คอลัมนิสต์

รู้จักและเข้าใจความเสมอภาคทางเพศ

รู้จักและเข้าใจความเสมอภาคทางเพศ

16 ก.ย. 2562

คอลัมน์...  รู้ลึกกับจุฬาฯ  โดย... อาจารย์ ดร.รัชดา ไชยคุปต์

 

 

 

          ความเสมอภาคทางเพศ หรือความเท่าเทียมระหว่างเพศ (Gender Equality) คืออะไร


          ในระยะหลังคนไทยอาจได้ยินแนวคิดนี้บ่อยขึ้นผ่านสื่อต่างๆ หลายคนอาจมองเป็นประเด็นที่กลุ่มผู้หญิงลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิสตรี (อีกแล้ว) แต่ในความเป็นจริงเรื่องความเสมอภาคทางเพศ หรือความเท่าเทียมระหว่างเพศเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ที่มีสิทธิในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

 

 

          ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า “เท่าเทียม” ไม่ได้แปลว่า “เท่ากับ” และคำว่า “เพศสภาพ” หรือ Gender เป็นคำที่กว้างกว่าคำว่าเพศ หรือ Sex ที่กำหนดตามเพศกำเนิดเท่านั้น


          ในส่วนของประเทศไทยนับว่ามีความก้าวหน้าและตอบรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติ ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ที่ระบุความหมายของ การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศอย่างชัดเจน ครอบคลุมถึงบุคคลที่มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด (มาตรา 3) และได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558


          ตามพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (มาตรา 5) ซึ่งหนึ่งในอำนาจหน้าที่ที่สำคัญคือการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติงานเพื่อให้มีการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น


          นอกเหนือจากคณะกรรมการ สทพ.แล้ว ยังมีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) อีกคณะหนึ่งซึ่งมีที่มาจากการสรรหา และได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยมีหน้าที่สำคัญคือการวินิจฉัยปัญหาที่มีการยื่นคำร้องว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศตามมาตรา 18


          เป็นที่น่าสนใจว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ใดที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ วลพ.ด้วย กล่าวคือ ระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สะท้อนให้เห็นว่าเป็นกฎหมายที่มีบทบังคับใช้อย่างชัดเจนไม่เพียงแค่ส่งเสริมเท่านั้น

 



          ในระดับโลกทุกท่านคงคุ้นกับคำว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “Sustainable Development Goals” หรือเรียกสั้นๆ ว่า SDGs โดยหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญและเป็นเป้าหมายเดียวที่สามารถเชื่อมโยงกับเป้าหมายอื่นๆ อีก 16 เป้าหมาย ก็คือ เป้าหมายที่ 5 ว่าด้วยความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality) นั่นเอง


          เป้าหมายนี้มุ่งเน้นที่การบรรลุความเสมอภาคทางเพศและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน โดยมีสาระสำคัญในการยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกพื้นที่ การขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กทุกรูปแบบทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคล รวมถึงการค้ามนุษย์ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ


          ยิ่งไปกว่านั้นเป้าหมายดังกล่าวยังมุ่งเน้นขจัดการปฏิบัติที่เป็นอันตราย เช่น การบังคับแต่งงานในเด็กก่อนวัยอันควร และการขลิบอวัยวะเพศสตรี ตลอดจนนโยบายการคุ้มครองทางสังคม การรับรองและเสริมสร้างนโยบายและการนิติบัญญัติที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังแก่สตรีทุกคนและเด็กในทุกระดับ


          ในระดับภูมิภาค เช่น ระดับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน มีคณะกรรมาธิการว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ภายใต้ประเด็นสำคัญ 16 ประเด็น ซึ่งมีผู้แทนจากแต่ละประเทศสมาชิกประเทศละสองคน โดยดูแลด้านสิทธิสตรีหนึ่งคน และด้านสิทธิเด็กหนึ่งคน อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปี มีภารกิจครอบคลุมประเด็นเรื่องการยุติความรุนแรงและการต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมถึงการสนับสนุนด้านความเสมอภาคระหว่างเพศด้วย


          แนวทางการทำงานของผู้แทนดังกล่าวจะสอดรับกับแนวปฏิบัติของประชาคมอาเซียนว่าด้วยความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะสำหรับการดูแลสตรีที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนเมื่อปี 2559 และประเทศไทย


          ทั้งนี้ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม, ACWC และ UN Women ได้แปลและจัดทำแนวปฏิบัติเป็นภาษาท้องถิ่นประเทศแรกในอาเซียนและนำสู่การปฏิบัติที่แท้จริง โดยจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าแนวปฏิบัตินี้ระบุถึงสตรี แต่ในส่วนที่ระบุถึงความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (เพศสภาพ) มีการระบุว่าควรระบุเพศสภาพของผู้เสียหายด้วยเพื่อให้ความช่วยเหลือและให้การบริการที่เหมาะสม  


          เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการย้ำเน้นถึงความสำคัญของพ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศและสร้างความตระหนักรู้ในสังคมไทย ทาง ACWC-ประเทศไทย และ UN Women จึงได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน “HeForShe University Tour” เป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  

