มุมมอง อภิสิทธิ์-สุวัจน์ โอกาสไทยสร้างเมืองอัจฉริยะ
อภิสิทธิ์ ย้ำ รัฐต้องจริงจังใช้เทคโนโลยีให้เต็มศักยภาพสร้าง Big Data แชร์ข้อมูลเป็นประโยชน์ทุกส่วน ขณะที่ สุวัจน์ เน้นสร้างเมกะโปรเจกต์-มีพันธมิตรลงทุน-ใช้เทคโน
เมื่อพูดถึงการสร้างเมือง การฝันหาถึงเมืองอัจฉริยะ ในยุคที่มีการปฏิวัติเทคโนโลยี ที่ผู้คนเริ่มให้ความสนใจพูดถึงเทคโลยีชีวภาพ , AI ปัญญาประดิษฐ์ ที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน และการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาสังคมให้ได้รับความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีนั้น
โอกาสนี้ ASA ได้จัดงาน "ASA Real Estate Forum 2019" (อาษา เรียลเอสเตท ฟอรัม 2019) Smart & Innovative Cities for all ระดมทุกภาคส่วนวางรากฐานเมืองอัจฉริยะ เมืองนวัตกรรม เพื่อความยั่งยืนสำหรับทุกคน
โดย ASA เทียบเชิญ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ บรรยายในหัวข้อ "อนาคตประเทศไทย อนาคตเมืองนวัตกรรมสำหรับทุกคน"
ซึ่ง "นายอภิสิทธิ์" ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นว่า ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการเปลี่ยนเทคโนโลยีที่มีผลต่อหลายมิติในชีวิตทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ขณะที่เวลานี้การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรเรากำลังเข้าสู่สูงวัย
และก็อีกมีสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือปรากฏการณ์การเติบโตของสังคมเมือง คือสัดส่วนประชากรสังคมเมืองสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ปรากฏการณ์นี้ในประเทศไทยดูเหมือนจะยังไม่รวดเร็ว เหมือนเมืองในต่างประเทศ แต่เราก็มาถึงจุดที่ขณะนี้ประชากรที่อาศัยในเมืองไม่น้อยและอาจจะอีกไม่กี่ปีประเทศไทยที่เคยถูกมองว่ามีชนบทเยอะก็จะไม่เป็นอย่างนั้นอีก
" ขณะที่หลายคนมองว่าปัจจุุบันมีเทคโนโลยีการสื่อสาร การคมนาคมที่ดีขึ้น จะมีการกระจายตัวความเจริญไปในความพยายามที่เป็นนโยบายของรัฐบาลก็ดี หรือเป็นความปรารถนาของคนจำนวนหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังปฏิเสธไม่ได้ คือ ความต้องการของคนที่จะเข้ามาอยู่ในเมืองยังคงเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ หรือเรื่องที่มีการบริการสาธารณะที่ดีกว่าพร้อมกว่าชนบท จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยายตัวของเมืองไม่ว่าจะเมืองหลวง หรือเมืองรองจะเกิดอย่างต่อเนื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นโจทย์สำคัญว่า การพัฒนาเมืองต่อไปต้องคำนึงถืงอะไรบ้าง และต้องประสบปัญหาอะไรบ้าง "
ขณะที่สังคมเมืองจะต้องเป็นที่มาของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ที่อิงกับเทคโนโลยีทั้งการสร้างบริการ สินค้า และการสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏการณ์เข่นนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของเมือง และการพัฒนาเมืองเป็นศูนย์กลางสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งการจะพัฒนาเป็นเมืองนวัตกรรม เทคโนฯ ที่มีอยู่ในวันนี้เราควรต้องใช้ประโยชน์จากมันในการพัฒนาเมืองอย่างน้อย 3 ด้าน
1.เราต้องการให้เทคโนฯ มีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เทคโนฯ จึงจะมีบทบาทเป็นเครื่องมือตอบโจทย์นี้
2.คาดหวังให้เทคโนฯ เข้ามามีส่วนสำคัญในการปรับปรุง-ยกระดับคุณภาพบริการสาธารณะ เช่น ระบบขนส่งมวลชน การบริการด้านการสื่อสาร การสาธารณสุข
3.ใช้เทคโนฯ ปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ กับประชาชน คือการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับกิจการสาธารณะ กิจการของรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีการพูดถึงโครงการ Smart City , E-Government รวมถึงพัฒนาการภาคเอกชนที่มีการพัฒนาธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม ตั้งแต่การศึกษา การสาธารณสุข ไปจนถึงบริการด้านอื่น
โดยสิ่งที่ตนจะเน้นย้ำเป็นพิเศษ ไม่ใช่พูดถึงการลงทุนโครงลงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจฯ จะต้องมองอยู่แล้วว่าภาครัฐต้องเตรียมการอะไรบ้าง แต่ตนจะพูดถึง 2 ประเด็นที่มองว่าเป็นปัจจัยสำคัญว่าเราจะใช้เทคโนฯ มาสร้างเมืองที่เราต้องการจะเห็นที่ว่าเป็นเมืองอัจฉริยะ เมืองนวัตกรรม หรือเมืองเพื่อทุกคนเมืองได้อย่างไร
คือ 1.ขอยกเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับตนเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่มีเจ้าหน้าที่ กทม. มาหย่อนเอกสารในตู้จดหมายบ้านตน แจ้งว่ากำลังจะสำรวจที่ดินทุกบ้านเพื่อจะประเมินภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างที่กำลังจะเกิดขึ้น จากนั้น 2-3 วันก็มีคนมาสำรวจสิ่งปลูกสร้างเพื่อประเมิน ซึ่งตนก็คิดว่าเขาจะทำทันหรือไม่ที่จะต้องเริ่มต้นปีหน้า โดยการส่งคนไปสำรวจ จึงมีคำถามที่อยากให้คิดต่อไปว่าเราสามารถใช้เทคโนฯ ที่มีขณะนี้มาช่วยความสะดวก โดยที่ไม่ต้องใช้คนสำรวจได้หรือไม่ และเช่นปัจจุบันการเดินทางเรามักใชกูเกิ้ลแมพ (Google Map) ช่วยบอกเส้นทาง ช่วยบอกระยะเวลาในการเดินทางได้ด้วย ซึ่งมีความแม่นยำระดับหนึ่ง แต่บางครั้งมีปัญหาเรื่องข้อมูลทางที่เปลี่ยนแปลงไม่อัพเดท ขณะที่เรามีเครื่องมือลักษณะนี้อยู่ เราได้สัมผัสกับการใช้เทคโนฯ เรื่องข้อมูลผ่านเทคโนฯ แต่เรายังขาดกรอบของระบบที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
"หัวใจของการสร้างเมืองอัจฉริยะ ไม่ว่าจะมีเครื่องมือทางเทคโนฯ มากน้อยแค่ไหนก็ตามแต่ถ้าฐานข้อมูลไม่มี หรือมีแล้วไม่ได้เอาไปใช้ หรือมีแล้วไม่สามารถเอาไปใช้ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ประโยชน์คงจะน้อย ดังนั้นหัวใจสำคัญสิ่งแรกที่อยากจะเห็น คือถกกันกำหนดกันเสียทีว่า ฐานข้อมูลขนาดใหญ่เราจะจัดการอย่างไร ซึ่งเวลาที่เราพูดถึง E-Government ปัญหาที่ยังมีอยู่คือ เรื่องชุดข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ที่ระบบของเรายังไม่เอื้อกับการรวบรวมฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะมาใช้แล้วแบ่งปันกัน เรายังยึดติดกับการจัดเก็บข้อมูลของหน่วยงานรัฐแบบต่างคนต่างเก็บต่างมีอำนาจเหนือข้อมูลนั้น แล้วข้อมูลนั้นก็ไม่สามารถที่จะเปิดเผยหรือให้หน่วยรัฐด้วยกันเองไปใช้ได้ แต่ถ้าเรามองถึงการริ่เริ่ม ที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต การยกระดับบริการสาธารณะ หรือการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของรัฐ ก็ตาม จุดเริ่มต้นก็คือการต้องมีฐานข้อมูล ที่เปิดให้หลายๆฝ่ายเข้ามาร่วมกันใช้ได้ ซึ่งจะต้องมีการวางกรอบ กฎระเบียบเกี่ยวกับ การคุ้มครองข้อมูลเรื่องส่วนบุคคลด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบสิทธิ แต่อย่างไรก็ดีผมยังเชื่อว่าข้อมูลที่นำมาใช้นั้นไม่ได้ลึกระดับข้อมูลส่วนบุคคล แต่เป็นข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการวางแผน-การประกอบการ-ในการทำธุรกิจ ยกตัวอย่าง เรื่องสาธารณสุข ก็เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วย การส่งต่อคนไข้โดยไม่เจาะจงว่าคนไข้ชื่ออะไร ข้อมูลเช่นนี้ กลุ่มที่ทำธุรกิจด้าน Health Tech คงสนใจ ซึ่งหากเข้าถึงข้อมูลลักษณะเช่นนี้ ก็จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ "
หรือ..เรื่องการศึกษาก็เช่นกันว่ามีเด็กจำนวนเท่าใด ซื้ออาหารกลางวัน ซื้ออะไรจากที่ไหนอย่างไร จะเชื่อมโยงกับภาคการเกษตรท้องถิ่นได้หรือไม่ ดังนั้นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งขณะนี้เป็นข้อมูลที่รัฐมีอยู่แล้ว เราสามารถที่จะทำให้เป็นระบบแล้วก็เปิดเผยเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงได้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำข้อมูลไปสู่การปรับปรุงคุณภาพต่างๆได้ และยังเป็นการยกระดับเรื่องของความโปร่งใสด้วย
ตัวอย่าง กรณีที่จะต้องมีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดเก็บภาษีที่ดินในปีหน้า อัตราที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมาย จะต่างกันถ้าเป็นที่อยู่อาศัย กับที่เพื่อเป็นการเกษตร หรือเป็นที่เพื่อประกอบการด้านการพาณิชย์ ซึ่งตนเชื่อว่ามีสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองต่างๆ ที่คงยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นที่อยู่อาศัยหรือเพื่อการพาณิชย์ , เป็นที่รกร้างว่างเปล่าหรือเป็นที่เพื่อการเกษตร และเมื่อต้องมีการใช้ดุลพินิจกันก็อาจจะเป็นการเปิดช่องแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบหรือเลือกปฏิบัติ
" แต่ถ้าเราใช้หลักการเปิดเผยข้อมูล Big Data ท่านก็สามารถที่จะเปิดแผนที่เมืองแล้วเมื่อกดไปดูที่พื้นที่นั้นก็จะได้แสดงให้เห็นว่าเป็นพื้นที่อะไร จะต้องเสียภาษีในอัตราเท่าใด โดยที่ไม่ต้องมีการเปิดเผยชื่อเจ้าของที่ดินนั้น การเอาข้อมูลมาเปิดเพียงเท่านี้ นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติแล้ว ยังจะทำให้เห็นว่า ทำไมที่ดินที่อยู่บริเวณใกล้กัน แต่มีการประเมินภาษีแตกต่างกัน ขณะเดียวกันยังจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองทั้งมุมมองจากภาครัฐ หรือเอกชน และหากเรายิ่งนำเทคโนฯ เช่นนี้มาใช้กับกระบวนการด้านงานออกคำสั่ง-ใบอนุญาตของภาครัฐ จะช่วยลดภาระขั้นตอนการยื่นต่างๆ ถ้าเราจริงจังที่จะเอาเทคโนฯ มาใช้ ข้อมูลอาจเรียกได้เป็นสิ่งที่มีค่ามาก ดังนั้นต้องมาจัดระบบ ระเบียบ กฎเกณฑ์กติกาที่จะให้เราได้ใช้สินทรัพย์นี้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะระบบราชการยังอยู่ในกรอบความคิดว่าข้อมูลที่ได้ไปนั้นเขาเท่าน้้นจะต้องเป็นผู้เก็บรักษาและใช้ "
