อุ้มฆ่า-อุ้มหาย... กฎหมายก็ถูกอุ้ม
คอลัมน์... ล่าความจริง..พิกัดข่าว โดย...ปกรณ์ พึ่งเนตร
การพบโครงกระดูกของ “บิลลี่” หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ในลักษณะถูกฆ่าเผาในถังแดงแล้วโยนทิ้งน้ำ หลังจากหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยนานกว่า 5 ปี ทำให้ปัญหา “อุ้มฆ่า-อุ้มหาย” ในสังคมไทยถูกพูดถึงอย่างจริงจังอีกครั้ง
การอุ้มฆ่า-อุ้มหายที่กำลังพูดกันอยู่นี้ ในกรณีที่คล้ายๆ กับบิลลี่ ไม่ใช่คดีอุ้มฆ่าที่เป็น “อาชญากรรมธรรมดา” แต่เป็นการอุ้มฆ่าที่เป็น “อาชญากรรมแบบพิเศษ” ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ภาษาในทางวิชาการสากลเรียกว่า “การถูกบังคับให้สูญหายซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ”
การอุ้มหายแบบนี้ตำรวจคลี่คลายคดียากกว่าการอุ้มฆ่าที่เป็นอาชญากรรมทั่วไป เพราะเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำมีอำนาจทางกฎหมาย รู้ข้อมูลและสถานที่ต่างๆ จึงก่อคดีได้อย่างไร้ร่องรอย และทำลายหลักฐานได้อย่างเป็นระบบมากกว่า การอุ้มหายจึงเป็นอาชญากรรมแบบพิเศษที่มีความอันตราย ซึ่งทั่วโลกตระหนักถึงปัญหานี้ จึงมี “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับของสหประชาชาติ” ซึ่งประเทศไทยของเรานั้นคณะรัฐมนตรีมีมติให้สัตยาบันอนุสัญญานี้เมื่อปี 2559 และมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับความผิด “อุ้มฆ่า-อุ้มหาย” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
จริงๆ แล้วการอุ้มฆ่า-อุ้มหายที่เป็น “อาชญากรรมโดยรัฐ” เกิดมาแล้วหลายครั้งในบ้านเราในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เช่น หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำจิตวิญญาณของคนปัตตานี นายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานคนสำคัญในยุครสช. ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายผู้ช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กมล เหล่าโสภาพรรณ แกนนำเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่นที่ จ.ขอนแก่น แล้วก็มาถึงบิลลี่ และลุงเด่น คำแหล้
ปัญหาการคลี่คลายคดีอุ้มฆ่า-อุ้มหาย อยู่ที่ “กฎหมายเฉพาะ” ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี ความจำเป็นในเรื่องนี้ถูกพิสูจน์แล้วจากนางอังคณา นีละไพจิตร จากคดีอุ้มฆ่าทนายสมชาย เพราะเป็นคดีแรกที่ขึ้นสู่ศาล แต่สู้คดีมา 10 กว่าปี สุดท้ายศาลฎีกายกฟ้องจำเลยทั้งหมดที่เป็นตำรวจ สะท้อนว่ากฎหมายอาญาปกติไม่สามารถคลี่คลายคดีอุ้มฆ่า-อุ้มหายได้เลย
อังคณา บอกว่า ที่ผ่านมาได้พยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แต่จนถึงทุกวันนี้กฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่ถูกบังคับใช้ แถมถูกเขี่ยออกจากสภาในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ด้วย
ปัญหาการพิสูจน์และหาตัวคนผิดเรื่องอุ้มฆ่า-อุ้มหายในบ้านเรายังเป็นเรื่องยากเพราะไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ โดยในรัฐบาลคสช. มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. แต่ตอนหลังถูกตีกลับจนร่างกฎหมายตกไป ทำให้เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายนี้
ช่วงแรกที่มีการผลักดันกฎหมายนี้ในยุคคสช. ได้รับการขานรับจากองค์กรสิทธิ์ทั่วโลกเพราะรัฐบาลเลือกตั้งยังไม่เคยผลักดัน แต่ต่อมาร่างกฎหมายถูกตีกลับจากสนช. ทำให้ตกหายไป
กฎหมายนี้ถ้าออกมาและมีผลบังคับใช้การพิสูจน์เรื่องอุ้มฆ่า-อุ้มหาย หรือซ้อมทรมานจะง่ายขึ้น เพราะจะโยนภาระการพิสูจน์ไปให้คนที่อยู่กับผู้ที่สูญหายเป็นคนสุดท้าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ แต่หากใช้กฎหมายอาญาธรรมดาจะหาหลักฐานไม่ได้เลย เพราะการฆ่าแบบนี้มีการทำลายหลักฐานแบบครบวงจร
กฎหมายฉบับนี้จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อำนาจควบคุมตัว หรือเชิญตัว หรือเรียกตัวประชาชนในฐานะผู้ต้องสงสัย ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัย เมื่อปล่อยตัวแล้ว ต้องพาไปส่งถึงบ้าน หรือมีหลักฐานยืนยันกับคนรอบข้างและครอบครัวได้ว่าปล่อยแล้วจริงๆ ซึ่งจะทำให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่กระทบกับประชาชนมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้มากขึ้น
ไม่ใช่ใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ เมื่อเกิดกรณีบุคคลสูญหาย ก็อ้างแค่ว่าปล่อยตัวไปแล้ว แค่นี้ก็พ้นผิด เหมือนที่ผ่านๆ มา!