คอลัมนิสต์

ศุภชัย ไฟเขียวอภิปรายด่วน สางคำสั่งคสช.

ศุภชัย ไฟเขียวอภิปรายด่วน สางคำสั่งคสช.

09 ก.ย. 2562

ไม่ถึง 2 สัปดาห์ จะปิดประชุมสภาฯสมัยสามัญครั้งที่หนึ่ง ในขณะที่มีญัตติค้างอยู่ถึง 117 เรื่อง สภาฯจึงต้องเร่งสะสางเป็นการด่วน รวมทั้งคำสั่ง คสช.

      ขนิษฐา เทพจร

     นับถอยหลังจากนี้ ไม่ถึง 2 สัปดาห์ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญครั้งที่หนึ่ง จะสิ้นสุดลง วันที่ 18 กันยายนนี้ และเหลือเพียงการประชุมสภาฯ อีก 4 ครั้ง คือ การประชุมสภาฯ​ นัดปกติ วันพุธ ที่ 11 กันยายนและวันพฤหัสบดี ที่ 12 กันยายน และ การประชุมสภาฯ นัดพิเศษ วันที่ 13 กันยายน เพื่อพิจารณาญัตติที่กำหนดไว้ในวาระการประชุม และ การประชุมสภาฯ นัดพิเศษ วันที่ 18 กันยายน เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณ และการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา 

     เมื่อดูตามไทม์ไลน์การกำหนดประชุมเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหามากนัก เพราะมีความลงตัวตามข้อตกลง

   ทั้งนี้มีประเด็นที่ต้องจับตา คือ ญัตติที่ค้างอยู่ในวาระการพิจารณา มากกว่า 117 เรื่อง ซึ่งถือว่ามากเป็นประวัติการณ์สภาไทย แม้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ จะกำหนดว่า ญัตติที่ค้างในวาระประชุม เมื่อสิ้นสมัยประชุมหนึ่ง จะสามารถพิจารณาต่อได้ในสมัยถัดไป

    แต่ข้อสงสัยสำคัญคือ ญัตติที่เป็นวาระเร่งด่วน หรือ ปัญหาของประชาชนที่ “สภาฯ” ควรพิจารณาเร่งด่วนนั้น จะทำได้อย่างไร

       ศุภชัย ไฟเขียวอภิปรายด่วน สางคำสั่งคสช.

     กับเรื่องนี้ “ศุภชัย โพธิ์สุ” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ฐานะผู้รับผิดชอบงานด้านญัตติ และกระทู้ ให้สัมภาษณ์กับ "คมชัดลึก"  โดยยอมรับว่ามีแนวทางบริหารจัดการให้ญัตติที่รอการพิจารณาและบรรจุในระเบียบวาระประชุม ถูกพิจารณาให้มากที่สุด

     “จากที่หารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ตกลงว่าวันที่ 13 กันยายนนี้ จะเปิดประชุมนัดพิเศษ เพื่อเคลียร์ญัตติที่บรรจุในระเบียบวาระทั้งหมด โดยจะเริ่มในส่วนของญัตติด่วน 24 เรื่อง ได้จัดกลุ่มพิจารณาไว้แล้ว คือ กลุ่มว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี, กลุ่มเกษตร, กลุ่มว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ กลุ่มว่าด้วยประเด็นการเมือง ที่เกี่ยวเนื่องกับการออกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” รองประธานสภาฯ ระบุ

     ขณะที่ล่าสุดกลุ่มญัตติอีอีซี ได้เริ่มอภิปรายและเตรียมตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษา และพิจารณาแนวทางที่เกี่ยวข้อง

      อย่างไรก็ตาม “ศุภชัย” ยังไม่มั่นใจมากนัก ต่อการเคลียร์ญัตติที่ค้างทันก่อนปิดสมัยประชุมวันที่ 18 กันยายนนี้ เพราะอาจมีเหตุที่ สมาชิกสภาฯ ต้องใช้เวลาอภิปรายจูงใจให้ส.ส.ลงมติเห็นด้วย

