ลอยกระทงปลอดภัยใช้ 6 มาตรการเข้ม
ลอยกระทงปลอดภัยใช้ 6 มาตรการเข้ม คอลัมน์... สายตรวจระวังภัย โดย... ทีมข่าวอาชญากรรม
เทศกาล “ลอยกระทง” ปีนี้ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เป็นวันที่มีเพื่อระลึกถึงคุณค่าของน้ำที่มนุษย์ได้ใช้อุปโภคบริโภคและทิ้งความโชคไม่ดีของตัวเอง โดยทำกระทงซึ่งประกอบด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และอื่นๆ ไปลอยน้ำ เป็นประเพณีอันงดงามที่สืบสานมาแต่โบราณกาล
ทว่าเทศกาลลอยกระทงของทุกปีมักมีเหตุการณ์เศร้า มีการบาดเจ็บสูญเสียเกิดขึ้น โดยเฉพาะอุบัติเหตุต่างๆ ทั้งทางน้ำและทางบก ตลอดจนอันตรายจากการเล่นพลุไฟ ประทัด โคมลอย ฯลฯ หรือมีปัญหาอาชญากรรมต่างๆ รวมถึงการทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นกับงานลอยกระทงตามสถานที่ต่างๆ ที่จัดขึ้นทั่วประเทศ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันรองรับไม่ให้เกิดเหตุ
ด้วยเหตุนี้ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะโฆษก ตร. จึงได้ปล่อยแถวระดมกวาดล้างอาชญากรรมและอุบัติภัยทางน้ำช่วงเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2562 ในพื้นที่ บก.น. 1-9 ตั้งแต่วันที่ 6-11 พฤศจิกายน โดยแบ่งเขตการดูแลและการตรวจความเรียบร้อยทั้งบนบกและในน้ำ ซึ่งตั้งเป้าหมายในการกวาดล้างบ่อเกิดของอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งมั่วสุมต่างๆ และในมุมมืดมุมอับ
พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวว่า ขอฝากถึงพี่น้องประชาชน หากพบสิ่งใดผิดปกติ ต้องสงสัย สามารถแจ้งเบาะแสะได้ที่สายด่วน 191 และโรงพักในท้องที่ และขอแนะนำให้ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในการเดินทางด้วยรูปแบบต่างๆ ขออย่ากรูกันขึ้นลงรถหรือเรือ เพราะจะเกิดอันตราย รวมถึงช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้เฝ้าระวังเด็กและทรัพย์สินสูญหายด้วย
ขณะที่ พล.ต.ต.สุรชาติ จึงดำรงกิจ ผบก.กองแผนงานอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าได้สั่งการให้ตำรวจทุกหน่วยจัดทำแผนปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อย จัดการจราจรในสถานที่จัดงานทั่วประเทศ 6 มาตรการ คือ 1.ป้องกันอาชญากรรมและอุบัติภัยทางน้ำ เพิ่มความเข้มข้นออกตรวจในพื้นที่จัดงานลอยกระทงขนาดใหญ่ ตั้งศูนย์ปฏิบัติงานส่วนหน้า เพื่อดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพิ่มสายตรวจและตำรวจนอกเครื่องแบบ 2.ป้องกันอันตรายจากพลุ ตรวจสถานที่ผลิต เก็บจำหน่ายพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง หากพบการผลิตที่ผิดกฎหมายให้จับกุมเสนอเพิกถอนใบอนุญาต โดยการจุดพลุประทัดต้องขออนุญาตก่อน 3.ป้องกันอาชญากรรม โดยให้ระดมกวาดล้างอาชญากรรมทั่วประเทศ กวดขันสถานบันเทิงให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ให้มีการลักลอบใช้ยาเสพติดในสถานบันเทิงอย่างเด็ดขาด 4.กวดขันจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพต่างๆ เช่น พวกกรีดกระเป๋าหรือล้วงกระเป๋า เข้มงวดกวดขันปราบปรามยาเสพติด 5.อำนวยความสะดวกการจราจร และ 6.ประชาสัมพันธ์ถึงเส้นทางการจราจร ไม่ดื่มสุราขณะขับขี่ยานพาหนะ
เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังจังหวัดต่างๆ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ให้ดูแลการเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการลอยกระทง เช่น สัญจรทางน้ำ การจำหน่ายสุรา รวมถึงให้ดูแลเรื่องพลุและดอกไม้ไฟ การจำหน่าย การเล่นต้องไม่เกิดปัญหา และกำชับให้แต่ละพื้นที่กวดขันดูแลความแข็งแรงของโป๊ะ ท่าเรือ ไม่ให้ประชาชนลงไปเกินปริมาณที่รับได้ ส่วนการเดินทางด้วยรถยนต์ก็จะเข้มงวด เพราะถือเป็นช่วงเทศกาลเช่นเดียวกัน โดยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงมหาดไทยร่วมกันดูแลความสงบเรียบร้อยและความสุขของประชาชน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ให้จัดงานตามวัฒนธรรมและดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย
มาตรการความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐจะได้ผลมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของประชาชนด้วย อย่าให้เทศกาลแห่งความสุขต้องจบลงด้วยความเศร้าหรือสูญเสีย..!!