ความเหลื่อมล้ำอันรุนแรง
ความเหลื่อมล้ำอันรุนแรง คอลัมน์... รู้ลึกจุฬาฯ
การสำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยสะท้อนว่าปัญหานี้กำลังจะทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยมีนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นถึงการออกจากกับดักรายได้ปานกลางแต่ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวในระดับต่า และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยในทศวรรษที่ผ่านมายังคงสร้างความกังวลให้ภาคประชาชนว่าการกระจายรายได้ที่ไม่สมดุล ไม่เท่าเทียมกันนั้นจะพาสังคมไทยไปในทิศทางใด
คำถามนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในงานประชุมวิชาการเรื่อง “การลดความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติเพื่อการการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษขององค์กรสหประชาชาติ เวทีเสวนาครังนี้จัดโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์กรอ็อกแฟม (Oxfam) เมื่อวันที่ 29-30 ตุลาคม ที่ผ่านมา
รศ.ดร.วิมุต วานิชเจริญธรรม จากภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนา ตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีการประเมินความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยในหัวข้อ “Reducing inequalities : Recent experiences from Thailand” โดยกล่าวว่า การวัดความเหลื่อมล้ำในวงการวิชาการ มักพิจารณาจากการถือครองรายได้ โดยใช้ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งไปสำรวจมาแต่ละครัวเรือนว่ามีรายได้เท่าใด จากนั้นจึงนำรายได้ของกลุ่มตัวอย่างมาคำนวณเพื่อจัดทำเป็นสัมประสิทธิ์ความเสมอภาค หรือ จีนี (Gini coefficient) เป็นวิธีวัดการกระจายของข้อมูลทางสถิติอย่างหนึ่งที่นิยมใช้เป็นตัวบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้หรือการกระจายความร่ำรวย
“ถ้ามองจากฐานข้อมูลเราจะพบว่าตัวเลขดูดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำลดลง แต่คำถามคือเราเชื่อข้อมูลนี้ได้มากน้อยแค่ไหน สำนักงานสถิติสำรวจคนครบทุกกลุ่มไหม เพราะโดยการเก็บข้อมูลซึ่งเป็นการสำรวจตามครัวเรือน คนที่รวยหรือรวยมากๆ มักจะไม่อยู่ในกลุ่มตัวอย่าง ตรงข้ามกับงานสำรวจของ Forbes ซึ่งก็ได้สำรวจคนระดับมหาเศรษฐีในไทย เราก็มักจะเห็นว่า ความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้โตเร็วจริงๆ”
งานวิจัยของอาจารย์วิมุต จึงนำข้อมูลอื่นมาประกอบเพื่อหาความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงของประเทศไทย โดยการนำข้อมูลของกรมสรรพากรในด้านของกลุ่มรายได้กับการเสียภาษีเพื่อดูว่าผู้ที่มีรายได้ระดับสูงเสียภาษีมากน้อยเท่าใด ซึ่งผลปรากฏว่าความเหลื่อมล้ำในไทยไม่ได้ลดลงอย่างที่ตัวเลขทางการระบุ
“การถือครองทรัพย์สินของคนรวยก็ยังสูงมาก สะท้อนว่าความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงในประเทศไทยมันไม่ได้ลดลงอย่างที่คิด”
งานวิจัยของอาจารย์วิมุต ยังวิเคราะห์ไปถึงการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมในมิติด้านการศึกษา และด้านการบริการทางสุขภาพ ซึ่งแม้จะมีตัวเลขของผู้ที่ได้รับสิทธิมากขึ้นแต่ตัวเลขในเชิงคุณภาพก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข
“คนไทยยุคปัจจุบันได้รับการศึกษามากกว่าคนรุ่นก่อน การรักษาพยาบาลก็เข้าถึงมากขึ้น แต่ในเรื่องคุณภาพก็ยังเป็นปัญหา คนจนแม้จะได้รับการศึกษาจำนวนปีเท่ากับคนรวย แต่คุณภาพการศึกษาก็ยังสู้ลูกคนรวยไม่ได้ ขณะที่การบริการรักษาทางการแพทย์ก็ยังกระจุกตัวในกรุงเทพฯ มากกว่าในต่างจังหวัด”
อาจารย์วิมุตกล่าวต่ออีกว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของไทยสืบเนื่องมาจากนโยบายของภาครัฐมักเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจ ไม่สนับสนุนนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของตนเอง ดังนั้นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำคือการจัดสรรภาษีที่เป็นธรรม ตามหลักการจัดสรรรายได้จากคนรวยสู่คนจน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ภาษีของไทยยังไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าว
“ตอนนี้ภาษียังไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ส่วนใหญ่มีนโยบายลดหย่อนภาษีจำนวนมากซึ่งเอื้อต่อคนรวย ทำให้เกิดการกระจุกตัวของที่ดินและความมั่งคั่ง ภาษีควรทำหน้าที่ในการกระจายความมั่งคั่ง ซึ่งต้องนำไปใช้ประโยชน์สูงสุดแก่คนในประเทศ”
อย่างไรก็ตามอาจารย์วิมุตยังกังวลเรื่องความโปร่งใสในการบริหารจัดการภาษี “ภาครัฐไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่าสามารถจัดการเงินให้มีความโปร่งใส ดังนั้นภาครัฐต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนเองมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บและนำไปใช้ ประชาชนก็จะมีความเชื่อมั่นและเกิดความพร้อมใจที่จะจ่ายภาษี ถ้าทำแบบนี้ได้จริง การจัดสรรความมั่งคั่งก็ทำได้มั่นคงมากขึ้น”
อาจารย์วิมุตชี้ว่าความเหลื่อมล้ำที่กำลังเผชิญอยู่จริงในประเทศไทยกำลังทวีความรุนแรงกว่าที่ปรากฏเป็นตัวเลขสถิติ ดังนั้นหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่แก้ไข ก็อาจจะนำไปสู่ความตึงเครียด ความรุนแรง อย่างที่เคยประสบมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย
“ในภาวะความเหลื่อมล้ำแบบนี้ หากรัฐบาลไทยยังไม่ตระหนักและเริ่มต้นที่จะปฏิรูปการกระจายรายได้ แต่ยังคงรักษาฐานเสียงด้วยนโยบายระยะสั้น เน้นซื้อใจและซื้อความนิยมจากประชาชน คนชั้นกลางและชั้นล่างที่ได้รับผลกระทบหนักก็อาจจะลุกขึ้นมาเรียกร้องผลักดันเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและอาจนำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งได้”