คอลัมนิสต์

กองทุนฯ เยียวยาเหยื่อแชร์ลูกโซ่.. แค่คิดก็ผิดแล้ว

กองทุนฯ เยียวยาเหยื่อแชร์ลูกโซ่.. แค่คิดก็ผิดแล้ว

17 พ.ย. 2562

แนวคิดตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยาแชร์ลูกโซ่ อ้างว่าช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากการถูกโกงแชร์ เอาเงินรัฐ ภาษีปชช.มาลงในกองทุนนี้ ควรเก็บพับไปได้เลยเพราะไม่สมเหตุผล

       แชร์ลูกโซ่กำลังระบาดหนักผุดเป็นดอกเห็ดที่ดังเปรี้ยงปร้าง  ก็"แชร์แม่มณี " และตามมาด้วย แชร์แม่...ต่างๆ 

       รัฐบาลจึงจะวางมาตรการป้องกันและช่วยเหลือผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ในระยะยาว  ที่ผ่านมามีการจัดการประชุมศึกษาแนวทางมาตรการป้องกัน ปราบปราม และช่วยเหลือประชาชนผู้เสียหายจากการลงทุนแชร์ลูกโซ่ โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ  และที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อขับเคลื่อน ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ขึ้นมา

        

        ที่ผ่านมากฎหมายทั่วไปที่ลงโทษผู้กระทำผิดจำคุกรวมแล้วไม่เกิน 20 ปี แม้จะมีผู้เสียหายจำนวนมากมาย และวงเงินสูงมหาศาลก็ตาม  ยกตัวอย่างในรายของแชร์แม่ชม้อย สุดท้ายก็จำคุกเพียง 7 ปีกว่า

     หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจประเทศไทยก็จะเจ๊ง เพราะคนในขบวนการหลอกลวงเงินผู้ลงทุนแชร์ลูกโซ่ เมื่อได้เงินมาก็จะต้องนำเงินไปซุกซ่อนไว้ที่ต่างประเทศ ขณะที่คนในประเทศล่มจม ไม่มีเงินออม แต่กลับมีหนี้แทน 

       กลุ่มขบวนการแชร์ลูกโซ่ ถือเป็นส่วนหนึ่งปัญหาคอร์รัปชันเหมือนกับการที่มีบ่อนพนัน ซึ่งตำรวจในพื้นที่ไม่รู้หรือว่ามีบ่อนอยู่ที่ไหน แต่ทำไมบ่อนจึงยังไม่หมดไป เช่นเดียวกันแชร์ลูกโซ่เจ้าหน้าที่ก็รู้ว่าเป็นการโกงเงินชาวบ้าน แต่ไม่จัดการ

       จากปัญหาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นที่มาของการคิดยกร่างป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่  โดยจะกำหนดเนื้อหาว่าต้องให้มีเจ้าภาพหลัก หน่วยงานหลักขึ้นมารับผิดชอบ  อาจจะเป็น "สำนักงานป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่" และกำหนดโทษหนักสำหรับผู้กระทำผิด โดยในส่วนตัวการใหญ่และลูกทีมกระทำผิดต้องแก้ไขให้มีบทลงโทษ เมื่อถึงเป็นที่ยุติชั้นศาลมีโทษจำคุกอย่างน้อยจำคุก 50 ปี เป็นต้น 

    นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.แชร์ลูกโซ่ จะตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อ มีแนวคิดเบื้องต้นว่าจะจ่ายเงินให้ผู้เสียหาย 10% ของเงินต้นที่ถูกโกง โดยส่วนที่เหลือ 90% จะต้องรอศาลสั่ง ซึ่งเงินกองทุนฯ อาจจะมาจากรัฐบาลเป็นผู้ให้เงินตั้งต้น และเมื่อยึดอายัดทรัพย์จากตัวการท้าวแชร์ได้แล้ว ก็นำมารวมไว้ ซึ่งผู้เสียหายจะต้องมาลงทะเบียน และมีเงื่อนไขว่าได้รับการเยียวยาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น 

      ประเด็นในเรื่องการยกร่างกฎหมายขึ้นมาเฉพาะ เพื่อเอาผิดกับผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่  โดยมีบทลงโทษที่หนักขึ้น และมีหน่วยงานหลัก เจ้าภาพหลักขึ้นมารับผิดชอบ ในเรื่องแชร์ลูกโซ่ในลักษณะของ"สำนักงาน" ดูก็เข้าท่าดี 

    แต่ในเรื่องที่จะตั้ง"กองทุนเยียวยาแชร์ลูกโซ่" ตามที่เหยื่อแชร์ลูกโซ่เรียกร้อง โดยเงินส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลเป็นผู้ให้เงินตั้งต้น  ถามว่ารัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน  ก็หนีไม่พ้นเงินจากภาษีประชาชนอย่างพวกเราๆ  ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง  เข้าทำนอง" แค่คิดก็ผิดแล้ว" 

     หากเราไล่เลียง "กองทุน" ต่างๆของรัฐที่มีอยู่ ก็จะเห็นได้ว่า ทุกกองทุนตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลของ"ความจำเป็น" ทั้งสิ้น

    กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ( กสศ. ) - ตั้งขึ้นมาช่วยเหลือเด็กยากจนให้ได้เรียนหนังสือ 

    กองทุนยุติธรรม-  ตั้งขึ้นมาช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนในทางคดี  ช่วยคนจน  คนที่ขาดความรู้ทางกฎหมาย คนไม่มีเงินในการประกันตัว 

    กองทุนประกันสังคม-  เป็นกองทุนให้หลักประกันสำหรับคนทำงาน ยามเจ็บป่วย ทุพพลภาพ  ชราภาพ  ว่างงาน

    แล้ว...กองทุนช่วยเหลือเหยื่อแชร์ลูกโซ่  มีความสำคัญกับสังคม มีความจำเป็น เหมือนกับกองทุนต่างๆที่รัฐตั้งขึ้นมาหรือไม่ จำเป็นที่จะต้องเอาเงินจากภาษีประชาชน มาลงเป็นกองทุนหรือไม่ คำตอบ คือไม่ใช่เลย

    เพราะว่ามันเป็นความผิดพลาดของคนเล่นแชร์เอง บางคนเล่นแชร์ก็รีบ"เปีย" ตั้งแต่มือแรกหรือต้นมือ วงแชร์ล้มก็ไม่เดือดร้อนเพราะฟันกำไรไปแล้ว อีกทั้งคนเล่นแชร์ได้ก็แสดงว่ามีเงินพอสมควร ไม่ใช่ยากไร้ถึงกับจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ  

      และถ้ารัฐตั้งกองทุนช่วยเหลือเหยื่อแชร์ลูกโซ่ จะมีคนจำนวนมากได้ประโยชน์จากกองทุนนี้ และจะมีคนเล่นแชร์กันเยอะแยะไปหมด ผุดเป็นดอกเห็ดยิ่งกว่าเดิม เพราะถ้าเกิดพลาดจากการเล่นแชร์ ก็ยังมีกองทุนฯนี้ช่วยเหลืออีก

   สรุปว่า เรื่องแนวคิดตั้งกองทุนเยียวยาแชร์ลูกโซ่ รัฐบาลเก็บพับไปได้เลย