หินล้านงามอันซีนชายแดนใต้สู่กิจกรรมค่ายลูกเสือนำร่องป่าชุมชน
หินล้านงาม...จากอันซีนชายแดนใต้ สู่กิจกรรมลูกเสือตั้งค่าย นำร่องป่าชุมชน
ต้นปี 2561 เริ่มมีคนรีวิวแหล่งท่องเที่ยวแบบอันซีนที่ อ.ยะหา จ.ยะลา สร้างกระแสฮือฮาในสื่อสังคมออนไลน์ไปไกลถึงมาเลเซีย
จุดหมายปลายทางที่ท้าทายใครหลายคนให้พากันปักหมุดนี้ คือ “หินล้านงาม” หรือ “หินลานงาม” ลานหินขนาดใหญ่บนยอดเขาโต๊ะบีแด ต.ตาชี อ.ยะหา เป็นลานหินโล่งที่มองเห็นขอบฟ้าได้ 360 องศา ได้สัมผัสทั้งแสงแรกในยามเช้า คลื่นทะเลหมอก และแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์ที่กำลังจะลับขอบฟ้า
และเมื่อความมืดเข้าปกคลุมก็ยังมี “อันซีน” ในภาคกลางคืนให้ได้ชมกัน นั่นก็คือแสงจันทร์ แสงดาว และไฟวับแวมจากชุมชนเชิงเขา ทั้งบ้านเจาะกลาดี บ้านตาชี และบ้านหาดทราย นับถึงวันนี้ผ่านมาร่วมๆ 2 ปีแล้ว มีความเปลี่ยนแปลงเป็นพัฒนาการที่หินล้านงามไม่น้อยทีเดียว
เมื่อเร็วๆ นี้ ชาวบ้าน ทหาร ป่าไม้ และผู้บริหารท้องถิ่น เปิดวงหารือกันที่สำนักงาน อบต.ตาชี เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันในการพัฒนาหินล้านงามให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ชุมชนและอยู่คู่ชุมชนไปนานแสนนาน หลังจากหินล้านงามเริ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมเยือนมากขึ้นและมีหลายโรงเรียนติดต่อขอจัดค่ายลูกเสือ
ผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้ง พ.อ.ชลัช ศรีวิเชียร รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา นายบุญเสริม พรมเสนะ ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินและป่าไม้ นายพสิษฐ์ ศรีสุข นายก อบต.ตาชี และผู้แทนเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ยล.2 (ปะแต) เจ้าหน้าที่ อบต.ธารคีรี อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ตลอดจนผู้แทน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ผู้แทนผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ตำบลตาชี กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ ผู้แทนชาวบ้านเจาะกลาดี ชาวบ้านตาชี และชาวหินล้านงาม เรียกว่าครบทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
ต้นเดือนกันยายนหินล้านงามมีโอกาสต้อนรับนักเรียนที่มาเข้าค่ายลูกเสือเป็นครั้งแรกเพื่อเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด “3 ตำบล 2 วัฒนธรรม สร้างความสงบในพื้นที่” มีครู นักเรียนจากโรงเรียนพัฒนาสาธิตวิทยายะลา “โครงการ ALL in One อัลมุคอยยัมอัตตัรบาวีย์อัลอิสลามีย์ ครั้งที่ 4” เข้าร่วมจำนวนกว่า 250 คน มี พล.ต.ชัชภณ สว่างโชติ รองผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นประธานเปิดกิจกรรม
ค่ายลูกเสือที่หินล้านงามแตกต่างจากที่อื่นเพราะมีผู้นำชุมชนและชาวบ้าน 3 หมู่บ้านที่รายล้อม คือ บ้านตาชี ตำบลตาชี บ้านเจาะกลาดี ต.ยะหา สองบ้านนี้อยู่ใน อ.ยะหา และบ้านหาดทราย ต.ธารคีรี อ.สะบ้ายอย จ.สงขลา ซึ่งเป็นชุมชนทั้งพุทธและมุสลิมร่วมกันดูแลน้องๆ หนูๆ ที่มาเข้าค่ายทุกคน
