สิ้นยุค "เดอะแป๋ง" "อังกินันทน์" ต้องไปต่อ?
รายงานพิเศษ จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 28-29 ก.ย.62
****************************
สิ้นเจ้าพ่อเมืองเพชร หรือ “เดอะแป๋ง” ปิยะ อังกินันทน์” นอกเหนือจากเส้นทางชีวิตอันโชกโชนในทางการเมือง ค่าที่เป็นอดีต ส.ส.เพชรบุรี 6 สมัย และมีเครือข่ายทายาททางการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นมากมาย
คำถามจากนี้คือภาพของการเมืองถิ่นคนดุใจนักเลงจะออกมารูปแบบไหน เพราะขึ้นชื่อว่า “เกม” ไม่มีสูตรเดิม ไม่มีผู้แพ้ทั้งชีวิต ไม่มีผู้ชนะตลอดกาล
ตำนานคนใหญ่เมืองขนม
เรื่องราวของคนใหญ่คนโตระดับที่เรียกกันว่า “เจ้าพ่อ” เมืองไทยมีเจ้าตำนานมากมายกระจายไปตามท้องที่
ที่สำคัญคือคนเหล่านี้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองมานาน มีลักษณะร่วมกันคือเป็นนักธุรกิจในต่างจังหวัดที่สะสมความมั่งคั่งจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในยุคใดยุคหนึ่ง
ปิยะ อังกินันทน์ หรือ เฮียแป๋ง
สำหรับพื้นที่ จ.เพชรบุรี เมืองด่านสำคัญระหว่างภาคกลางและภาคใต้ สำเนียงเสียงพูดรัวเร็วแบบใต้ แปร่งเหน่อมีเอกลักษณ์ ที่นี่มี “ปิยะ อังกินันทน์” หรือ เฮียแป๋ง ผู้โลดแล่นเติบใตในเส้นทางคนโตมาอย่างโชกโชนเป็นตำนาน
ปิยะ เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2476 เป็นบุตรชายคนโตของ ผาด อังกินันทน์ อดีต ส.ส.เพชรบุรี อดีตนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี และบุญยวด อังกินันทน์
มีน้องชายคือ ยุทธ (เปี๊ยก) อังกินันทน์ อดีต ส.ส.เพชรบุรี 7 สมัย อดีต รมช.กระทรวงเกษตรฯ และรมช.กระทรวงแรงงาน นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี (คนปัจจุบัน)
เดอะแป๋ง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมรสครั้งแรกกับอุไร (สิ่ม) อังกินันทน์ มีบุตร-ธิดา รวม 3 คน คือ
1.สุขสันต์ (โป๋) อังกินันทน์ รองนายก อบจ.เพชรบุรี 2.ปานจิต (น้อง) ชิ้นศิริ และ 3.ชัยยะ (ปราย) อังกินันทน์ นายก อบจ.เพชรบุรี เมื่ออุไรถึงแก่กรรม ได้สมรสครั้งที่สองกับสุคัณธา มีธิดา 1 คน คือ ปิยะนาต (แจม)
ตระกูลการเมืองของแท้
จากข้างต้นเราได้เห็นแล้วว่าคนตระกูลอังกินันทน์กับสนามการเมืองทั้งเล็กและใหญ่แทบเป็นลมหายใจ
หนังสือพิมพ์เพชรภูมิ เพชรนิวส์ ให้ข้อมูลไว้ละเอียดว่า ต้นตระกูลรุ่นปู่ของเดอะแป๋งก็เป็นถึง "ขุนอังกินันทนพงศ์" ทนายความที่มีชื่อเสียงของเมืองเพชรในยุคนั้น
ขณะที่ “ผาด” ผู้เป็นพ่อก็เดินรอยตามในเส้นทางทนายความ หลังจากตกร่องลงเอยกับ “บุญยวด” จนมีลูกสองคน “เดอะแป๋ง” และ “เดอะเปี๊ยก”
แต่ที่สุดผาดก็ตัดสินใจเข้าสู่วงการเมืองท้องถิ่น ซึ่งจะว่าไปน่าจะตามรอย ทองพูน อังกินันทน์ พี่ชายต่างมารดามากกว่า เพราะรายนี้เป็น ส.ส.คนที่ 3 ของเพชรบุรี มาตั้งแต่ปี 2481 สมัยนั้นมีเขตเดียวทั้งจังหวัด
ที่สุดผาดได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาเทศบาลเมืองเพชรบุรี ตามมาด้วย นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี ตั้งแต่ปี 2491 เป็นต้นมา จนกระทั่งมาเป็นส.ส.เพชรบุรี ในปี 2500 พรรคสหภูมิ
ถึงตรงนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่พอมาถึงรุ่นของเดอะแป๋งบุตรชายคนโต ที่จะทิ้งงานแบงก์หันมาลงการเมืองบ้าง โดยเริ่มจากเป็นสมาชิกสภาจังหวัด เมื่อปี 2500 ตามด้วยสมาชิกสภาเทศบาลเมืองเพชร ช่วงปี 2508-2509
ก่อนที่จะประเดิมลงส.ส.ในปี 2512 สังกัดพรรคสหประชาไทย แต่สอบตก กลับไปเป็นประธานสภาจังหวัดช่วงหนึ่งจนมาทำสำเร็จได้เป็น ส.ส.ครั้งแรกเอาช่วงปี 2518 สังกัดพรรคชาติไทย
จากนั้นดูเหมือนว่าโลกก็หยุดเขาไม่อยู่ เพราะเฮียแป๋งได้รับเลือกเรื่อยมารวม 6 สมัย แถมถ้าสังเกตคนอื่นจะยังไงไม่รู้ แต่การเมืองของเฮียแป๋งคือเข้าพรรคไหนก็สอบติด!
