รำลึก 6ตุลา19 วาระ แก้รธน.60
ฝ่ายค้าน ยืนยันต่อแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องทำให้สำเร็จ ผ่านกระบวนการของประชาชน ที่ชื่อว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ
ขนิษฐา เทพจร
เนื่องในวันครบรอบ 43 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เป็นเหตุการณ์จลาจลทางการเมือง ระหว่าง "นักศึกษา" และ "รัฐบาลยุคนั้น" แม้กงล้อประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย จะล้มลุกคลุกคลาน และมีปมเหตุที่ทำให้ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหลายครั้ง ในเวลาต่อมา
แต่ระยะเวลา 43 ปีที่ผ่านไป และครบรอบเหตุการณ์ดังกล่าวอีกครั้งในปี 2562 ถึงเวลาที่ต้องถอดชนวนปัญหา
อย่างไรก็ดีในงานรำลึกเหตุการณ์ 6ตุลาคม2519 นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นำโดย คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จัดเวทีเพื่อรำลึกถึงงานดังกล่าว โดยเน้นไปที่ประเด็นของการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หัวข้อ "สู่รัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน" โดยมี นักเคลื่อนไหว นักศึกษา และ นักการเมือง เข้าร่วมเวทีเพื่อสะท้อนความคิดและความเห็นต่อปมปัญหาทางการเมือง ที่มีชนวนจาก "รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560"
เวทีนี้ เริ่มต้นนำเสนอความเห็นนักศึกษาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่เครือข่ายที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเห็นของนักศึกษาใน 28 มหาวิทยาลัย จำนวน 3,000 คน โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ซึ่งมีบทสรุปของเนื้อหา คือ หลังจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พบปัญหาที่เกิดขึ้นสูงสุด คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลเลือกตั้งล่าช้า สับสน ร้อยละ 4.56 รองลงมา คือ รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ร้อยละ 4.47 , นายกฯ ไม่ได้มาจาก ส.ส.ร้อยละ 4.44, การคำนวณคะแนนเลือกตั้งก่อให้เกิดปัญหา ร้อยละ 4.41, แผนยุทธศาสตร์ขาดทิศทางที่ชัดเจนสำหรับประชาชน และ การเพิ่มงบประมาณของกองทัพ ร้อยละ 4.35
และจากปัญหาที่พบ ผลสำรวจยังระบุถึงความกังวลของ ตัวแทนนักศึกษา ว่าจะมีปมอื่นที่ตามมา อาทิ การละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การยึดที่สาธารณะ ที่ทำกินของชาวบ้านให้กับเอกชน, การฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านเพื่อทวงคืนผืนป่า, การทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมือง, ระบบตรวจสอบถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่โปร่งใส เป็นธรรม, การพัฒนาประเทศ รวมถึงกระบวนการยุติธรรมและการใช้อำนาจรัฐ เช่น ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมต่อการเข้าถึงทรัพยากร, การบริหารงบประมาณที่ไม่โปร่งใส เป็นต้น
โดยบทสรุปจากผลสำรวจ ต่อคำถามสำคัญคือ ควรจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 95.1 เห็นว่าควรแก้ไข ขณะที่ร้อยละ 4.9 เห็นว่าไม่ควรแก้ไข พร้อมเสนอความเห็นต่อด้วยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ร้อยละ 63.9
นอกจากนั้นยังมีความเห็นต่อปัญหารัฐธรรมนูญ ผ่านมุมมองตัวแทนประชาชน คือ นายสุรพล สงฆ์รักษ์ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) แสดงความผิดหวังต่อกลไกของรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้ "นายกฯ" มา โดยขาดการยึดโยงของประชาชน เพราะส่วนหนึ่งมาจากการลงมติโดย "วุฒิสภา" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ขณะที่ไฮไลต์ของเวทีรำลึกเหตุการณ์ เมื่อ 43 ปี โดยมีการเปิดเวทีให้ ตัวแทนนักการเมือง นำเสนอความเห็นต่อประเด็นที่สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเฉพาะตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านขึ้นเวที ขณะนี้ตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่ผู้จัดงานเชิญนั้น ปฏิเสธการเข้าร่วม
โดย สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ยืนยันต่อแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องทำให้สำเร็จ ผ่านกระบวนการของประชาชน ที่ชื่อว่า "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 265
"มีทางเดียวที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้คือ ต้องมีคนกลาง คือ ประชาชนมาแก้ไข เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการยอมรับ เนื่องจากกลไกแก้รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขที่ต้องให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ วุฒิสมาชิก เห็นด้วย ดังนั้นหากขับเคลื่อนโดยลำพังจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ผมเชื่อว่าจนปัญญาที่จะทำได้"
นอกจากมาตรการหลักที่ "ตัวแทนพรรคเพื่อไทย" มองยังขอเสริมในออฟชั่นพิเศษ คือ ใช้กลไกและกระบวนการของสภาฯ เพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาของรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นร่วมกัน ผ่านการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติ และมีพรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคพลังประชารัฐ, พรรคประชาธิปัตย์ยื่นญัตติในประเด็นเดียวกัน อย่างไรก็ตามขอให้ติดตามด้วยว่าการพิจารณาญัตติที่เลื่อนลำดับแล้วนั้น จะมีปรากฎการณ์ "ไอ้เบี้ยว" หรือไม่
ทางด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ย้ำถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ เป็นฉบับที่ไม่ดี ไม่เป็นประชาธิปไตย ตามผลการสำรวจของนักศึกษาที่ปรากฎ พร้อมให้ความเห็นด้วยว่า ในระบอบประชาธิปไตย จำเป็นต้องมีสถาบันทางการเมือง คือ พรรคการเมือง แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันการเมือง คือ กองทัพ และระบบราชการ ทั้งนี้ยอมรับว่าสถาบันทางการเมืองที่ว่านั้น มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการอำนาจ ต้องการตำแหน่ง และต้องการผลประโยชน์ แต่สถาบันการเมืองส่วนของพรรคการเมือง ต้องการเป้าหมายนั้นผ่านประชาชน ขณะที่กองทัพและระบบราชการ นั้นต้องการเป้าหมายด้วยการยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญ
"การสร้างรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับที่ดีที่สุด คือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และ เข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายบริหารดำเนินการเอง อย่าง ร่างกฎหมายงบประมาณที่เตรียมพิจารณาในสภาฯ รัฐบาลมีเป้าหมายเก็บภาษีให้ได้เยอะ แต่ที่ผมสัมผัสจากประชาชน พบว่าเขาต้องการให้เก็บภาษีให้น้อยลง เพราะห่วงว่าการเก็บภาษีนั้นจะนำไปใช้เพื่อทุจริต เหมือนที่พบว่ามีการนำเงินหลายร้อยล้านบาท ซื้อบ้านพักสวัสดิการให้กับกลุ่มของทหาร" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
ส่วน ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ย้ำถึงความสำคัญต่อกระบวนการเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญที่ดี และเป็นที่ยอมรับจากประชาชน
โดยจุดเริ่มที่ "ปิยบุตร" มอง คือ การสร้างความต้องการที่เป็นเป้าหมายร่วมกัน คือ รูปแบบการเมือง การปกครอง สถาบันทางการเมืองที่ดี รวมถึงหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพ รวมถึงให้ฝ่ายผู้แพ้การเลือกตั้งยอมรับผลเลือกตั้ง ส่วนผู้ที่เป็นรัฐบาลต้องถูกตรวจสอบ
"ปัญหาของประเทศไทย ผมมองว่ามาจากการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ บ่อยเกินไป ในจำนวน 20 ฉบับพบการแก้ไขโดยคณะบุคคลที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการถึง 17 ครั้ง และทำให้รัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบหลังจากการยึดอำนาจ รัฐประหาร คือ การสนองวัตถุประสงค์ทางทหาร ลดทอนอำนาจการเลือกตั้ง และเพิ่มอำนาจองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้รัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบ มีลักษณะคล้าย ตีหัวเข้าบ้าน ทำให้การสร้างฉันทามติโดยประชาชนไม่เกิดขึ้น และปัญหานี้จะลามไปถึงการสร้างความปรองดองในประเทศ"
กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั้น "ปิยบุตร" มองว่า เป็นระบบที่ถูกออกแบบ เพื่อสืบทอดอำนาจ เพราะมีกลไกที่ออกแบบให้มีองค์กร มีพรรคการเมืองเพื่อลงเลือกตั้ง และในรัฐสภามีพรรคของวุฒิสภา 250คน และยังออกแบบกลไกให้แก้ไขเนื้อหาที่ยาก ซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนเห็นแก่ตัว
"พรรคฝ่ายค้านเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านการเปิดพื้นที่ให้ประชาชน เพื่อหาฉันทามติร่วมกัน แต่กลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ฐานยุยงปลุกปั่น ดังนั้นสิ่งที่ต้องผลักดันให้เป็นประเด็นร่วมกัน คือ ความต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ แก้ไขเศรษฐกิจ และมีหลักประกันของสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงมีองค์กรที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทั้งนี้กลไกดังกล่าวคล้ายกับการมาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และเชื่อว่ายุคนี้จะใช้เวลาไม่นาน หากผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นเรื่องของคนทุกกลุ่ม" เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวย้ำทิ้งท้าย