          โครงการ HeForShe นี้เป็นโครงการริเริ่มขององค์การสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริม เผยแพร่ และให้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ โดยเริ่มต้นครั้งแรกในโลกในปี 2553 และเปิดตัวในภูมิภาคอาเซียนในเดือนพฤศจิกายน 2560


          สาระสำคัญของโครงการนี้ คือ การหยุดความไม่เท่าเทียมทางเพศโดยเน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม และที่สำคัญต้องการความร่วมมือจากเด็กผู้ชายและผู้ชายเพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้ การรณรงค์นี้ไม่ได้จะมาทำให้การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีถูกมองว่าเป็นการเกลียดผู้ชาย ในความเป็นจริงทั้งผู้หญิงผู้ชายและทุกคนควรต้องมีสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกัน


          ในงานนี้ มูฮัมมัด นาซิริ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคและผู้แทนประจำประเทศไทยของ UN Women ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะมุ่งสู่ความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริงนั้นไม่ใช่แต่เด็กผู้ชายและ/หรือผู้ชายจะสนับสนุนให้เกิดความเสมอภาคนี้ได้ ในความเป็นจริงผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถสร้างสังคมที่มีความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริงด้วยเช่นกัน


          ในงานทัวร์มหาวิทยาลัยที่จัดขึ้นในครั้งนี้ได้เปิดเวทีให้นิสิตและอาจารย์นำเสนอและแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อเปลี่ยนมหาวิทยาลัยสู่ความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง ในงานมีผู้ที่เคยตกเป็นผู้เสียหายของการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและ/หรือในที่สาธารณะ การถูกคุกคามทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศได้มาแบ่งปันประสบการณ์ของตนเอง ตลอดจนมีผู้แทนจากหลายภาคส่วน เช่น ผู้บริหารและอาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนนิสิต ผู้แทนผู้เสียหาย ผู้แทนภาคประชาสังคม ร่วมเสวนาในเวทีอภิปราย ตามด้วยการเปิดเวทีแสดงข้อคิดเห็นและซักถามจากนิสิตโดยตรง


          ซินดี้ สิรินยา บิชอพ นางแบบและนักแสดงชื่อดังผู้เคลื่อนไหวด้านความเสมอภาคทางเพศมาอย่างต่อเนื่องได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ #donttellmehowtodress (พลังสังคม หยุดคุกคามทางเพศ) ในงานนี้ด้วย เพื่อเป็นการทำให้ทัศนคติความรุนแรงทางเพศเป็นไปในทางที่ถูกต้อง ไม่ตัดสินคนที่ภายนอก เช่นเครื่องแต่งกาย เป็นต้น


          รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ มีความเห็นว่า สถาบันการศึกษาควรเป็นสถานที่ที่เตรียมความพร้อมของนักเรียน/นิสิต สำหรับการเผชิญโลกในอนาคตและควรสร้างให้เกิดกลไกการสร้างความเข้าใจในประเด็นความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง ทุกๆ คน ทุกๆ เพศ ควรต้องเปล่งเสียง แสดงสิทธิของตนเองที่ควรได้รับ


          ในส่วนของผู้แทนนิสิตมีความเห็นว่าประเด็นเรื่องการยุติความไม่เท่าเทียมทางเพศและการคุกคามทางเพศควรมีการให้ความรู้ต่อนิสิตอย่างจริงจัง รวมถึงช่องทางการร้องเรียนและขอความช่วยเหลือที่เป็นมิตรและมีระบบการรักษาความลับ ประเด็นอื่นๆ จากผู้ร่วมงานมีความเห็นตรงกันว่าควรมีการแสดงพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศสู่เยาวชน และจะเกิดขึ้นไม่ได้หากทุกคนทุกภาคส่วนไม่ร่วมมือกัน ดังนั้นทุกคนควรลุกขึ้นมาร่วมกันนำคนทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มหาวิทยาลัยต้องมีมาตรการในการลงโทษที่ชัดเจน ผู้เสียหายที่ถูกคุกคามทางเพศควรมีที่ปรึกษาได้รับการแนะนำ รวมถึงครอบครัว ชุมชน ควรพูดคุยกับผู้ถูกกระทำ และยื่นมือเข้าช่วยเหลือ สังคมควรให้การศึกษาแก่ทุกคน ให้เข้าใจในประเด็นเหล่านี้ และไม่ซ้ำเติมผู้เสียหาย


          ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดีได้กล่าวว่า การศึกษาและการปฏิบัตินับเป็นสิ่งสำคัญของการยุติการคุกคามทางเพศ และความไม่เท่าเทียมทางเพศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นเรื่องความเสมอภาคทางเพศและการยุติการคุกคามทางเพศ โดยยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเด็นนี้รวมถึงการประสานการพัฒนากลไกในการให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาต่อผู้เสียหาย


          “การแสดงพลังเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศต้องเริ่มต้น ณ วันนี้ และเริ่มจากตัวท่านเอง”