เสมา3 กับภารกิจ สร้างคนไปทำงาน จากการศึกษา
โดย... ทีมข่าวการเมืองเครือเนชั่น
ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงภารกิจที่ได้รับผิดชอบและกำกับดูแลตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมาย (สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.), กศน., สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ รวมทั้งมาตรการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
เสมา 3 กล่าวว่า “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) นั้น ต้องดูแลครู นักเรียน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการทำงานของสช. ให้บรรลุเป้าหมายว่าควรได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ขณะที่โรงเรียนคนพิการ อาทิ โรงเรียนศรีสังวาลย์ของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จ.นนทบุรี ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยังมีหลายสิ่งที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือรวมทั้งโรงเรียนอื่นๆ ด้วย
ปัญหาที่พบจากโรงเรียนศรีสังวาลย์ คือปัญหาครูเอกชน เมื่อรัฐบาลจัดให้สอบบรรจุครูเอกชนก็ไปสอบกัน โรงเรียนลักษณะนี้เป็นโรงเรียนที่พิเศษ เด็กจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษมากกว่าเด็กปกติและอัตราของครูก็มีจำนวนน้อยจึงต้องการให้รัฐบาลจัดครูไปช่วยเหลือสนับสนุนด้วย เรื่องนี้คล้ายโรงเรียนเอกชนอื่นๆ ที่เจอปัญหาแบบนี้ รวมทั้งเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลซึ่งอยู่ภายใต้กองทุนสงเคราะห์และได้ผลักดันสวัสดิการรักษาพยาบาลครูเอกชนเป็น 100,000 บาทต่อคนต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563
มีโรงเรียนเอกชนมากมายทั่วประเทศที่ดำเนินการมาสองถึงสามรุ่นในครอบครัวต้องขอบคุณที่มาแบ่งเบาภาระโรงเรียนรัฐบาลและยังมีโรงเรียนเอกชนที่เป็นโรงเรียนสงเคราะห์ที่ดำเนินการโดยศาสนาต่างๆ ที่มุ่งเน้นช่วยเหลือพัฒนาประเทศ เรื่องนี้ต้องชื่นชมและบางแห่งยินดีที่จะแบ่งปันความรู้ให้โรงเรียนอื่นๆ ( Sharing University) ที่จะช่วยกันใช้ทุกสิ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการศึกษาไทย โดยจะเป็นในรูปแบบ Digital Education เปิดตัววันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งจะเปิดตัวร่วมกันทั้งการศึกษาของเอกชนและกศน.ด้วย”
ส่วนการดูแลการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) นั้น เสมา 3 ระบุว่า “ครูกศน.จำนวนมากไม่ได้เป็นข้าราชการตรงนี้ต้องดูแลเพราะพวกเขาทำงานทุ่มเทเช่น สอนการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อที่จะเอาไปใช้ในพืชตรงนี้ควรต้องพัฒนาชีวิตครูเหล่านี้ด้วย และดิฉันหวังว่าจะสร้างกศน.ให้เป็น "กศน.ว้าว” โดยจะสอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของแต่ละชุมชนและใช้รูปแบบใหม่ของการค้าออนไลน์รวมทั้งประสานเอกชนในการให้พื้นที่ช่องทางจำหน่ายสินค้าและต้องสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรของเรา
"กศน.ว้าว!” คือการพัฒนาองค์กร กศน. โดยกำลังจะตั้งกศน.ให้เป็นศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งจะรวมในเรื่องของการทำวิจัยด้วย เพื่อที่จะรู้ว่าอะไรที่จะไปได้ อะไรควรจะหยุด อะไรควรจะพัฒนา แล้วก็จะมีกลุ่มคนอาสาเข้ามาคือ อาจารย์มหาวิทยาลัย, ปราชญ์ชาวบ้าน ที่บอกว่าพร้อมจะมาช่วย โดยความรู้ที่ได้จากคนกลุ่มนี้มีความตั้งใจจะนำมาปรับปรุงหลักสูตรพื้นฐาน เพราะหลายปีแล้วยังไม่ได้ปรับปรุงให้มีความทันสมัยทันโลกพร้อมก้าวเป็นไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล
ที่สำคัญเราจะต้องสร้างเสริมในสิ่งที่คนเรียนจบกศน.มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวแล้วจะต้องมี Credit Unit สะสม เพื่อต่อยอดไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย หมายถึงหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรระยะสั้น สามารถจะสะสมแล้วนำไปเทียบโอนหน่วยกิตในมหาวิทยาลัยได้ รวมทั้งประกาศนียบัตรวิชาชีพที่กศน.ออกให้ตรงนี้สามารถไปยื่นต่อสถานประกอบการทำงานได้โดยจะหารือกระทรวงแรงงานให้ออกใบรับรองเพื่อเพิ่มรายได้
ในการเรียนรู้กศน.ผ่านระบบออนไลน์ จะเป็นการเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหานักศึกษาที่เข้าชั้นเรียนไม่ได้เพราะอาจติดภารกิจ เช่น การทำงานล่วงเวลา แบบนี้ก็สามารถเรียนออนไลน์แล้วได้หน่วยกิต และจะจัดวางหลักสูตรวิชาชีพต่างๆ ที่สามารถเรียนรู้ผ่านออนไลน์ได้แล้วได้เครดิต เช่นอยากจะปลูกทุเรียนแต่ต้องเรียนการปลูกพืชพื้นฐานก่อน จากนั้นเราจะมีวิทยากรที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจะสอนการปลูกทุเรียนรวมทั้งเรียนการวิเคราะห์การตลาดเป็นต้น
พูดง่ายๆ ใช้ระบบ Sharing University นำมาปรับใช้ได้ เราจะมีการประเมินผลอย่างมีคุณภาพซึ่งหลายมหาวิทยาลัยพร้อมให้ความร่วมมือด้วย แม้แต่การสอนภาษาต่างชาติให้นักเรียนกศน.ก็ใช้ระบบนี้ได้เพราะทุกวันนี้ชาวต่างชาติมาอยู่ประเทศเราเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่มีการค้าขายเยอะ นักเรียนกศน.ก็เยอะ ดังนั้นเรามุ่งเน้นให้นักศึกษากศน.สื่อสารกับชาวต่างชาติได้ เราจะมีหลักสูตรมัคคุเทศก์ด้วย เรียนจบกศน. คุณได้ใบมัคคุเทศก์อย่างถูกต้องเลย”
เสมา 3 กล่าวว่า “สำนักงานลูกเสือแห่งชาตินั้น ขอเรียนว่าลูกเสือเป็นเรื่องของจิตสาธารณะและการสร้างวินัยให้เยาวชน เป็นสิ่งที่รัชกาลที่ 6 พระราชทาน วันนี้เราต้องพัฒนากิจการของลูกเสือให้กว้างไกลขึ้น โดยจะสร้าง ”ลูกเสือมัคคุเทศก์” ที่ปูพื้นฐานการเป็นจิตอาสาและฝึกภาษาด้วย ซึ่งเขาพร้อมที่จะเรียนรู้ในเรื่องพัฒนาภาษา คนไทยเราต้องพัฒนาการออกเสียงผนวกด้วยการสอนหลักสูตรท้องถิ่น เพราะแต่ละจังหวัดมีความโดดเด่นแตกต่างกัน ลูกเสือจะต้องเป็นผู้รู้และสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ โดยจะมีครูและปราชญ์ชาวบ้านเป็นโค้ชให้ จะลงนามกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยในเรื่อง Service Mind และการใช้ภาษา สิ่งที่สำคัญคือเกิดความรักท้องถิ่นตัวเองและจะผนวกหลักสูตรสมุนไพร/หลักสูตรการช่วยชีวิตเข้าไปด้วย พวกเขาจะได้มีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรและช่วยเหลือคนที่ไปให้บริการได้”
ครูโอ๊ะ บอกว่า “ส่วนกัญชาเพื่อการแพทย์นั้น เรากำลังคิดทำหลักสูตรร่วมกันกับผู้รู้เพื่อนำมาใช้ได้อย่างยั่งยืน เน้นย้ำ กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ทำให้คนรู้อย่างถูกต้อง ให้เข้าถึงว่ากัญชาคืออะไร ประโยชน์ทางการแพทย์คืออะไร โทษของกัญชาคืออะไร เหมาะสมกว่าที่จะให้ไปแสวงหาความรู้โดยที่อะไรถูกหรืออะไรผิดยังไม่ชัดเจน ตรงนี้กระทรวงศึกษาธิการจะจัดให้เพราะมันคือความถูกต้อง เรามีหน้าที่จัดการศึกษาที่ดีให้แก่ประชาชน และไม่ใช่เฉพาะกัญชาเท่านั้นแต่จะสอนให้รู้จักพืชสมุนไพรอื่นๆ ด้วยเพื่อขยายภูมิปัญญาชาวบ้านให้สามารถใช้ทุกอย่างที่เป็นทรัพยากรได้อย่างมีประโยชน์สูงสุดและเป็นการยังชีพได้อย่างยั่งยืน”
เสมา 3 ระบุว่า “กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในเรื่องนี้ได้หารือกับ ”เสมา 1” แล้ว เพราะเป็นหน้าที่และเป็นนโยบายพรรคด้วยที่รับปากประชาชนไว้แล้ว ตอนนี้กำลังหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อที่จะหาวิธีการและมาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกหนี้กยศ. รวมทั้งผู้ค้ำประกันทุกคนไม่ต้องรับความเดือดร้อน เชื่อว่าสิ่งนี้จะผลักดันให้เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้แน่นอนเพราะปัญหานี้เรื้อรังและหลายคนไม่มีความสุข”
14 กันยายน 2562 พรรคภูมิใจไทย จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน กฎหมาย “แก้หนี้ กยศ.ปลดทุกข์เด็กไทย” โดยมีภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมเสวนาและเสนอแนวทางแก้ไข โดยจะเสนอร่างพ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่..) พ.ศ...ให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป
สาระโดยสรุปคือ
ปัจจุบันผู้ร่วมกู้กยศ.มีประมาณ 5.6 ล้านคน กู้ไปแล้ว 6 แสนล้านบาท
นักเรียนแต่ละคนเฉลี่ยกู้เงินจำนวน 1 แสนบาท ให้เวลาผ่อนชำระ 15 ปี
มีการผิดนัดชำระหนี้ 2.3 แสนคน คิดเป็น 65% เงินกู้กยศ. จำนวน 7.9 หมื่นกว่าล้านบาทเป็นหนี้เสียที่ลูกหนี้ติดค้างชำระ
เริ่มชำระหนี้แล้ว 3 ล้านคน ปัจจุบันมีเงินที่ชำระหนี้กยศ.กลับเข้ามากว่า 3 หมื่นล้านบาทและถูกดำเนินคดีไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน
ดอกเบี้ยกยศ.หากมาชำระอยู่ที่ 1% (ก่อนหน้านี้ดอกเบี้ยเงินกู้หากไม่มาชำระอยู่ที่ 18% ตอนนี้กยศ.ปรับเหลือ 7.5%)
ปัญหาการไม่ชำระหนี้มาจาก 1.ยากจน ขาดแคลน 2.มีหนี้อื่น และเลือกชำระหนี้อื่นก่อน 3.มีเงิน แต่ไม่จ่ายหนี้
ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ ระบุว่า พรรคภูมิใจไทย พยายามเข้าไปช่วยเป็นตัวกลางและจะเสนอกฎหมายต่อไปนี้ให้รัฐสภาพิจารณา
1.กำหนดว่าให้กรรมการกองทุนมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการแปลงเงินกู้ เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน
2.ยกเลิกบทบัญญัติค้ำประกัน ยกเลิกผู้ค้ำประกัน
3.ผู้กู้ให้ทำงานแทนได้ วิธีการทำงานคล้ายผู้ที่ได้ทุนแล้วกลับมาทำงานในหน่วยงานนั้นๆ ทดแทน
4.ให้ปลอดดอกเบี้ย คือคืนเฉพาะเงินต้นคืนเท่านั้น นับตั้งแต่เริ่มต้นประกาศใช้พ.ร.บ. ส่วนผู้ที่กู้ไปแล้วก็ให้เริ่มนับตั้งแต่ที่ประกาศใช้พ.ร.บ. ส่วนที่ชำระไปแล้วถือว่าให้รัฐ
5.ผู้ที่ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ไม่มีการเก็บทั้งต้นและดอกเบี้ย เพราะถือว่าเป็นคนมีคุณภาพสูง
6.ผู้ที่เรียนจบสาขาขาดแคลน 10 สาขา คนเหล่านี้เป็นการให้ทุนการศึกษาโดยไม่ต้องมาใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ย