คอลัมนิสต์

แบน3สารอันตราย เกมเดิมพัน7เก้าอี้ รมต.ภูมิใจไทย

แบน3สารอันตราย เกมเดิมพัน7เก้าอี้ รมต.ภูมิใจไทย

18 ต.ค. 2562

แบน3สารอันตราย เกมเดิมพัน7เก้าอี้ รมต.ภูมิใจไทย

 

 

 

          ยังไม่ถึงขั้นปัญหาโลกแตก แต่ 20 ตุลาคมนี้ ครบกำหนดเส้นตายมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต, ไกลโฟเซต และ คลอร์ไพริฟอส ยังไม่รู้ว่าจะจำกัดได้จริงแค่ไหน?

 

 

          ในขณะที่ความพยายามผลักดันให้รัฐบาลใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดด้วยการสั่งแบนหรือห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยขีดเส้นตายขึ้นมาใหม่ภายใน 1 ธันวาคม 2562 ก็กำลังเผชิญกับความท้าทายและขยายผลเป็นเงื่อนไขทางการเมืองในขั้วรัฐบาลอยู่ในขณะนี้


          เหตุผลของฝ่ายต่อต้านสารเคมีทั้ง 3 ชนิด อ้างอิงจากงานวิจัยของนักวิชาการที่ลงสำรวจแปลงพืชผักผลไม้ของเกษตรกรพบว่า มีสารพิษที่เกิดจากการใช้สารเคมีดังกล่าวตกค้างอยู่ในดินและแหล่งน้ำในปริมาณสูง เป็นอันตรายต่อทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และระบบนิเวศ 


          โดยเฉพาะตัวเกษตรกรนั้น มีความเสี่ยงในระดับน่าวิตกอย่างยิ่งที่จะเป็น โรคมะเร็ง และ พาร์กินสัน  ทั้งยังส่งผลต่อการพัฒนาสมอง ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น และมีผลกระทบต่อระบบต่อมไร้ท่อ ข้อมูลนี้ตรงกับงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก(WHO)


          แต่การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านซึ่งดำเนินมาก่อนปี 2560 นั้น ดูเหมือนว่าจะถูกต่อต้านจากผู้ปิดบังตัวตนที่เร้นสถานะอยู่ในหน่วยงานซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการที่จะนำไปสู่การตัดสินว่าจะแบนหรือไม่แบนสารพิษทั้งหมดมาโดยตลอด จึงทำให้ข้อเรียกร้องของฝ่ายแรกไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เคยมีมติแบนสารพิษเหล่านี้มาตั้งแต่ 5 เมษายน 2560


          มติของ คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วม 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในครั้งนั้นให้ดำเนินการออก ประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส โดยยุติการนำเข้าภายในเดือนธันวาคม 2561 และยุติการใช้ทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2562 และจำกัดการใช้ ไกลโฟเซต อย่างเข้มงวด โดยห้ามใช้ในพื้นที่ต้นน้ำ แหล่งน้ำ พื้นที่สาธารณะและชุมชน โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนและโรงพยาบาล




          แต่ในที่สุดเมื่อมติของที่ประชุมร่วม 4 กระทรวง ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ตามการเสนอของ กรมวิชาการเกษตร ซึ่งอ้างเหตุผลว่า กรมไม่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพ จึงต้องการให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้คำปรึกษา ผลจึงออกมาว่าจะยังไม่มีการแบนหรือยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าว 


          แต่ภาคประชาชนซึ่งรวมตัวกันในนาม เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ก็ยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวสนับสนุนมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีฯ ต่อไป 


          จนกระทั่งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมและมีมติร่วมกัน ยืนยันตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีฯ ให้ยกเลิกการใช้ 3 สารอันตรายภายในเดือนธันวาคม 2562 อีกครั้ง 


          แม้กระนั้น คณะกรรมการวัตถุอันตราย ก็ยังยืนยันมติไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวเช่นกัน แต่เพื่อลดกระแสสังคมจึงเลี่ยงไปใช้ มาตรการจำกัดการใช้ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด โดยให้ใช้ได้เฉพาะ 6 พืช คือ  มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล พืชไร่ ไม้ดอก ที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น 


          และระหว่างนี้ให้ กรมวิชาการเกษตร ดำเนินตามมาตรการ 5 ข้อ ที่เสนอมา อาทิ ทำโครงการศึกษาวิจัยเพื่อลดการใช้สารเคมีและหาวิธีทดแทนการใช้สารเคมี รวมทั้งศึกษาผลกระทบของสารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค จัดอบรมให้ความรู้โครงการนำร่องทดสอบหลักสูตรผู้พ่นสารพิษ หลังจากนั้นค่อยมาทบทวนว่าจะยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสามหรือไม่อีกครั้ง คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 2 ปี 


          นั่นจึงเป็นที่มาของ เส้นตายแรก คือมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช 3 ชนิด ซึ่งมีผลตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2562 


