คอลัมนิสต์

ถึงเวลาเอไอจัดการน้ำ

ถึงเวลาเอไอจัดการน้ำ

23 ต.ค. 2562

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 23 ตุลาคม 2562

 

 

          ข้อมูลเชิงประจักษ์ จากการทำงานอย่างละเอียดพิถีพิถันของทีมอาสาสมัครจาก “ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย” หรือ ทีดีเจ (TDJ) ที่ได้ร่วมกันสืบค้นฐานข้อมูลเชิงลึกย้อนหลัง 30 ปี จากหลายหน่วยงานเกี่ยวกับเรื่องน้ำ ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน), กรมชลประทาน และแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ แล้วประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อเปรียบเทียบหาความสัมพันธ์ของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน น้ำในแหล่งเก็บน้ำ และพื้นที่การเกษตร ซึ่งสามารถอธิบายปรากฏการณ์ “แล้งซ้ำซาก” ที่ผ่านมาหลายปี

 

 

          โดยสรุปแล้ว การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลครั้งนี้พบว่า ในระยะ 30 ปี โดยเฉพาะช่วง 10 ปีให้หลังนี้ มีข้อมูลที่สอดคล้องกันอยู่บางประการ อันส่อแสดงให้เห็นว่า อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทยแล้งซ้ำซาก และก็ยากจะหนีไปจากวิกฤตินี้ เช่น ระดับอุณหภูมิสูงสุดที่เพิ่มขึ้น หรือร้อนขึ้นทุกปีอย่างที่รู้สึกกันได้ ขณะอุณหภูมิต่ำสุดก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากที่พอจะหนาวบ้างก็อุ่นมากขึ้น แล้วหน้าหนาวก็หายไปในที่สุด ขณะที่ปริมาณน้ำฝนลดลงเรื่อยๆ ทุกฤดูกาล ยังผลให้น้่ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำสำคัญๆ อยู่ในภาวะแห้งขอด ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมเขื่อนน้อยใหญ่อีกนับร้อยๆ แห่งที่อยู่ในสภาพเดียวกัน จะมีเว้นก็แต่บางเขื่อนในภาคตะวันตกและภาคใต้ เพราะปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงที่ผ่านมามีมากเพียงพอ

 


          หลายปีมาแล้วที่พื้นที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ไม่ได้ถูกแสดงในเชิงเปรียบเทียบแบบลึกๆ เพื่อชี้ให้เห็นแนวโน้ม อันจะนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาว แทนที่จะเป็นการบริหารจัดการน้ำกันแบบปีต่อปี หรือฤดูกาลผลิต ภาคการเกษตรซึ่งใช้น้ำมากที่สุดถึงร้อยละ 70 หรือฤดูกาลละ 1.13 แสนล้านลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำกักเก็บหายไปจากระบบนับหมื่นล้าน ลบ.ม. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละปี เช่น ประกาศห้ามทำนาปรัง หรือพืชใช้น้ำมากในช่วงหน้าแล้ง มาตรการรณรงค์ประหยัดน้ำ การผันน้ำจากแหล่งน้ำหนึ่งไปอีกพื้นที่หนึ่ง ล้วนแต่ตั้งอยู่บนความหวังลมๆ แล้งๆ ที่ว่า ปีหน้า หรืออย่างน้อยก็ปีถัดไป ฝนฟ้าจะตกต้องตามที่ควรจะเป็นหรือมีมรสุมเข้ามาเพิ่มระดับน้ำต้นทุนให้มากดังเดิมเช่นเมื่อทศวรรษก่อน แต่นั่นถือว่าเสี่ยงเกินไปหรือไม่




          สำหรับฤดูแล้งปี 2563 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นแล้วนับตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมปีนี้ พร้อมๆ กับปรากฏการณ์ปริมาณน้ำกักเก็บ ณ วันที่ 21 ตุลาคม 47,705 ล้านลบ.ม.จากความจุรวม 70,926 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับปี 2561 มีน้ำกักเก็บ 57,049 ล้านลบ.ม. เท่ากับ หน้าแล้ง 2562/2563 น้ำกักเก็บหายไปจากระบบด้วยปริมาตร 9,344 ล้านลบ.ม. ถือว่ามากจนน่าวิตก แต่ก็ดำเนินไปในทิศทางตามการวิเคราะห์เจาะลึกดังกล่าวข้างต้น นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่จะต้องลงมือบูรณาการวางแผนการจัดการน้ำอย่างจริงจัง ด้วยระบบข้อมูลขนาดใหญ่และครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการจัดการที่ทันสมัย ด้วยปัญญาประดิษฐ์(artificial intelligence) ชักช้าไปกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว