เดินหน้าฟื้นเอฟทีเอ ไทย-อียู
บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2562
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกำลังหาข้อสรุปฟื้นการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งที่ผ่านมาได้เจรจากันไปแล้วกว่า 4 รอบ และหยุดชะงักไปเมื่อปี 2557 หลังเกิดการรัฐประหาร โดยได้เตรียมการมาระยะหนึ่งแล้วทั้งศึกษาผลวิจัยและผลกระทบ ตลอดจนเปิดเวทีรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการศึกษาเปรียบเทียบความตกลงเอฟทีเอที่อียูได้ลงนามกับประเทศต่างๆ โดยกำหนดเสร็จเดือนพฤศจิกายนก่อนนำเสนอรัฐบาลตัดสินใจ ทั้งนี้อียูเป็นตลาดใหญ่ครอบคลุม 28 ประเทศในทวีปยุโรปที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทย โดยปี 2561 การค้ามีมูลค่า 47,322 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของการค้าไทยกับโลก จึงถือเป็นตลาดสำคัญที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างยิ่ง
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ที่ทำงานติดตามเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานเกี่ยวข้องกรณีรื้อฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูในรอบใหม่นี้โดยตั้งข้อสังเกตว่า 1.กรณีข้อผูกพันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่อาจเกิดการผูกขาดในภาคการเกษตรแบบครบวงจรและกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ วิถีชีวิตของชุมชน และเกษตรรายย่อย รวมทั้งในด้านระบบสุขภาพ อาทิ ผลกระทบต่อการเข้าถึงยาในราคาไม่แพงและยังมีการเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ดังนั้นต้องตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว 2.กรณีการอ้างความจำเป็นเร่งเจรจาเพื่อไม่ให้สินค้าไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) แต่ก็มีสินค้าบางรายการของไทยถูกตัดสิทธิไปแล้วแต่การส่งออกไม่ได้ลดลง ดังนั้นควรทบทวนข้อมูลแท้จริงเพื่อประโยชน์การเจรจา
3.สนับสนุนให้จัดทำการศึกษาผลกระทบของเอฟทีเอด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม Health Impact Assessment (HIA) และ Environmental Health Impact Assessment (EHIA)) เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ 4.ต้องมีขั้นตอนการมีส่วนร่วมในทุกระดับและทุกหัวข้อของเนื้อหาการเจรจา รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน 5.ผู้ได้ประโยชน์จากการเจรจาต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยจะต้องพิจารณาจัดเก็บภาษีรายการใหม่ในอัตราที่สมเหตุสมผลและเพียงพอต่อการเยียวยาจริง ทั้งนี้ภาคประชาสังคมและภาควิชาการได้เคยส่งสัญญาณเตือนถึงข้อดีข้อเสียในหัวข้อการเจรจามาตลอด แต่ที่ผ่านมาทางภาครัฐไม่ค่อยสนองตอบต่อข้อเสนอของกลุ่มเอฟทีเอวอทช์เท่าใด ทั้งที่ข้อเสนอเหล่านี้ตั้งบนพื้นฐานประโยชน์ประเทศและคนไทย
การใช้ “เอฟทีเอ” เป็นเครื่องมือสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการของยุโรป อีกทั้งจะช่วยกระตุ้นการส่งออกของยุโรปรวมถึงยังช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรและวัตถุดิบจากประเทศอื่นป้อนสู่ภาคการผลิตภายในยุโรปที่มีนวัตกรรมสูงอีกด้วย ในขณะเดียวกันจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มการจ้างงานและกระตุ้นเงินหมุนเวียนในกลุ่มประเทศสมาชิกโดยอียูเป็นตลาดขนาดใหญ่ทำให้มีอำนาจเจรจาสูง เมื่อผนวกกับเงื่อนไขด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน การปกป้องสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานแรงงานนอกเหนือจากประเด็นด้านการค้า ดังนั้นการเจรจาเอฟทีเอจึงไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นสิ่งจำเป็นที่ไทยต้องเตรียมพร้อมและข้อตกลงต้องได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบได้เปรียบ ต้องวินวินทุกฝ่าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-สหกรณ์กับการค้าเสรี"เอฟทีเอ"ในมุมมอง"รมช.พาณิชย์"
-เอฟทีเอ ดันส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยโตสวนกระแสเศรษฐกิจซบ
-พาณิชย์ เปิดเวทีรับฟังความเห็นฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู
-'พาณิชย์'เตรียมระดมไอเดียก่อนฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู