คอลัมนิสต์

'ช่วงช่วง' กับ คำสัญญาในป่าไผ่

'ช่วงช่วง' กับ คำสัญญาในป่าไผ่

21 ก.ย. 2562

รายงานพิเศษจาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 21-22 ก.ย.62

 

 

การตายของแพนด้า ช่วงช่วง” ยังคงสร้างความสลดใจแก่ทุกคน หลังจากที่ได้เห็นมันสร้างรอยยิ้มให้แก่คนไทยมาเนิ่นนาน

 

อย่างที่รู้ ระดับความตื่นเต้น จนถึงบ้าเห่อของคนไทยที่เคยมีต่อพวกมันในครั้งหนึ่ง ลดลงไปโดยไม่รู้ตัว แต่ข่าวเศร้านี้ได้ทำให้ 3 ชีวิต ช่วงช่วง”, “หลินฮุ่ย” และ หลินปิง” กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีกครั้ง ไม่เพียงเป็นข่าวให้คนแห่เข้ามา R.I.P. แต่ยังมีแง่มุมอื่นๆ ต่อเนื่องไปอีก

 

โดยเฉพาะเส้นทางความเป็นทูตสันถวไมตรีระหว่างไทย-จีน ของเจ้าตัวกินไผ่ผู้น่ารัก เสื้อกั๊กดำ ล้วนมีเรื่องราวมากมาย จะมองให้สนุก หรือมองให้เป็นปรากฏการณ์ก็ได้

 

 

\'ช่วงช่วง\' กับ คำสัญญาในป่าไผ่

อ่าน https://www.komchadluek.net/news/scoop/389328

 

 

 

 

ต้นกำเนิดทูตตัวยักษ์

 

อย่างที่รู้มาตลอด แพนด้าหรือแพนด้ายักษ์ มีในประเทศจีนเท่านั้น หากแต่โบราณนานมา มันถูกพบกระจัดกระจายทั่วไป ตั้งแต่ภาคใต้และตะวันออกของจีน ไปถึงตอนเหนือของพม่าและเวียดนาม

 

แต่ปัจจุบันพบเพียงแค่พื้นที่ป่าสนเขาของมณฑลเสฉวน ทางตอนใต้ของจีนเท่านั้น มันจึงกลายเป็นสัตว์สายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก เพราะตกลูกน้อย ไม่บ่อย และมีอายุขัยเฉลี่ย 25-30 ปี

 

ก่อนหน้านั้น แพนด้าเองก็หนีไม่พ้นการไล่ล่าของมนุษย์ เพราะมีรายงานว่าในอดีตชาวตะวันตกรู้จักแพนด้าจากหนังของมันที่มีนายพรานล่าไปให้ดู

 

 

\'ช่วงช่วง\' กับ คำสัญญาในป่าไผ่

แพนด้ายักษ์ ที่โอเชี่ยนปาร์ค ฮ่องกง

 

 

หรือมีข้อมูลว่าในปี 2479 รุธ ฮาร์คเนส เป็นชาวตะวันตกคนแรก ที่นำเข้าแพนด้ายักษ์ที่มีชีวิตมายังสหรัฐอเมริกา เป็นลูกแพนด้าชื่อ ซู-ลิน โดยนำมาเลี้ยงที่สวนสัตว์บรูคฟิลด์ในชิคาโก

 

จนที่สุด เมื่อแพนด้าพบแค่ในแถบจีน เสมือนเป็นของขวัญจากพระเจ้าสู่แดนมังกร จีนจึงฉลาดพอที่จะกำหนดกฎหมายขึ้นมาในปี 2503 มาถึงปัจจุบัน กฎหมายระบุไว้ว่าหากผู้ใดฆ่าแพนด้ายักษ์มีโทษจำคุก 20 ปี

 

จากนั้นตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา ทางการจีนได้เพิ่มปริมาณเขตอนุรักษ์แพนด้ายักษ์เพิ่มขึ้นจาก 12 แห่ง เป็น 67 แห่งในปัจจุบัน