ไล่ตั้งแต่ปี 2522 พรรคสยามประชาธิปไตย ปี 2526 พรรคชาติประชาธิปไตย ปี 2531 พรรคชาติไทย ปี 2535/1 พรรคชาติไทย ปี 2539 พรรคกิจสังคม
การเมืองเรื่องเกินเดา
แต่การเมืองก็เหมือน “เกม” ยุคสมัยเปลี่ยน สูตรเกมออกใหม่เรื่อยๆ เจ้าพ่อตะวันตกอย่างเฮียแป๋ง ผู้ได้รับการยอมรับว่า “ใจถึงพึ่งได้” ยุคแรกๆ ของนักการเมืองไทย สะสมบารมีลูกน้องบริวารจำนวนมา
ทั้ง “ยุทธ” น้องชาย ยังดูแลกลุ่มการเมืองที่เรียกว่า “กลุ่มผาด” หรือ “กลุ่มผาด อังกินันทน์” ยิ่งใหญ่ในสนามเทศบาลเมืองเพชรบุรี
คนพี่เป็นส.ส.เพชรบุรี 3 สมัย คนน้องเป็น ส.ส.เพชรบุรี 7 สมัย และรุ่นหลานอีกหลายคนได้โลดแล่นในสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติอย่างต่อเนื่อง ยุคหนึ่งใครๆ ต้องคิดไม่ถึงว่าจะมีวันที่เกมเปลี่ยน แม้แต่เจ้าตัว
เฮียแป๋ง กับยุทธ
ที่สุดนับจากปี 2535 เมื่อกระแส “คนใต้เลือกชวน” แผ่ขยายไปทั่วแดนสะตอของไทย พื้นที่เพชรบุรีก็เริ่มมีส.ส อย่าง “อลงกรณ์ พลบุตร” จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ชนะเลือกตั้งครั้งที่เรียกว่า “35/2” หลังพฤษภาทมิฬ คนไทยมีนายกฯ ชื่อชวน หลีกภัย
แต่ระหว่างนั้นทั้งเดอะแป๋งและเดอะเปี๊ยกก็ยังมีชื่อสอบติด โดยคนพี่มาสอบได้ในปี 2539 ขณะที่น้องชายฟาดเรียบทั้ง 35/2, 2538 และ 2539
แต่จากนั้นเกมก็เปลี่ยนไปตลอดกาล นับแต่ปี 2544-2548 กระแส “ทักษิณ-ไทยรักไทย” มาแรง แป๋งย้ายไปสังกัดพรรคนายใหญ่ แต่เขาอ่านเกมผิด!
เพราะพื้นที่เมืองเพชรถูกค่ายสีฟ้ายึดไว้หมดทั้งเขต 1 เขต 3 โดย อลงกรณ์ พลบุตร, อภิชาต สุภาแพ่ง ตามลำดับ และมีคนจากไทยรักไทยโผล่ได้ ส.ส.ที่เขต 2 คือ ธานี ยี่สาร
ยิ่งการเลือกตั้งปี 2550, 2554 พื้นที่แดนต้นตาลทั้ง 3 เขต กลายเป็นสีฟ้าทั้งหมด โดยเฉพาะนับจากช่วงปี 2548 กลุ่มการเมืองเพชรบุรีก็มีกลุ่มพันธมิตรฯ เกิดขึ้นมาเป็นกลุ่มผลประโยชน์ใหม่ และมีการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางในพื้นที่จนมีผลต่อชัยชนะของปชป.ในการเลือกตั้งปี 2550 (ยาวมาถึงม็อบ กปปส.)
ก่อนที่เกมจะพลิกในฝั่งสีฟ้าอย่างจัง ช่วงเลือกตั้งปี 2562 เมื่อหัวหน้ามาร์ค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินสูตรผิดชีวิตเปลี่ยน ประกาศไม่เอาทหาร จนขนมหวานเมืองเพชรทั้งจังหวัดโดนส.ส.หน้าใหม่จากพรรคพลังประชารัฐเหมาหมด
อนาคตรอคำตอบ
น่าสนใจที่เดอะแป๋งเคยพูดวรรคทองตั้งแต่ตัวเองแพ้เลือกตั้ง 2535/2 ว่า “คนเห่อของใหม่ แล้ว (ตัวเอง) ก็ไม่เด็ดขาดเหมือนเมื่อก่อน” หากแต่เขาวางมือทางการเมืองจริงจังในปี 2550 หลังพ่ายแพ้ยับในเสื้อพรรคพลังประชาชน
จากนั้นภาพที่โลกเคยเป็นของคนชื่อเแป๋ง จึงเหมือนเจือจางลงและวางปัจจุบันไว้ที่ปีกเงาทางการเมืองของทายาท เพราะปี 2551 ชัยยะ บุตรชายได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.เพชรบุรี จึงแต่งตั้งบิดามาเป็นรองนายกฯ อบจ.ด้วย
ยุทธ อังกินันทน์
แต่เหมือนไฟยังไม่มอด ปี 2554 ลุกขึ้นมาสังกัดพรรคเพื่อไทย แต่เงียบไปจนมาถึงการเลือกตั้งต้นปี 2557 เฮียแป๋งย้ายกลับพรรคชาติไทยพัฒนา สมัครเขต 2 เพชรบุรี โดยมียุทธพล บุตรชายของยุทธ อังกินันทน์ ลงเขต 1
วันนั้นตระกูลอังกินันทน์เกือบได้ประกาศชัยชนะของหลานชาย ถ้าการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่กลายเป็นโมฆะไปเสียก่อน
สุดท้ายหันไปข้างเจ้าพ่อตะวันตกอย่าง “เดอะแป๋ง” ดูเหมือนว่าคงถึงเวลาวางมือจริงๆ เสียที เฝ้าดูทายาททำการเมืองท้องถิ่น
เพราะเขามีทั้ง ชัยยะ อังกินันทน์ นายก อบจ.เพชรบุรี และ สุขสันต์ อังกินันทน์ รองนายก อบจ.เพชรบุรี สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ขณะที่ลูกสาวจากภรรยาอีกคนอย่าง ปิยะนาต ก็ยังเป็นปลัดอำเภอใน จ.สระแก้ว อีกด้วย
ชัยยะ และ สุขสันต์ อังกินันทน์
การเมืองรุ่น 1 ที่ ผาด อังกินันทน์ สร้างสมผู้คน เสบียงกรัง และต้นทุนทางสังคมล้นปรี่จนส่งต่อมายังรุ่นลูกหัวแก้ว “ปิยะ” และหัวแหวน “ยุทธ” เดินตามรอยได้อย่างสมเกียรติภูมิ
แม้รุ่นตัวเองก็ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยสายเลือดของคนโต ใจนักเลง และสร้างสมบารมีจนร่ำรวยจากธุรกิจ เดอะแป๋งทำมาหมดทั้งคุมคิวรถตู้โดยสาร หรือการได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการขนส่งสายใต้
ภาพการเมืองไทยเป็นเรื่องของการใช้อิทธิพลเป็นเครื่องมือ การพึ่งเครือข่ายผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่จะเข้ามาเป็นหัวคะแนนให้รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูลชาวบ้านในรูปแบบต่างๆ นี่คือสายสัมพันธ์ที่ทำให้ทุกๆ จังหวัดมีเจ้าตำนานเป็นของตนเองทั้งสิ้น
วันนี้น่าสนใจว่ารุ่นลูกที่กำลังโลดแล่นในสนามการเมืองท้องถิ่นเมืองเพชร จะมองเส้นทางการเมืองสนามใหญ่ไว้แบบไหน “สานต่อ-ตำนานพ่อ” หรือ “หยุดตรงนี้-ที่ท้องถิ่น”
อย่าลืมว่าเกมเปลี่ยนได้เสมอ ถ้าเราเลือกอยู่ถูกที่ ถูกเวลา และถูกคน
**************************