          *ขออนุญาตก่อนซื้อ-อบรมก่อนใช้
          หลังจากรับมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงประกาศแจ้งให้เกษตรกรผู้ใช้สารและผู้รับจ้างพ่นสาร 1.5 ล้านครอบครัว จะต้องไปขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิ์ซื้อ 3 สารเคมี ต่อกรมส่งเสริมการเกษตร และต้องผ่านการอบรมเพื่อให้สามารถใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยมี 4 หน่วยงานที่รับผิดชอบ


          กรมส่งเสริมการเกษตร อบรมและทดสอบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล พืชไร่ ไม้ดอก  การยางแห่งประเทศไทย รับผิดชอบเกษตรผู้ปลูกยางพารา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รับผิดชอบเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย โดยมี กรมวิชาการเกษตร ทำหน้าที่อบรมเจ้าหน้าที่ของ 3 หน่วยงานเพื่อให้เป็นวิทยากรไปอบรมเกษตรกร และเป็นผู้อบรมให้กับผู้รับจ้างพ่น และพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และปลัด อบต.


          การลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์ซื้อ 3 สารเคมี เริ่ใมวันแรกเมื่อ 12 มิถุนายน 2562 และเริ่มเปิดอบรมครั้งแรก 1 กรกฎาคม 2562 แต่ยังไม่มีรายงานเป็นทางการว่ามีผู้สอบผ่านหรือไม่ผ่านมากน้อยแค่ไหน แต่ตามเงื่อนไขกรณีไม่ผ่านการทดสอบ สามารถเลือกสอบได้อีก 1 รอบ หากยังไม่ผ่านอีก จะต้องสมัครเข้าไปเลือกการทดสอบใหม่ในระบบ ก่อนเส้นตายจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดจะเริ่มต้น 20 ตุลาคมนี้


          *เส้นตายใหม่เงื่อนไขการเมือง
          ความหวังที่จะเห็นสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ตัว ถูกกำจัดออกจากภาคการเกษตรและธรรมชาติเลือนลางลงชั่วขณะ นับตั้งแต่ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ยืนกรานอยู่หลายรอบที่จะไม่ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตราย


          แต่พลันที่รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารงาน การต่อสู้กับ 3 สารเคมี ก็เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ออกโรงล็อกเป้าไปที่กรมวิชาการเกษตร ให้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีทั้งสาม รวมทั้งแจ้งสต็อกสินค้าของผู้นำเข้าอย่างละเอียดยิบ


          รัฐมนตรีหญิง จากพรรคภูมิใจไทย แสดงจุดยืนเด็ดเดี่ยวที่จะดำเนินทุกวิถีทางที่จะทำให้สารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด หายไปจากประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายของพรรค และเธอก็เดินหน้าอย่างรวดเร็วจนฝ่ายข้าราชการตามแทบไม่ทัน


          กระทั่ง การประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเห็นของส่วน รัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ต่อการยกเลิกสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 สาร ที่เธอนั่งหัวโต๊ะ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ให้แบนสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ตัว โดยจะเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาให้สารทั้ง 3 ชนิด เลื่อนจากบัญชีประเภทที่ 3 ไปเป็นบัญชีประเภทที่ 4 ซึ่งจะเป็นผลให้ ห้ามครอบครอง ห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้า ห้ามผลิต ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562


          อย่างไรก็ตาม มติเอกฉันท์ของคณะทำงาน 4 ฝ่าย ไม่มีผลผูกมัดให้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะมีการประชุมกันวันที่ 27 ตุลาคม นี้ หรืออาจเร็วขึ้นเป็นวันที่ 22 ตุลาคม ต้องดำเนินการตาม และก็มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะทันทีที่มติ 9 ต่อ 0 ออกมา ฝ่ายคัดค้านการแบน 3 สารเคมี ก็ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและรุนแรงถึงขั้นข่มขู่คุกคามคนในคณะทำงานฯ


          กระนั้นในส่วนของ พรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และ รมว.สาธารณสุข ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวว่ารัฐมนตรีทั้ง 7 คนของพรรคไม่ยอมรับ 3 สารเคมีอันตรายเด็ดขาด และยังเปรยไปถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า คงจะต้องออกโรงอีกที เพราะหากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเป็นอย่างอื่น รัฐมนตรีของพรรคคงต้องแสดงสปิริตด้วยการลาออกและถือว่าเป็นการเดิมพันแบบหมดหน้าตักของพรรคภูมิใจไทยเลยทีเดียว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ผงะ สต็อก 3 สารพิษเหลือเพียบ
-แบน 3 สารพิษ จ่อยกระดับ เสี่ยหนู ยันสิ้นปีเมืองไทยเลิกใช้
-ก.เกษตร​มีมติ แบน​ 3​ สารเคมี​ 1​ ธ.ค.นี้
-อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยันไม่ต้านเลิกใช้ 3 สารเคมี