 

เหนืออื่นใด เมื่อแพนด้าเป็นสัตว์หายาก แถมยังน่ารัก เห็นแล้วมีความสุข อุปสงค์ของมันจึงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ จีนจึงใช้มันเป็น “ทูตสันถวไมตรี” ในเวลาไล่เลี่ยกับที่กำลังใช้การทูตปิงปอง (Pingpong Diplomacy) เชื่อมสัมพันธไมตรีกับพี่กัน ในการคานอำนาจรัสเซียตอนที่กำลังแข่งกันเป็นผู้นำโลกที่สามพอดี

 

ช่วงนั้น จีนจึงส่งแพนด้าไปทั้งสวนสัตว์อเมริกา ญี่ปุ่น และยังมีที่เม็กซิโก ทั้งหมดนี้โดยการให้ยืม แต่นัยถึงสัมพันธไมตรีอันดีระหว่าง “จีน” กับ “ชาติอีกซีกโลก"

 

 

 

จากไมตรี สู่ดีลแพง

 

อย่างไรก็ดี หลังจากปี 2527 จีนอาจจะดีดลูกคิดแล้วพบว่าคำว่า “ไมตรีจิต” บางทีกินไม่ได้ หรือไม่มีจริง จีนจึงเปลี่ยนสถานะของหมียักษ์ไปเป็น “บางอย่าง” แล้วแต่จะตีความ

 

แต่รูปแบบคือ ให้ยืม” แบบคิดระยะเวลา 10 ปี และยังกำหนดด้วยว่าใครอยากได้ต้องจ่าย ค่าธรรมเนียมพื้นฐาน” ปีละ “1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ”

 

ที่สำคัญ กฎเหล็กคือลูกของแพนด้าที่เกิดระหว่างการยืมนั้น ถือเป็นทรัพย์สินของสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย

 

จากนั้นแพนด้าแห่งแดนมังกรก็มีโอกาสลัดฟ้าไปใช้ชีวิตต่างถิ่นหลายตัว เช่น เกาเกา” ในสวนสัตว์ซานดิเอโก เป็นแพนด้ายักษ์เพศผู้เกิดในป่าของจีนราวปี 2535

 

 

\'ช่วงช่วง\' กับ คำสัญญาในป่าไผ่

เกาเกา

 

 

ราวปี 2545 มันถูกย้ายไป Wolong Panda Conservation Center จนกระทั่งบินมาถึงสวนสัตว์ซานดิเอโกในปี 2546 เพื่อเป็นเพื่อนกับ ไป๋ยหวิน” แทน ซือซือ” ที่แก่มากและปลดระวางได้กลับเฉิงตู และจากไปในปี 2551

 

ไป๋ยหวินก็คือแพนด้าเพศเมีย เกิดวันที่ 7 กันยายน 2534 มันอยู่ที่สวนสัตว์ซานดิเอโกตั้งแต่ปี 2539 และเคยตกลูกกับซือซือในปี 2542 คือ ฮวาเหม่ย” แพนด้าตัวแรกที่เกิดในอเมริกา และถูกเรียกกลับจีนในปี 2547

 

 

\'ช่วงช่วง\' กับ คำสัญญาในป่าไผ่

ไป๋ยหวิน

 

 

ต่อมาเมื่อไป๋ยหวินเจอกับ “เกาเกา” จึงได้ให้กำเนิดลูกแพนด้าอีก 4 ตัวคือ เหม่ยเซิง (2546), ซูหลิน (2548), เจินเจิน (2550) และ ยหวินจื่อ (2552) เป็นลูกที่ได้จากการผสมตามธรรมชาติทั้งหมด

 

ว่ากันว่าในโลกนี้มีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่มีแพนด้าไว้จัดแสดง คือ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก, เยอรมนี และไทยเรา

 

 

 

หมีมากับการเมือง?