2.การยอมรับความจริงว่า ผู้นำในการพัฒนาเมิองไม่ใช่ ภาครัฐ ภาคราชการ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งรัฐ ท้องถิ่น ธุรกิจเอกชน วิสาหกิจเพื่อสังคม ชุมชน และประชาชนด้วย แต่ความจริงในปัจจุบันการจะมีส่วนร่วมเรื่องเหล่านี้ก็ถือว่ายากมาก เช่น เมื่อจำเป็นจะต้องนำเทคโนฯ มาใช้กับการบริการสาธารณะที่เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ กับอำนาจรัฐ มักจะเกิดปัญหาในแง่ภาครัฐยังกังวลกับการติดกรอบระเบียบการจัดซื้อ-จัดจ้าง หรือแม้บางคนมีความคิดที่ดีต่อการพัฒนาการใช้เทคโนฯ กับหน่วยงานระดับจังหวัด ท้องถิ่น ก็มีกรอบกำหนดเช่นกันทำให้เกิดความลังเลว่าจะถูกร้องเรียนการเอื้อประโยชน์ ดังนั้นวันนี้นอกจากการเข้าถึงข้อมูลแล้ว ยังต้องกำหนดกติกา กำหนดกรอบใหม่ต่อการมีส่วนร่วมภาคเอกชน หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งตนพยายามผลักดัน ให้เกิดกฎหมายเพื่อรับรองนิติบุคคลอีกประเภทหนึ่งเพื่อมารองรับ "วิสาหกิจเพื่อสังคม" โดยเฉพาะ ที่เราจะต้องสามารถทำให้เขาที่มีนิยามชัดเจนว่าไม่ใช่หน่วยงานมุ่งแสวงหากำไรเป็นหลัก แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมด้วย ก็ควรได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากธุรกิจเอกชน โดยจะทำให้เขาสามารถมีบริการหรือมีสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามานำเสนอให้กับภาครัฐได้ โดยอาจจะมีการกำหนด กระบวนการตรวจสอบกรณีที่เขาจะได้รับเงินอุดหนุน หรือการให้มีโอกาสที่จะได้รับการลดหย่อนภาษี แต่ถ้าเราไม่เปิดช่องตรงนี้หลายเรื่องที่เราอยากจะทำ ก็จะทำได้ยาก
"สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำในวันนี้ อยากให้ท่านทั้งหลายเห็นภาพว่า เมืองกำลังจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลัก ไม่ว่าจะเป็นเมืองรอง ผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในอนาคตก็จะมีการหลั่งไหลเข้ามารวมตัวเป็นชุมชนกันอีกมากขึ้น ขณะเดียวกัน เรามีความท้าทาย ที่เกิดขึ้นจากความต้องการในแง่ของคนเมืองไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่ใช้เวลาน้อยลงสะดวก รวดเร็ว ต้นทุนถูก เรามีความต้องการให้คุณภาพชีวิตของคนเมือง ไม่ต้องอยู่กับมลพิษ เรามีความต้องการที่จะให้เมืองนั้นเป็นมิตรกับผู้สูงอายุกับผู้พิการ เราต้องการเมืองที่มีความปลอดภัย และเราต้องการการพัฒนาเมืองซึ่งเป็นระบบ โดยเคารพสิทธิต่างๆของประชาชน สิทธิต่างๆของชุมชน-ท้องถิ่น ผมมั่นใจว่าเครื่องมือทางเทคโนโลยีเรามีและมีเพียงพอที่จะตอบโจทย์นี้ แต่เครื่องมือจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราไม่มีกติกาที่จะสามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ ขณะที่รัฐและหน่วยงานราชการ ไม่ใช่ทำโครงการที่จะคิดแข่งขันกับเอกชน แต่สิ่งที่รัฐมีที่รัฐทำได้คือการเป็นเจ้าของข้อมูล , การเป็นผู้กำหนดกติกา , การใช้ข้อมูล , การจะเปิดโอกาสให้คนมาร่วมทำงานกับรัฐ ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นกุญแจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือเมืองนวัตกรรมต่อไปในอนาคตได้"