    ซึ่งต้องจับตา ในกลุ่มว่าด้วยประเด็นทางการเมือง คือ ญัตติของ พรรคอนาคตใหม่ ที่ขอตั้ง "กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคสช. และการใช้อำนาจของคสช. ตามมาตรา44" และ ญัตติของพรรคประชาธิปัตย์ ขอสภาฯ ให้ตั้ง“กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบและหาแนวทางแก้ไข ผลจากประกาศและคำสั่งคณะปฏิวัติคณะต่างๆ , ประกาศและคำสั่งของคสช. รวมถึงศึกษาผลกระทบความเหมาะสมของกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติยุคของ คสช. เพื่อปรับและแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน”

    ที่คอการเมืองวิเคราะห์ว่า นี่คือ อีกเวทีของสภาฯ จะใช้เพื่อเอาคืน และ ชำแหละ การกระทำของ “คสช.” ตลอด 5 ปี (2557 - 2562) และเมื่อถึงจังหวะโหวตเสียงอาจจะแพ้ และไม่นำไปสู่การตั้ง“กมธ.”

      ต่อมุมมองเรื่องนี้ “ศุภชัย” บอกว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุป เพราะเชื่อในจิตสำนึกของ ส.ส.

     “การโหวตของสมาชิกสภาฯ ต้องดูเนื้อหาสาระที่นำเสนอ หากสาระดี น่าสนใจ ควรศึกษาหาข้อมูล เพื่อเป็นแนวทางแก้ปัญหาของประเทศ และ ประชาชน ส.ส.อาจโหวตให้ แต่หากฟังอภิปรายแล้วความจบ ไม่มีสิ่งต้องศึกษา ที่ประชุมอาจไม่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ.วิสามัญ ก็ได้”

     ขณะที่ความกังวลจะใช้เวทีสภาฯ โจมตีทางการเมือง มากกว่าหันหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชน “ศุภชัย” เชื่อว่าข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ฉบับใหม่ คือไม้เรียวที่จะกำหราบ เพราะข้อบังคับการประชุมมีระเบียบวางไว้ ที่ให้สิทธิประธานที่ประชุมตักเตือน ห้ามปราบ ส.ส. ที่อภิปรายผิดจากข้อบังคับได้

      “เรื่องนี้ผมมองว่าไม่น่าวิตก เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เรื่องการเมืองจำเป็นต้องศึกษา เพื่อเรียนรู้และหาแนวทางแก้ไข สังคมประชาธิปไตย ประเทศต้องได้รับการพัฒนาทุกด้านให้ก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่หยุดหรือถอยหลัง ขณะที่ปัญหาปากท้องของประชาชนไม่ได้ถูกละเลยเพราะยังมีการพิจารณาญัตติด่วนสำคัญ ดังนั้นเวทีของสภาฯ ต้องผลักดันให้เกิดการพัฒนาทุกด้าน รวมถึงการเมือง”

    อย่างไรก็ตามบทสรุปของเรื่องนี้ ว่าจะได้ไปต่อหรือไม่ รองประธานสภาฯ​ คนที่สอง มองเงื่อนไขชี้ขาดสำคัญ คือ คณะกรรมการประสานงานของพรรคการเมืองจะหารือกัน

     ขณะที่ญัตติธรรมดา ที่รอการพิจารณาหลังจากญัตติด่วน อีก 92 เรื่อง (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กันยายน) จะใช้แนวทางจัดกลุ่มญัตติและอภิปราย

      แต่มีประเด็นน่าจับตา คือ ญัตติตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษากระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของ “ส.ส.พรรคฝายค้าน” ที่ตั้งใจตรวจสอบการสรรหา “ส.ว.” ที่มาโดย“คสช.” เพื่อนำไปสู่การชี้ให้เห็นว่ากระบวนการสรรหานั้นมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนซ่อนอยู่

     ซึ่งเชื่อว่า เมื่อเข้าสู่การอภิปรายและนำไปสู่การลงมติ อาจถูกตั้งแง่และไม่ถูกยอมรับ อย่างไรก็ดี“รองประธานสภาฯ คนที่สอง” ฐานะ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะศึกษา ถึงกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. แต่ไม่ใช่การจับผิดฝ่ายใด เพราะการได้มาซึ่งส.ว. ตามที่ออกแบบนั้น คือ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ดังนั้นควรศึกษาเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

     “ส.ว.เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะตำหนิว่าไม่ชอบธรรม ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตั้งข้อรังเกียจ การเมืองอาจไม่ไปไหน เมื่อเกิดขึ้นแล้วหากเขาสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชน ทำประโยชน์ให้ประเทศได้ ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ ส่วนผลการศึกษาหากพบว่าไม่ดี จะได้เป็นบทเรียนให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้”รองประธานสภาฯ​คนที่สอง ให้ทัศนะส่วนตัว

      กับข้อสังเกตหนึ่ง ในงานด้านญัตติที่ขอให้ตั้งกมธ.วิสามัญที่อาจจะเบาลง ไม่ถึงขั้นตั้งทุกญัตติ หรือกลุ่มญัตติที่คล้ายกัน หลังจากสภาฯ ตั้ง กมธ.สามัญประจำสภาฯ แล้ว ภารกิจบางเรื่องอาจส่งต่อให้ศึกษาในชั้นกมธ.ฯ ได้ ประเด็นนี้“ศุภชัย” มองว่าอาจเป็นไปได้ ที่สภาฯ จะลงมติมอบหมายให้กมธ.สามัญ เป็นผู้พิจารณาตามบทบาท แต่ไม่ใช่การปิดกั้นการตั้งกมธ.วิสามัญ ศึกษาเรื่องที่เป็นเฉพาะ

     ทั้งนี้สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญ ก่อนส่งเรื่องต่อไปยังกมธ. สามัญ หรือ ตั้งกมธ.วิสามัญทำหน้าที่ คือ ประสิทธิภาพ คุณภาพของงานที่ออกมา และต้องมากกว่าเรื่องปริมาณ

     “อย่างญัตติที่เสนอตอนนี้ 117 เรื่อง หากตั้งกมธ.วิสามัญทุกเรื่อง ผมว่าคนทำงานคงไม่พอ โดยเฉพาะส.ส.ที่ต้องเป็นตัวหลักในกมธ. ทั้งนี้ข้อบังคับไม่ได้กำหนดข้อจำกัดว่า ส.ส.​1 คนจะเป็นกมธ.วิสามัญได้กี่คณะ ไม่เหมือนกับ กมธ.สามัญ ที่กำหนดว่า เป็นได้คนละไม่เกิน 2 คณะ ดังนั้นหากส.ส.เป็นกมธ.วิสามัญหลายคณะ คงไม่ต้องทำอะไร เพราะแค่วิ่งไปเซ็นต์ชื่อร่วมประชุมก็ไม่ทัน หรือบางทีแค่วิ่งไปเซ็นต์ประชุมกมธ.วิสามัญคณะหนึ่ง อาจทำให้คณะหนึ่งองค์ประชุมไม่ครบ ประชุมไม่ได้ หรือไม่มีใครประชุมเลย ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นการพิจารณาตั้งกมธ.วิสามัญ ต้องดูคุณภาพงานเป็นหลักสำคัญ”

     อย่างไรก็ดีในยุคของสภาฯ​ชุดปัจจุบัน ที่แม้เพิ่งเริ่มต้นทำงาน และมี ส.ส.หน้าใหม่เกิน 60% ในสภาฯ “รองประธานสภาฯ คนที่สอง” มองเรื่องนี้อย่างชื่นชมว่า ส.ส.รุ่นใหม่ตั้งใจทำงาน มุ่งมั่นงานการเมือง เห็นได้จากการอภิปรายในประเด็นต่างๆ จะเตรียมข้อมูล พูดในสาระ มากกว่าการมุ่งเอาแพ้ เอาชนะทางการเมือง

     ทั้งนี้การพิจารณาญัตติ ยังคงต้องจับตาประเด็นสำคัญ คือ การเสนอให้ตั้งกมธ.วิสามัญ ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคฝ่ายค้าน และ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นให้พิจารณาบรรจุวาระ ว่าจะทันสมัยประชุมฯ หรือไม่ แม้ข้อบังคับยังให้สิทธิพิจารณาต่อ ในสมัยประชุมหน้า

     แต่ผู้เสนอทั้ง 2 ฝั่งมองว่านี่คือ เรื่องเร่งด่วน หากยิ่งพิจารณาได้เร็วเท่าไร ย่อมเป็นผลดีกับสภาฯ แต่อาจไม่ใช่ผลดีต่อรัฐบาล ดังนั้นอาจเป็นอีกญัตติร้อนที่ต้องจับตาให้ดีต่อไป.