ลดช่องว่างเหลื่อมล้ำ ปชช.ต้องมีส่วนร่วม
นักวิชาการ ชี้ ลดช่องว่างเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพประชาธิปไตย คำตอบ คือ ปชช.ต้องมีส่วนร่วม
ขนิษฐา เทพจร
ในการประชุมสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 21 ประจำปี 2562 ซึ่งจัดในหัวข้อ "ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพประชาธิปไตย" ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน ในวันที่สอง มีประเด็นการจัดเวทีอภิปรายของนักวิชาการสายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสะท้อนมุมมองต่อประเด็น "การขับเคลื่อนคุณภาพประชาธิปไตย เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ"
ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความตระหนัก และความสำนึกร่วมกัน ต่อปัญหา "ความเหลื่อมล้ำ" ที่กลายเป็นภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการเกิดปัญหาด้านต่างๆ ในสังคมไทย ทั้งปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ การดำรงชีวิตของประชาชนและคุณภาพประชาธิปไตย กับมุมมองที่ถูกถ่ายทอด มีบทสรุปรวบยอดได้ว่า การแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน คือ การให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อย่างเข้มแข็ง และเปี่ยมด้วยพลังที่ทุกฝ่ายให้ความเคารพ ขณะที่ฝ่ายบริหารเอง ต้องแปลงคำพูด ให้เป็นการกระทำอย่างเร่งด่วน
โดย ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มองประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจในมิติทางกฎหมายเน้นมองในมุมของ "รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560" ที่บัญญัติให้มีหมวดว่าด้วยการปฏิรูป ทำให้มีคำถามตามมาว่า ประเทศไทยมีความพร้อมเดินหน้าไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจแล้วหรือไม่?
ซึ่งการตั้งคำถามของ "ศ.ดร.บรรเจิด" ถูกตีโจทย์ผ่านมุมมองกการลดความเหลื่อมล้ำใน 4 ประเด็น คือ 1.ความเหลื่อมล้ำระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน หรืออำนาจทางการเมือง ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามปฏิรูประบบรัฐสภา ด้วยการสร้างสมดุล ผ่านการตรวจสอบ ด้วยองค์กรถ่วงดุล คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 ระบุถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาหรือวินิจฉัยปัญหาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ แต่ปัจจุบันบทบัญญัติดังกล่าวไม่เอื้อต่อเสียงข้างน้อยให้ใช้กลไกถ่วงดุล และบทสรุปของเรื่องนี้อาจนำไปสู่การนำการเมืองลงสู่ถนนได้ ทั้งนี้ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญต้องสร้างความเข้มแข็งให้รัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนนโยบายได้ แต่การออกแบบเลือกตั้งด้วยจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้มีพรรคการเมืองหลายพรรค ซึ่งสร้างความอ่อนแอให้กับรัฐบาล
2. การบริหารราชการแผ่นดิน ที่พบความเหลื่อมล้ำระหว่างราชการส่วนกลาง ภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น และความทับซ้อนระหว่างกัน ทั้งบุคลากร งบประมาณ และ งานจนทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความผาสุกของประชาชนในพื้นที่ได้ ดังนั้นต้องปรับการบริหารจัดการ โดยมุ่งไปสู่ความผาสุกประชาชน
3. ความเหลื่อมล้ำระหว่างภาครัฐและประชาชน ทั้งนี้มีจุดเกิดจากแนวความคิด ทั้ง เสรีนิยมดั้งเดิม ที่ใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจ สร้างการตรวจสอบถ่วงดุล ตามรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีผู้เห็นแย้งว่าแนวคิดแบบนั้นจะเกิดไม่ลงตัว เพราะควรให้ความสำคัญกับพลังของพลเมือง
"สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มองว่าเป็นฉบับภาครัฐราชการ เพราะให้นัยสำคัญกับประชาชน นโยบาย และงบประมาณเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชนน้อยกว่าภาครัฐ และภาคราชการ ทั้งนี้ความเหลื่อมล้ำทั้งหมดเกิดจากทุนและรัฐ เข้มแข็งกว่าภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยง ต่อการสร้างความเป็นธรรม ทั้งนี้กฎหมายเป็นแค่เครื่องมือพื้นฐาน แต่ต้องสร้างให้เกิดความเป็นธรรม"ดร.บรรเจิด ระบุ
ทางด้าน ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองความเหลื่อมล้ำจากมุมที่เป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี และ ฝ่ายผู้มีอำนาจไม่เคยนำหนทางแก้ไขที่ได้จากงานวิจัย ไปสู่การปฏิบัติ จึงเป็นการตั้งคำถามที่เน้นไปที่ ความเหลื่อมล้ำ กับความเป็นประชาธิปไตย
"ความเหลื่อมล้ำมีผลต่อความเป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้มีการตั้งคำถามในทฤษฎีที่ต้องการค้นหาคำตอบ ที่ว่า ยิ่งเหลื่อมล้ำมาก ประชาธิปไตยยิ่งน้อย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ คนรวยมีบทบาท ต่อสื่อ และการเมือง ที่เป็นกลไกของการสร้างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ทั้งนี้หลักฐานเชิงประจักษ์อาจไม่จริงเสมอไป เพราะ ในมิติความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน มีมิติอื่นที่ต้องมอง คือ การตัดสินใจของผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้มีเหตุผลหลักที่สรุปได้สำคัญ คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เพราะประชาธิปไตยไม่มีคุณภาพเพียงพอ"
