คอลัมนิสต์

จากเหยื่อผันตัวเป็นโจร(อิเล็กทรอนิกส์)

จากเหยื่อผันตัวเป็นโจร(อิเล็กทรอนิกส์)

27 ก.ย. 2562

คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย   โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม

 

 


          ทุกวันนี้การก่ออาชญากรรมบนโลกออนไลน์สามารถทำได้ง่าย ซึ่งสวนทางกับการป้องกันและตรวจสอบที่ยังทำได้ค่อนข้างยาก ฉะนั้นผู้ใช้บริการต้องระมัดระวัง โดยต้องคัดกรองบุคคลที่ติดต่อผ่านเครือข่ายออนไลน์อย่างถี่ถ้วน ที่สำคัญข้อมูลสำคัญด้านการเงิน บัตรประจำตัวประชาชน และหลักฐานอื่นที่เป็นเรื่องส่วนบุคคล จึงไม่ควรนำไปเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ หรือไว้ใจให้ใครง่ายๆ ผ่านเสียงตามสายที่ยกหูโทรศัพท์ติดต่อ เพราะผู้ไม่หวังดีอาจนำไปใช้ประโยชน์จนเกิดความเสียหายได้

 

 

          เมื่อพูดถึงข้อมูลส่วนบุคคลสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง? ก็ต้องบอกว่าในยุคปัจจุบันนี้เอาไปทำอะไรต่อมิอะไรก็ได้สารพัด อาทิ สามารถนำมาใช้ออกแบบสินค้า บริการ เพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย หรือสามารถนำไปใช้เพื่อหาข้อมูลได้ตรงกับความสนใจของเรามากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนนี้ด้านดีก็มี แต่ด้านร้ายก็เยอะ เพราะข้อมูลของเราอาจจะถูกนำไปใช้ในทางไม่ดีได้เหมือนกัน โดยเกิดคดีเข้าร้องทุกข์กับตำรวจมากมายในยุค “ไซเบอร์” ตอนนี้ เช่น เอาเลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลต่างๆ ไปสวมรอย, ข้อมูลพิกัดที่อยู่ต่างๆ สามารถเปิดช่องให้โจรรู้ หรือขโมยเข้าบ้านได้, ติดตาม สะกดรอย สอดแนม ชี้ช่องให้ผู้ไม่หวังดี, การ spam E-mail หรือหมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น

 

 

จากเหยื่อผันตัวเป็นโจร(อิเล็กทรอนิกส์)

 

 


          เช่นเดียวกับคดีที่ปรากฏเป็นข่าวการจับกุมล่าสุดที่คนเป็นโจรในวันนี้เคยตกเป็นเหยื่อแก๊งต้มตุ๋นถูก “ฉ้อโกงทางอิเล็กทรอนิกส์” มาก่อน ทว่าความอยากรู้วิธีการโกงของโจรในครั้งนั้นเป็นเช่นไรจึงเข้าไปสอบถามข้อมูลด้วยตัวเอง พอรู้ขั้นตอนวิธีการก็ผันตัวเองจากเหยื่อมาเป็น “โจรอิเล็กทรอนิกส์” เสียเอง


          เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) มีการแถลงผลจับกุม นายวรวัช แดงดี และ นายกานต์ พูนจันทร์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดหัวหิน ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน หลังถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 2 เข้าจับกุมตัว ที่อำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ต้องหาทั้งสองคนได้ติดต่อผู้เสียหายรวมทั้งสิ้น 12 ราย โดยอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคารไทยพาณิชย์และมีการเสนอให้ผู้เสียหายทำการกู้ยืมเงิน 




          ทันทีที่ผู้เสียหายหลงเชื่อก็จะให้เปิดบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ โดยให้มีเงินคงเหลือในบัญชีเอาไว้ จากนั้นก็จะหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว อาทิ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และ รหัสธุรกรรมโอทีพี (OTP) เพื่อยืนยันตัวบุคคล สำหรับนำข้อมูลไปลงในแอพพลิเคชั่นโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ จากนั้นก็โอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหายไปยังบัญชีธนาคารที่รับซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตในราคาบัญชีละ 1,000 บาท แล้วถอนเงินออกโดยไม่ใช้บัตรเอทีเอ็ม ซึ่ง นายวรวัช ทำหน้าที่หลอกลวง ซื้อบัญชีทางโซเชียลมีเดีย และโอนเงินจากบัญชีผู้เสียหาย รวมถึงถอนเงินโดยไม่ใช้บัตร ส่วน นายกานต์ ทำหน้าที่นำรหัสตระเวนถอนเงินสดที่ได้จากการหลอกลวงในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

 

จากเหยื่อผันตัวเป็นโจร(อิเล็กทรอนิกส์)

 

 


          จะเห็นได้ว่าการให้ช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลถึงแม้จะมีข้อดี แต่หากไม่ระวังก็อาจจะส่งผลเสียได้เช่นกัน หากคนอื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ก็สามารถนำไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้เหมือนกัน เฉกเช่นโจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังวนเวียนหาเหยื่อที่ไม่ทันระวังตัว รักความสะดวก ชอบความสะบายอยู่ทุกวัน..!!