กิจกรรมมีทั้งนั่งขบวนรถจี๊ป ซึ่งเป็นรถของชาวบ้าน มีแห่งเดียวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตำบลตาชี ขึ้นไปบนยอดเขาโต๊ะบีแด แวะชิมผลไม้นานาชนิด ทั้งทุเรียน เงาะ ลองกอง สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ส่วนกิจกรรมการฝึกมีการตั้งฐานต่างๆ เน้นเรียนรู้การดำรงชีพในป่า ชุมนุมรอบกองไฟ เล่นน้ำตก ฟังการบรรยายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และปิดกิจกรรมด้วยการรับใบประกาศนียบัตรในฐานะ “ผู้พิชิตหินล้านงาม”
สิ่งที่เด็กๆ และครูอาจารย์ได้รับใส่กระเป๋ากลับบ้านไม่ใช่แค่ประกาศนียบัตรแต่ยังเป็นประสบการณ์การเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรมเพื่อเป็นธงนำสู่การสร้างสันติสุขชายแดนใต้หลังผ่านสถานการณ์ร้อนระอุมานานหลายปี
กิจกรรมเข้าค่ายช่วงต้นเดือนกันยายน กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดวงหารือกับทุกฝ่ายในเวลาต่อมา เพราะมีโรงเรียนอีกหลายแห่งติดต่อเข้ามา จึงต้องมีการวางแผน จัดระเบียบ เพื่อดูแลรักษาระบบนิเวศไม่ให้บอบช้ำ
บทสรุปจากวงประชุมก็คือการร่วมพัฒนาพื้นที่เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีให้คงอยู่ตลอดไป โดยใช้ชุมชนร่วมกันขับเคลื่อน ภายใต้ระบบจัดการ “ป่าชุมชน” ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายรองรับแล้ว โดยชุมชนที่จะร่วมมือกันมี 3 ชุมชน และมี อบต.ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบพื้นที่ 2 อบต.
พ.อ.ชลัช กล่าวว่า การประชุมทำให้ได้กรอบการขับเคลื่อนงานต่อไปเยอะพอสมควร ถือเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยฝ่ายชุมชนยืนยันว่ามีแนวทางการจัดการปัญหาได้และจะขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ของชุมชนมากที่สุด ขณะที่ทหารก็จะดูแลงานด้านความมั่นคงเป็นหลัก
“ผลที่ได้ถือว่าจับต้องได้ คือต้นทุนเดิมมีอยู่แล้ว แต่เพื่อให้งานพัฒนาสามารถไปได้เร็ว จึงเห็นพ้องกันที่จะใช้ชุมชนขับเคลื่อนมี อบต.สนับสนุน ส่วนทหารก็ดูแลงานด้านความมั่นคง นอกจากนั้นยังมีป่าไม้มาร่วมด้วย ทำให้มีองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอีกมาก” พ.อ.ชลัช กล่าว
“ป่าชุมชน” เป็นสิ่งที่นายบุญเสริม ในฐานะผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินและป่าไม้ หยิบขึ้นมาเสนอเป็นแนวทางเอง
“ป่าชุมชนเป็นกฎหมายแล้ว มีผลบังคับใช้ในปีนี้ โดยป่าชุมชนก็คือพื้นที่ป่าไม้ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ โดยการดำเนินงานป่าชุมชนขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความต้องการของชุมชน” นายบุญเสริม กล่าว
แต่อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งนี้ก็คือ เส้นทางการขึ้นไปชมความงามของหินล้านงามอยู่ในสภาพที่ต้องบอกว่า “ลำบากเกินไป” เพราะปัจจุบันไม่มีถนน มีแต่เส้นทางธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่แค่คับแคบ คดโค้ง เป็นหลุมเป็นบ่อเท่านั้น แต่บางจุดเป็นร่องหินลึกเกือบท่วมหัว การเดินทางขึ้นไปนอกจากเดินก็ต้องใช้รถจี๊ปของคนในชุมชน ซึ่งรถจี๊ปก็มีจำกัด ไม่เพียงพอรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อหลายเดือนก่อน พ.อ.ชลัช ในฐานะรองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา เคยลงพื้นที่ไปตรวจสอบสภาพปัญหาและได้พูดคุยกับชาวบ้านจนทราบว่า ชุมชนรอบๆ หินล้านงามต้องการถนนลาดยาง หรือคอนกรีตก็ได้ กว้างแค่ 4 เมตรก็พอ ระยะทางรวมแค่ 2 กิโลเมตรเท่านั้น เพื่อใช้สัญจร และเดินทางขึ้นไปชมความงามของ “อันซีนหินล้านงาม” ได้สะดวกขึ้น
แต่การผลักดันโครงการถนนมีปัญหา 2 อย่าง คือ 1.พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตของป่า ในความดูแลของเขตป่าไม้นราธิวาสจึงไม่มีใครกล้ายืนยันว่าสามารถสร้างถนนได้ และ 2.ติดเรื่องงบประมาณ
“โครงการสร้างถนนคอนกรีตสายนี้ อบต.ตาชี เคยพยายามดำเนินการตามงบประมาณที่มีอยู่ แต่ติดที่ว่าต้องขออนุญาตจากป่าไม้ก่อน ถ้าป่าไม้ไม่อนุญาตเราก็ทำไม่ได้ ฉะนั้นก็ต้องรอการอนุญาต แต่พอหมดปีงบประมาณก็ต้องคืนหรือนำไปใช้อย่างอื่น ก็เลยยังไม่ได้สร้าง” เป็นคำอธิบายจากนายภูมิอ้น พวงรัตน์ ผู้อำนวยการกองช่าง อบต.ตาชี
แต่ความหวังของชาวบ้านก็ยังไม่ริบหรี่เกินไปเพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้นราธิวาสที่รับผิดชอบพื้นที่นี้ให้ข้อมูลว่าสามารถขออนุญาตจากผู้อำนวยการป่าไม้นราธิวาสเพื่อสร้างถนนได้ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพียงแต่ต้องทำตามระเบียบอย่างถูกต้อง เป็นลายลักษณ์อักษร และวัตถุประสงค์ของการสร้างก็เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านเพราะเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านหลายสิบครัวเรือน ราวๆ 200 กว่าชีวิต ใช้ขนส่งผลิตผลทางการเกษตรลงมาขาย
ที่ผ่านมา “เหมืองลาบู” แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในยุคแม่ทัพภาคที่ 4 คนก่อน ซึ่งอยู่ในอำเภอยะหาเหมือนกับหินล้านงาม และอยู่ในเขตป่าเช่นเดียวกันก็มีการตัดต้นไม้ขยายถนนหลังได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้
ทว่าแม้จะมีข้อมูลชัดเจนขึ้นแต่ขั้นตอนการดำเนินการตามระบบราชการก็ไม่ง่าย โดยเฉพาะเมื่อไม่มีผู้ใหญ่ หรือผู้มีอำนาจถือธงนำ ทำให้จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมเลย กระทั่งมีการดึงผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินและป่าไม้มาอยู่ในเครือข่ายหินล้านงาม และได้รับคำแนะนำให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน
ชาวบ้าน 3 ชุมชน 2 วัฒนธรรมที่นั่นยังคงรอชมแสงแรก...แต่ไม่ใช่แสงแรกของดวงอาทิตย์เหมือนนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปพิชิตหินล้านงาม ทว่าคือแสงแรกแห่งความหวังที่พวกเขาจะได้ถนนสายเล็กๆ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งนี้ให้ยั่งยืนสืบไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-วิวาทะชายแดนใต้ หนี การเมือง ไม่พ้น
-เรื่องเล่าจากบ้านเรา 4 จังหวัดชายแดนใต้
-ไม้ตายในมือ บิ๊กแดง
-ออกพรรษายิ่งใหญ่ในเมืองแห่งสายน้ำ