 

หันมาที่บ้านเรา ถ้าจะบอกว่าแพนด้ามาไทย คือผลงานรัฐบาลแม้วก็ไม่เถียง เพราะราวปี 2544 ในช่วงฮันนีมูนม่วนซื่นกับรัฐบาลใหม่ไทยรักไทย นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ร่วมดีลนำแพนด้ามาให้คนไทยได้เชยชมตัวเป็นๆ

 

การเมืองไทยแบบเดิมๆ อาจจัดมวย ฟุตบอล เรือยาว ก็ยังมีอยู่ แต่การเมืองแบบเหลี่ยมๆ “จัดหมี” ดีกว่า นัยว่าดึงรายได้เข้าการท่องเที่ยวไทยอีกด้วย

 

ว่าแล้วอดีตนายกฯ ก็จัดให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ขณะนั่งรองนายกฯ เยือนจีนเพ่ื่อเจรจาขอแพนด้าจาก ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน เป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ

 

 

\'ช่วงช่วง\' กับ คำสัญญาในป่าไผ่

บรรยากาศในบ้านใหม่ของสองแพนด้า

 

 

เม้าท์ว่าหลังจีนอนุมัติ พ่อใหญ่จิ๋วต้องไปศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์อู่หลง เมืองเฉิงตู อีกครั้ง เพื่่อจิ้มว่าจะเอาตัวไหน จริงเท็จยังไง หวยไปออกที่ “ช่วงช่วง” แพนด้าเพศผู้ที่เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2543

 

ช่วงช่วงมีอายุไม่กี่่ขวบปี ก็ต้องเตรียมตัวฟิตร่างกายเพื่อเดินทางไกล คนไทยได้ยินว่านี่คือ โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย”

 

ปี 2544 ทักษิณอนุมัติงบกลาง จำนวน 39,818,313 บาท เป็นค่าก่อสร้างส่วนวิจัยและจัดแสดงแพนด้า ซึ่งที่นั่นก็คือ “สวนสัตว์เชียงใหม่” บ้านเกิดของอดีตนายกฯ คนดังนั่นเอง

 

ระหว่างนั้นก็เตรียมโน่น ตั้งกรรมการนี่ เป็นเรื่องราวใหญ่โต จนล่วงเข้าปี 2546 มีการแต่งตั้งให้ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ขณะเป็น ส.ส.เชียงใหม่ ดำเนินการจัดพิธีต้อนรับแพนด้าในนามชาวเชียงใหม่

 

 

\'ช่วงช่วง\' กับ คำสัญญาในป่าไผ่

คู่รักในวันชื่นคืนสุขที่เชียงใหม่

 

 

ที่สุด 12 ตุลาคม 2546 ช่วงช่วง วัย 3 ปี พร้อมแฟนสาวหรือ “หลินฮุ่ย” สาวน้อย วัย 2 ขวบ ก็เดินทางถึงไทยด้วยเที่ยวบินพิเศษ “เรารักแพนด้า” และร่วมขบวนแห่ยิ่งใหญ่จากแอร์พอร์ตถึงสวนสัตว์เชียงใหม่

 

และแล้ว คนไทยก็ได้เสียค่าบัตรเข้าชมแพนด้าคู่รักได้นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นมา แต่ในช่วงวันเด็ก นายกฯ ยังใจดีให้เด็กที่ยากจนมีโอกาสนั่ง C130 ไปดูแพนด้าฟรีถึงที่่ จากการคัดเลือกโดยกระทรวงศึกษาธิการ

 

 

คำสัญญาในป่าไผ่

 

สำหรับข้อตกลงระหว่างไทยกับจีนตอนนั้น คือไทยจะต้องดูแลแพนด้า “เป็นอย่างดี” ทั้งเรื่องที่พัก อาหารต้นไผ่สุดโปรด สุขภาพ ฯลฯ ในช่วงระยะเวลา 10 ปี คือตั้งแต่ปี 2546-2556

 

สำหรับเงื่อนไขที่เจรจามีค่าตอบแทนคู่ละ 10 ล้านบาทต่อปี ให้แก่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าของจีน ซึ่งเป็นราคามิตรภาพเพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาแพนด้าของจีน และเงื่อนไขต่อสัญญา 10 ปีต่อครั้ง เมื่อครบกำหนด จะมีการเจรจาใหม่ และขณะที่อยู่ในไทย ถ้าแพนด้าตกลูกไทยต้องส่งลูกคืนให้แก่จีนเมื่อครบอายุ 2 ปี

 

ช่วงนั้นไทยเกิดปัญหาการเมือง แต่เราก็ยังมีกิจกรรมโหวตชื่อแพนด้าน้อยไว้แก้เบื่อ หลังหลิยฮุ่ยเตรียมให้กำเนิด ทายาทจนกระทั่งได้ชื่อ “หลินปิง” หลังคลอดในวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 โดยวิธีผสมเทียม จากน้ำเชื้อของ “ช่วงช่วง”

 

 

\'ช่วงช่วง\' กับ คำสัญญาในป่าไผ่

หลินปิงน้อยสามเดือน

 

 

มุมนี้ด้านหนึ่งไทยเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ต่อจากอเมริกา และญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จในการผสมเทียมแพนด้า แต่อีกด้านเจ้าหลินปิงนี่เองที่สร้างรายได้ให้แก่จังหวัดและสวนสัตว์

 

ดังข้อมูลว่ารายได้ของสวนสัตว์ที่มีแพนด้า กับสวนสัตว์สงขลาซึ่งไม่มีแพนด้า พบว่าสวนสัตว์เชียงใหม่สูงกว่าหลายเท่า จากปกติมีประชาชนเข้าชมสัตว์ในสวนสัตว์ไม่มาก แต่พอมีแพนด้ามาอยู่ประชาชนจากทั่วประเทศมาเข้าชมจำนวนมากมียอดค่าผ่านประตูปีละ 7-8 แสนคนทำให้มีรายได้จากตรงนี้

 

แถมยังทำให้เกิดปรากฏการณ์เรียลิตี้หมีน้อย 24 ชั่วโมง กระจายรายได้เข้าแวดวงทีวีอีก...จำได้หรือไม่ (ฮา)

 

จนปี 2554 คนไทยได้ ปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” สาวเชียงใหม่เป็นนายกฯ คนไทยเริ่มนับถอยหลังส่ง หลินปิงกลับจีนตามสัญญา แต่ช่วงปี 2555 จีนได้ขยายเวลาให้หลินปิงอยู่ไทยต่ออีก 2 ปี รวม 4 ปี หรืออยู่ต่อจนถึงปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่ครบสัญญา 10 ปีของคู่พ่อแม่ด้วยพอดี

 

ที่สุด ข้อตกลงในป่าไผ่แข็งแกร่งนัก 28 กันยายน 2556 หลินปิงกลับเฉิงตูจริงๆ เพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ต่อไป และก็ยังไม่มีวี่แววกลับไทยแต่อย่างใด

 

เพราะปี 2557 หลังเกิดปัญหาการเมืองในไทย ทำให้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบทำสัญญาเรื่องแพนด้าน้อยร่างยักษ์ ไล่มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน คาดว่าคงไม่มีใครตามเรื่องแล้ว

 

 

\'ช่วงช่วง\' กับ คำสัญญาในป่าไผ่

ลาก่อน ช่วงช่วง

 

 

โชคดีที่ระหว่างนั้นปี 2556 ในส่วนของแพนด้าคู่พ่อแม่ ได้มีการต่อสัญญารอบ 2 อยู่ยาวอีก 10 ปีคือ 2556-2566 ไม่งั้นเราอาจไม่ได้ยลแพนด้าอีกเลยสักตัว

 

ก่อนที่ “ช่วงช่วง” ลาโลกไปเมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา นำพากระแสชาวจีนเรียกคืน “หลินฮุ่ย” สาวใหญ่วัย 20 กลับบ้านก่อนกำหนด เพราะสงสัยว่าทางไทยผิดคำมั่นสัญญา ?

 

*************************

 

ภาพจากวิกิพีเดีย