ต่อประเด็น "ประชาธิปไตย"ที่ถูกวัดระดับของคุณภาพ ดร.สมชัย ขยายความว่าสำหรับคุณภาพประชาธิปไตยในประเทศไทยมีผลงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า อาทิ อำนาจต่อการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ซึ่งคนรวยเชื่อว่าสามารถทำได้ ขณะที่คนจนบอกว่าทำไม่ได้ เพราะเขามองตนเองว่าไม่มีบทบาทและมีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจ นอกจากนั้นยังมีประเด็นการผูกขาดระบบเศรษฐกิจของกลุ่มทุนที่คนรวยมักมีบทบาทสูงต่อการกำหนดกติกาเพื่อเอื้อให้กับระบบธุรกิจของตนเอง ดังนั้นมีประเด็นชวนให้คิดต่อคุณภาพประชาธิปไตย คือ สร้างพลังประชาชน ให้มีสิทธิขั้นพื้นฐานในการเลือกและการกระทำ รวมถึงประชาชนต้องมีส่วนร่วมต่อกระบวนการตัดสินใจที่มีผลกระทบกับชีวิตของประชาชน นอกจากนั้นในการสร้างพลังทางสังคมต้องยอมรับในศักยภาพและความสามารถของทุกคนโดยไม่กีดกันหรือแบ่งพรรคแบ่งพวก จนทำให้อีกกลุ่มไร้สิทธิ ไร้เสียง ขณะที่องค์ประกอบสำคัญ คือ การจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอต่อกระบวนการสร้างพลัง และ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
"ประเด็นไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดไว้บ่อย แต่มีสิ่งที่อยากเห็นคือ แปลงคำพูดเป็นการกระทำ โดยต้องดูว่าทุกวันนี้มีคนไทยกลุ่มไหนบ้าง ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หรือในอนาคตมีคนกลุ่มไหนบ้างที่อาจจะถูกทิ้ง ต้องศึกษาและออกมาตรการดูแลกลุ่มคนเหล่านั้น" ดร.สมชัย ระบุ
ส่วน เอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ใช้ประสบการณ์ของตนเอง มองถึงการขับเคลื่อนสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ การสร้าง "คน" ไปสู่วิถีความพอเพียง และสร้างคนให้เจริญ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันประเทศ ขณะที่การปลูกฝังประชาธิปไตยต้องมุ่งเน้นด้านการปฏิบัติ นอกจากนั้นต้องสร้างการสนับสนุนด้านนโยบาย สร้างพลังให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมต่อการคิดและแก้ปัญหาในพื้นที่ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพที่เข้มแข็ง โดยเริ่มจากชุมชน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ขณะที่ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปรากฎการณ์ "ความแย่"ในด้านความเหลื่อมล้ำ กับประชาธิปไตย เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นการมองจากปัญหาภายในประเทศเท่านั้น จะไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ และสิ่งที่ควรทำ คือการให้ความร่วมมือกับประเทศอาเซียนต่อการแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่เช่นนั้นประเทศไทย จะตกอยู่ภายใต้สภาพการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในเขาวงกต ขณะที่สิ่งที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหา หากมองในเรื่องการเมือง อย่าติดกับดักที่ว่า พระเอกขี่ม้าขาวหรือ คนชั่วเท่านั้น แต่ต้องมองไปให้ถึงการเคารพต่อความตั้งใจ อย่างสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คนที่จะร่วมกำหนดบทบาทนั้นได้คือ คนรุ่นลูก และรุ่นหลาน
"สำหรับบรรยากาศประเทศไทย หลังเลือกตั้งต้องยกระดับให้สมค่ากับการเปิดพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ร่วมถกเถียง ไม่ใช่เลือกที่จะควบคุม ทั้งนี้สังคมต้องมีความคิดร่วมกัน แม้จะมีความยาก และความเสี่ยงระดับโลก ส่วนประชาธิปไตยที่จะช่วยลดช่องว่างได้ คือ สร้างคุณภาพ และพัฒนาการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลอย่างเข้มแข็งให้กับประชาชน องค์กร ขณะนี้การประเมินจากตัวชี้วัดไม่ใช่มองแค่ระดับบนเท่านั้นแต่ต้องชี้วัดจากผู้ที่ประสบปัญหา"
กับแนวทางลดช่องว่างด้วยการสร้างประชาธิปไตยให้มีคุณภาพนั้น "ศ.สุริชัย"มองด้วยว่า ต้องลดทั้งความรู้สึก เพื่อสร้างความไว้วางใจ เพื่อสร้างอนาคตร่วมกัน โดยเฉพาะ พหุระดับประชาธิปไตย ที่ต้องสร้างพื้นฐานที่ชอบธรรม ไม่ใช่ยึดข้อกฎหมายเท่านั้น ที่สำคัญ คือการทำงานร่วมกัน เคารพเจตนาที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน นอกจากนั้นต้องปรับสมดุลเชิงโครงสร้าง ด้วยกระบวนการตรวจสอบ
"การวิจัยประชาธิปไตยกับความเหลื่อมล้ำ ต้องมองให้เห็นทั้งโลก โดยไม่มองเฉพาะความโดดเด่นของแต่ละประเทศเท่านั้น โจทย์ประชาธิปไตยในสถานการณ์ที่เผชิญต้องมีหลายระดับ ต้องพูดถึงประชาธิปไตยหลายระดับไปพร้อมๆ กัน เพื่อไม่ให้ถูกปั่นหัว เช่น การปั่นค่าเงินเมื่อเจอสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งนี้การมองประชาธิปไตยหลายระดับ คือ การให้ความสำคัญกับการตื่นรู้ มีสติ เกิดปัญญาร่วมกัน ภายใต้โลกที่มีแต่ความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือมิติของการปฏิบัติในวาระการพัฒนาของทั้งโลก ผ่านการยอมรับร่วมกัน การกำกับร่วมกัน การตรวจสอบร่วมกัน"