ขณะที่ "นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา พูดถึงโอกาสการพัฒนา "Thailand : Country of Opportinities & Equality" ว่า เราต้องค้นหาตัวเองว่าอะไรเป็นจุดแข็งของประเทศไทยแล้วนำสิ่งนั้นมาใช้ เราต้องมีเมกะโปรเจกต์ เราต้องมีพันธมิตรในโลกการทำธุรกิจ ขณะเดียวกันวันนี้เราต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ซึ่งหากเราสามารถที่จะมีเมกะโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่จะทวิตระบบเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้คนทั้งโลกหันมาสนใจที่ประเทศไทยและตามเทคโนฯ ให้ทัน จะทำให้เราสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้ และจะเป็นประโยชน์ต่อทุกอาชีพที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
"โดยในมุมมองของผมเห็นว่าช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย มีการลงทุนเรื่องเมกะโปรเจกต์มากที่สุด และมีผลให้เห็นความชัดเจนว่าประเทศไทยวันนี้อะไรได้เปลี่ยนไปจากอดีตเยอะ มีเมกะโปรเจกต์ที่จะสร้างความเชื่อมั่นสร้างฐานเศรษฐกิจให้ประเทศต่อไปได้ ซึ่ง ซึ่งประเทศนี้อยู่ได้ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจ 3 อย่าง
คือ 1.มีผู้มาลงทุนหรือไม่ (คนลงทุน)
2.มีอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกหรือไม่ (คนเอาสินค้าไปขาย)
3.มีนักท่องเที่ยวหรือไม่
ซึ่งในมุมของตนเห็นว่าเรายังมีความหวัง ซึ่งเมกะโปรเจกต์ที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ ก็คือโครงการ EEC ที่เหมือนภาค 2 ของอีสเทิร์นซีบอร์ด โดยอดีตในยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ฺ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยมีโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหรืออีสเทิร์นซีบอร์ด นี่ก็เป็นตัวอย่างของเมกกะโปรเจกต์ที่เคยเกิดขึ้น 30 ปีก่อน
ขณะที่โครงการ EEC ก็จะเป็นการต่อยอดของอุตสาหกรรม7 ตัวใหม่ คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ ,อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล, อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา , อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ , อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน
โดยการทำโครงการ 1.จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดัก ยกระดับขึ้นเป็นประเทศพัฒนา 2.ทำให้บรรยากาศการลงทุนของประเทศไทยจะดีขึ้น ไม่น้อยกว่า 10% 3.GDP อาจจะขยับขึ้นไป 4.มีการจ้างงานประมาณ 100,000 คน 5.ระบบโลจิสติกส์ที่จะดึงดูดนักลงทุน 6.นักท่องเที่ยวรายได้จะเพิ่มขึ้น ขณะที่การดำเนินโครงการก็มีการกำหนดผังเมืองชัดเจน และมีกฎหมายชัดเจน มีสิทธิประโยชน์ให้เห็นชัดเจน ที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศที่มีสนามบินนานาชาติ 2 แห่ง และเชื่อมกันด้วยเส้นทางรถไฟไม่ถึงชั่วโมง