คอลัมนิสต์

ฝุ่นพิษ-ภัยประจำถิ่น

ฝุ่นพิษ-ภัยประจำถิ่น

02 ต.ค. 2562

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 2 ตุลาคม 2562

 

 

 

          หรือว่าประเทศไทยกำลังกลายเป็นดินแดนที่มีปัญหาประจำถิ่นซ้ำซากจำเจแก้ไขไม่ตกมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างในช่วงเทศกาลที่มีคนเดินทางบนท้องถนนกันมากๆ ก็จะมีผู้ประสบอุบัติเหตุล้มตายบาดเจ็บเป็นที่สลดหดหู่ ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ สงกรานต์ ทุกๆ รัฐบาลต้องจัดกิจกรรมรณรงค์พร้อมกำชับบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ช่วงหน้าฝน น้ำท่วมทุกปี ช่วงหน้าแล้ง หลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง กรมชลประทานต้องออกมาประกาศห้ามทำนา และล่าสุดในขณะนี้หลายๆ จังหวัด โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครกำลังประสบปัญหาใหม่ติดต่อกันเข้าปีที่ 2 แล้วคือฝุ่น

 

 


          ควันพิษเกินมาตรฐานหรือค่า"พีเอ็ม 2.5" ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ชาวเมืองต้องหันกลับมาสวมหน้ากากอนามัยกันอีกครั้งเหมือนเมื่อปีที่แล้ว เพื่อต่อสู้กับ"ฝุ่นพิษ"ที่มาเร็วกว่าที่เคย  เมื่อปี 2561 ปัญหา"ฝุ่นพิษ"ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สร้างความตื่นตัวให้แก่ทุกภาคส่วน จำเลยลำดับต้นๆ ที่ถูกมองว่าเป็นสาเหตุก็คือยวดยานจำนวนมากที่ปล่อยควันพิษออกมา โดยเฉพาะไอเสียจากรถเครื่องยนต์ดีเซล ตามด้วยกิจกรรมอื่นที่ก่อให้เกิดควัน คือโรงงานและการเผาไหม้ต่างๆ หน่วยงานภาครัฐออกตรวจตราโรงงานกันขนานใหญ่พร้อมกับการตั้งด่านตรวจจับรถปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน เมื่อปัญหาคลี่คลายตามสภาพอากาศที่ย่างเข้าหน้าฝน มาตรการต่างๆ ที่เห็นขะมักเขม้นกันนั้นก็เงียบหายไป คล้ายๆ กับการรณรงค์ลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาล หรือแม้แต่การพูดถึงอุทักภัยกับภัยแล้งที่คนไทยประสบอยู่ราวกับเป็นเทศกาล หมดเวลาก็หายห่างกันไป

 


          จะว่าไปแล้วกรุงเทพฯ ก็ยากจะหลีกเลี่ยงภาวะ"วิกฤติฝุ่นพิษ" เช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ได้ เพราะจำนวนรถยนต์ตามสถิติของกรมการขนส่งทางบกเมื่อปีที่แล้วที่ออกมาวิ่งปล่อยไอเสีย มีมากถึง 10.2 ล้านคัน จากที่จดทะเบียนสะสมทั่วประเทศมีอยู่กว่า 39.6 ล้านคันในจำนวนนี้ สำหรับในกรุงเทพฯ เป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล กว่า 2.65 ล้านคัน เมื่อพิจารณาตามอายุการใช้งานของรถเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 61 พบว่ารถที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี มีกว่า 79,794 คัน, อายุการใช้งาน 11-15 ปี มีกว่า 917,365 คัน, 16-20 ปี จำนวน 368,867 คัน และมากกว่า 20 ปีขึ้นไป เข้าขั้นบุโรทั่ง ก็มีมากถึง 267,539 คัน เหล่านี้ล้วนคือตัวการปล่อยไอเสียเกินมาตรฐานด้วยกันทั้งสิ้น

 

 

 

 

          ดังตัวอย่างที่ยกมาเหล่านี้จะเห็นได้ว่ามลพิษหรือภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวในสังคมไทย ส่วนหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างยากจะเรียกคืน อีกส่วนหนึ่งคือการกระทำหรือละเว้นการกระทำตามหน้าที่ของคนในสังคมด้วยกันเอง การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ในเมื่อสมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกันมักจะย่อหย่อน ละเลย ไม่คำถึงถึงส่วนรวม แต่เหนืออื่นใดก็คือการปลูกสร้างสามัญสำนึกร่วมกันในอันที่จะช่วยกันเรียกคืนสภาพแวดล้อมที่ดีกลับคืนมาให้ได้ ตัวอย่างการลงทุนโครงสร้างการขนส่งระบบรางหรือรถไฟฟ้า ซึ่งช่วยลดปัญหามลพิษได้อย่างดี แต่แม้รถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นหลายสาย หากจำนวนรถยนต์ในกรุงเทพฯ กลับเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เท่ากับลงทุนสูญเปล่า สภาพเช่นนี้คนกรุงก็จะต้องสูด"ฝุ่นพิษ"ประจำปีไปอีกนาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ฝุ่นพิษพุ่ง กทม.24 เขต แนะใส่ N95
-จัดหนัก 3 มาตรการสุดเข้มแก้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5
-ฝุ่นพิษข้ามพรมแดน
-นายกฯย้ำเลิกใช้รถควันดำ วอนร่วมแก้ปัญหาฝุ่น