คอลัมนิสต์

บทเรียน บังคับติดจีพีเอส

บทเรียน บังคับติดจีพีเอส

24 ต.ค. 2562

บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสที่ 24 ตุลาคม 2562

 

 

 


          กรณีมีการมอบนโยบายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)ปศึกษาการกำหนดให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ หรือจีพีเอส เพิ่มเติม นอกเหนือไปจากรถสาธารณะ 4 ประเภทที่ถูกบังคับใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ รับจ้างรถบรรทุก รถตู้โดยสาร และโดยสารขนาดใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อเร่งลดอุบัติเหตุ เนื่องจากสามารถควบคุมความเร็วรถและตรวจสอบข้อมูลการขับขี่ได้ และระบุการตั้งด่านสกัดจับเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น โดยวางแนวทางจะต่อยอดให้รถส่วนบุคคลติดตั้งจีพีเอสพร้อมทั้งให้ศึกษาเรื่องราคาอุปกรณ์จีพีเอสและค่าบริการรายเดือนจะต้องไม่แพงซึ่งจะเริ่มจากรถใหม่ก่อนและส่วนรถเก่าก็จะค่อยๆ บังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้อ้างอิงถึงราคาอุปกรณ์ปัจจุบันเหลือ 3,000 บาทค่าบริการรายเดือนเหลือ 300 บาท จนเรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

 

 

          มีการตั้งคำถามว่าการจะบังคับให้รถส่วนบุคคลติดตั้งจีพีเอสติดตามการเดินทางของรถเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลหรือไม่ และมีข้อดีเปรียบเทียบกับข้อเสียอย่างใดมากกว่ากัน เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มภาระให้แก่ผู้ใช้รถ แม้จะให้เหตุผลข้อดีถึงการมีจีพีเอสจะทำให้อาชญากรรมน้อยลง เช่นการขโมยรถ และการกำกับความเร็วรถจากจีพีเอสจะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุได้ แต่เอาเข้าจริงจะเห็นผลเช่นนั้นหรือไม่ยังไม่ทราบได้ เพราะเมื่อดูพฤติกรรมโจรกรรมรถและจักรยานยนต์ในปัจจุบันแม้จะติดอุปกรณ์ไฮเทคขนาดไหนแต่ก็ยังถูกขโมยไปได้อยู่ดี สำหรับการลดอุบัติจากสถิติที่มีการเก็บรวบรวมพบว่าสาเหตุใหญ่ที่เกิดอุบัติเหตุมาจากคนขับที่ขาดวินัยและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมซึ่งเป็นจุดที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญในการสร้างจิตสำนึกใช้ถนน-ขับขี่ที่จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางและตรงจุดที่สุด


          ปรากฏว่าแนวคิดไอเดียติดจีพีเอสรถยนต์ส่วนบุคคลผ่านไปแค่ข้ามคืนในโลกออนไลน์ได้วิพากษ์วิจารณ์ท่วมท้น โดยส่วนมากไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่เจ้าของรถและจักรยานยนต์ และเห็นว่าควรเป็นความสมัครใจแบบปัจจุบันดีที่สุดตามกำลังทรัพย์แต่ละคน ขณะเดียวกันกรมการขนส่งทางบกก็ออกมาระบุว่านโยบายการให้ติดตั้งจีพีเอสกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลนั้นเป็นเพียงแนวคิดซึ่งต้องศึกษาความเป็นไปได้ก่อนคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาราว 1 ปี เพราะจะต้องหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเบื้องต้นวางมีกรอบหลักการในการศึกษาเรื่องนี้ว่าจะต้องเน้นให้ความสำคัญสูงสุดเรื่องของการดูแลและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ขับขี่และมาตาการที่ออกมาจะต้องไม่สร้างภาระต่อประชาชนเพิ่ม รวมทั้งจะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนด้วย




          ขณะที่ท่าทีของกระทรวงคมนาคมก็ได้ยอมถอยในเรื่องนี้แล้ว โดยถ้าพบว่าดีก็ทำถ้าไม่ดีก็ยกเลิกซึ่งถือเป็นการยอมรับฟังเสียงสะท้อนจากสังคมที่วิจารณ์อย่างกว้างขวางจนแทบไม่ต้องไปทำผลสำรวจแต่อย่างใดซึ่งบทเรียนในครั้งนี้แม้จะเป็นไอเดียที่ดีและอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งในการมีส่วนร่วมแก้ไขทั้งปัญหาจราจร การโจรกรรมรถและจักรยานยนต์ และเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จริง แต่ด้วยว่ามีปมสำคัญที่ไปเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายรวมไปถึงคำถามว่าเป็นการละเมิดสิทธิบุคคลหรือไม่และลามไปถึงคำถามในเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงใดหรือไม่จนจุดไฟคัดค้านท่วมท้น ดังนั้นการจะนำไอเดียในการบริหารหรือแก้ไขปัญหาด้านใดย่อมมีผลกระทบทั้งผู้เสียและผู้ได้ประโยชน์ จึงจำเป็นต้องไตร่ตรองรอบคอบรับฟังรอบด้านมีข้อมูลพร้อม เพราะหากสะดุดขาตัวเองย่อมกระทบความเชื่อถือได้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-บิ๊กตู่ สั่ง คมนาคม เข้มงวดรถควันดำต้องหยุดใช้งาน
-รมว.คมนาคม ชงขยายเวลา เปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส
-วอน รมว.คมนาคม เห็นแก่ชีวิตคนไทยเปลี่ยนรถตู้เป็นมินิบัส
-เสี่ยโอ๋ ฟิตจัด แก้รถติดหน้าด่าน เล็งยกไม้กั้นออก