบุหรี่ในภายหลังมากกว่าผู้ที่ไม่เคยใช้ และมีแนวโน้มที่จะใช้ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มจาก 0.9% ในปี 2557 เป็น 1.6% ในปี 2559
ที่สำคัญยังทำให้มีโอกาสที่จะสูบ กัญชา มากกว่าคนที่ไม่เคยใช้ 3.47 เท่า ยิ่งอายุน้อยและใช้ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและสูบบุหรี่ก็ยิ่งมีแนวโน้มสูบกัญชามากขึ้น ที่ไต้หวันจึงห้ามโฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่ปราศจากนิโคตินเป็นอุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่ ถึงกระนั้นก็ยังมีช่องว่างของกฎหมายทำให้เยาวชนยังหาซื้อบุหรี่ไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะทางแหล่งซื้อขายออนไลน์เช่นเดียวกับไทย
ข้อมูลเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ของเด็กไทย เพราะแม้ว่าในบ้านเราบุหรี่ไฟฟ้าถูกจัดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่กลับเป็นสินค้าที่หาซื้อได้ไม่ยากและกลายเป็นแฟชั่นไปในที่สุด
*โต้แหลกแลกคนละหมัด!
ในประเทศไทย การให้ความรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ค่อยแพร่หลายเหมือนข่าวดาราแย่งผัวแย่งเมีย เราจึงมักเข้าใจมาตลอดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดสาร นิโคติน ใครอยากเลิกบุหรี่ก็หันมาสูบเจ้านี่ซะ ปอด จะได้สะอาดขึ้น ?
ความเข้าใจแบบนี้ทำเอาเหล่าคุณหมอปวดตับ ! สิงห์อมควันคิดกันแบบนี้ก็เท่ากับติดกับดักกลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่ ที่พยายามสร้างภาพด้วยการออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อ ยาสูบไร้ควัน
ฝ่ายไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าอ้างว่าบริษัทผู้ผลิตใช้เทคนิคสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการใช้งานวิจัยที่สนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่เอง สร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ไม่มีอันตราย เพราะไม่ทำให้เกิดควัน ซึ่งเป็นเรื่องหลอกลวง
บริษัทบุหรี่ซึ่งใช้การเคลื่อนไหวผ่านเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ยังมีความพยายามนำเสนอข้อมูลแก่ภาครัฐเพื่อเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ทบทวนประกาศห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า แล้วหันมาใช้มาตรการควบคุมการบริโภคภายในประเทศ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ แทน
ขณะที่เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ได้ชี้ผลเสียจากมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าว่า เป็นมาตรการที่ปิดกั้นโอกาสของผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่า และยังมีปัญหาตามมาคือ รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตไม่ได้ ที่สำคัญกระทรวงสาธารณสุขก็เสียโอกาสในการลดโรคจากพิษภัยของบุหรี่มวน และไม่สามารถป้องกันเยาวชนจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้จริง
อย่างไรก็ดี ข้อมูลเหล่านี้ถูกโต้แย้งจากวงการแพทย์ นักวิชาการ และเอ็นจีโอด้านสุขภาพหลายกลุ่ม
ในการประชุมนำเสนอการขับเคลื่อนเชิงนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รายงานสถานการณ์ควบคุมยาสูบโลกประจำปี 2562 ที่องค์การอนามัยโลกเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 (WHO report on the global tobacco epidemic 2019: Offer help to quit tobacco use) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้งหรือแบบเติมน้ำยาล้วนมีอันตรายทั้งสิ้น
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ย้ำว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินที่เป็นสารเสพติดเป็นส่วนประกอบสำคัญและพบมีปริมาณสูง เป็นอันตรายต่อผู้เสพโดยเฉพาะเด็ก วัยรุ่น และสตรีมีครรภ์
ทั้งยังไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยทำให้เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ ซ้ำหลักฐานบางชิ้นยังแสดงว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้การเลิกสูบบุหรี่เป็นไปได้ยากขึ้น จึงไม่แนะนำให้ผู้สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ และการเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่ธรรมดามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่ถือว่าเป็นการเลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากยังก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อสุขภาพผู้สูบ สังคมและคนรอบข้าง
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกชี้ชัดว่า ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าในตลาดมากกว่า 95% มีนิโคตินเป็นส่วนผสมอยู่ในสารน้ำ ซึ่งทำให้ผู้สูบติดสารนิโคตินได้
พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แนะนำว่า เลิกคิดซะเถอะที่จะอาศัยบุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยให้เลิกบุหรี่ เพราะมีโอกาสน้อยมาก ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการเลิกบุหรี่ได้เพียง 5-9% และหากคนที่สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่เทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ โอกาสเลิกบุหรี่ยังลดลงไปกว่าเดิมถึง 27%
พญ.นภารัตน์ เตือนด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้านอกจากมีนิโคตินที่มีอานุภาพการเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน เพราะผู้เสพสามารถเพิ่มสารนิโคตินในการสูบแต่ละครั้งได้สูงกว่าบุหรี่ธรรมดา 3-10 เท่า ยังทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูง ความดันโลหิตสูง มีภาวะหลอดเลือดสมองหดตัว เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง สารบางชนิดซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของตัวทำละลายของเหลวที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อโดนความร้อนเป็นไอน้ำจะแปรเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งได้
ภญ.ดร.อรลักษณ์ พัฒนาประทีป คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยข้อมูลความสูญเสียเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่าเสียโอกาสในการเกิดโรคต่อปีเท่ากับ 534,571,710 บาท ซึ่งเป็นความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์และสุขภาพของเยาวชนและประชาชนไทยที่ต้องแบกรับภาระจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์
กระนั้น แม้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่ในทางปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมมากนัก เนื่องจากผู้ค้าใช้สื่อออนไลน์ในการกระจายสินค้า ซึ่งพบมากที่สุดในเฟซบุ๊ก รองลงมาคือไลน์ และเว็บไซต์, อินสตาแกรม และทวิตเตอร์
ข้อมูลเหล่านี้มาจากผลการศึกษาสถานการณ์การแพร่กระจายผลิตภัณฑ์ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ในช่องทางการสื่อสารออนไลน์ : ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการควบคุมยาสูบในประเทศไทย
ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ ลอยสมุทร นักวิชาการจากวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า ผลกระทบจากการเปิดรับสื่อโซเชียลมีเดียที่เผยแพร่บุหรี่ไฟฟ้าพบว่าก่อความเชื่อผิดๆ โดย 34% เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่เสพติด ส่วน 32.2% เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ก่อมะเร็งปอด และ 39% เชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าคือการสูบควันไอน้ำเท่านั้น
เขาเสนอว่า เพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ ภาครัฐควรขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับผู้ให้บริการช่องทางสื่อออนไลน์ที่สำคัญคือ เฟซบุ๊ก ไทยแลนด์ และ ไลน์ ไทยแลนด์ โดยเฉพาะการห้าม โฆษณา การตลาดเพื่อจำหน่ายบุหรี่ทุกประเภท
ขณะที่ จิระวัฒน์ อยู่สะบาย หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและบังคับใช้กฎหมาย กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย กระทรวงพาณิชย์มีประกาศให้ บารากู่ และ บารากู่ไฟฟ้า หรือ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้า
นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้า ห้ามขาย หรือ ให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
รวมถึงหากมีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ เช่น ในโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด เป็นต้น ถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 42 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาทด้วย ส่วนกรณีผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ซื้อ รับไว้ หรือมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ตามมาตรา 246 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยข้อมูลจากสถาบันเพื่อการควบคุมยาสูบโลก มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกิ้น สหรัฐอเมริกา ว่า ข้อมูลกฎหมายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศต่างๆ ทั่วโลกล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 มี 98 ประเทศที่มีกฎหมายควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ บุหรี่ไฟฟ้า (เพิ่มขึ้นจาก 68 ประเทศในปี 2559)
ในจำนวนนี้มี 29 ประเทศที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแบบเด็ดขาดทุกประเภท (เพิ่มขึ้นจาก 25 ประเทศในปี 2559) และอีก 45 ประเทศห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าหากยังไม่ผ่านเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด (เพิ่มจาก 17 ประเทศในปี 2559) และอีก 7 ประเทศห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่มีส่วนผสมของนิโคติน ซึ่งเป็นการยืนยันว่าหลายๆ ประเทศ ได้ตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าด้วย
กระนั้นข้อมูลเหล่านี้ถูกโต้แย้งจากเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอ้างว่า ไทยเป็นเพียง 1 ในประเทศส่วนน้อยที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่ 48 ประเทศทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเยอรมนี ยอมรับบุหรี่เหล่านี้เป็นสินค้าถูกกฎหมาย
*ดับฝันปลดล็อกนำเข้า
หลังจากโต้เถียงกันเป็นเวลาพอสมควร ล่าสุดดูเหมือนว่าข้อเรียกร้องให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้านำเข้าถูกกฎหมายมีโอกาสถูกตีตกไปสูง เมื่อรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล ออกโรงที่จะยืนอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายห่วงใยสุขภาพเยาวชนด้วยตัวเอง
“ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าที่มีความพยายามที่จะนำเข้าและสื่อสารว่าช่วยลดเลิกบุหรี่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กรมควบคุมโรค ยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีพิษภัย และห้ามนำเข้า 100 เปอร์เซ็นต์ หากจะนำเข้าต้องมีการแก้กฎหมาย ซึ่งในยุคนี้คงไม่มีใครทำเรื่องแบบนั้น เพราะจะเป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชนดังนั้น ฝากให้กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อสารสร้างความเข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า”
ขณะที่ ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ศจย.เป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานพิจารณาทบทวนมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ที่จัดตั้งโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในการประชุมนำเสนอการขับเคลื่อนเชิงนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าฯ เมื่อเร็วๆ นี้ มี คณาจารย์ นักวิชาการ ตลอดจนนักกฎหมาย จากกรมควบคุมโรค เสนอความเห็นเพื่อการคงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า
“ขอชื่นชม คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ที่มีจุดยืนเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนอย่างชัดเจน"
ศ.นพ.รณชัย แสดงความชื่นชม รมว.สาธารณสุข ที่ประกาศจุดยืนชัดเจนเรื่องการต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมุ่งที่จะคุ้มครองสุขภาพประชาชนไทย โดยเฉพาะเยาวชนของชาติ