คอลัมนิสต์

คนไทยยังมีอนาคตให้หวัง:เสวนาประเทศไทย:วิกฤต ความหวัง อนาคต?

คนไทยยังมีอนาคตให้หวัง:เสวนาประเทศไทย:วิกฤต ความหวัง อนาคต?

27 พ.ย. 2562

นักวิชาการหวั่น สังคมไทยขยายไปสู่การปฏิวัติประชาชนและหากประเทศพัฒนาไปสู่อำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ จะมีคนไม่ยอมและออกมาต่อสู้กัน ทางออกแก้ รธน.-เลือกตั้ง-ปชต.แบบสมบูรณ์

         เสวนา "ประเทศไทย: วิกฤต ความหวัง อนาคต?  ชาญวิทย์  เกษตรศิริ  หวั่นคำพยากรณ์ สังคมไทยจะขยายไปสู่การปฏิวัติประชาชน   ด้าน"อนุสรณ์ ธรรมใจ"  ชี้หากประเทศพัฒนาไปสู่ระบบอำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จถือว่าเป็นเรื่องอันตรายมากต่อประชาชนเพราะจะมีคนไม่ยอมและออกมาต่อสู้กัน แต่วงเสวนาเชื่อ คนไทยยังมีอนาคตให้หวัง แก้ รธน.ผ่าทางตัน ใช้การเลือกตั้ง ประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์และสันติประชาธรรม  ส่วน“ บรรจง นะแส” ชี้ 4 วิกฤตคุกคามทั้งโลก ต้องตั้งโจทย์ใหญ่แก้ ด้านนักร้องชื่อดัง "โอม ค็อกเทล" เชื่อ การศึกษา ระบบที่ถูกต้อง ผนวกถ่ายทอดจริยธรรมเยาวชน สร้างการเปลี่ยนแปลง

คนไทยยังมีอนาคตให้หวัง:เสวนาประเทศไทย:วิกฤต ความหวัง อนาคต?

 

        ที่ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้การจัดเสวนา หัวข้อ “ประเทศไทย วิกฤต ความหวัง อนาคต?” 

        ศ.พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ  อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักเขียนรางวัลศรีบูรพา มองว่า สังคมไทยที่เห็นว่าตันมา 20 ปีแล้ว และนับตั้งแต่การรัฐประหารในยุค คมช.ปี 2549 จนมาถึงปี 2557 นั้นยังมีทางออก โดยใช้สันติประชาธรรม ใช้ประชาธิปไตย ใช้การเลือกตั้ง แต่ตนก็ยังห่วงว่าอาจจะไม่ได้ออกทางนี้ โดยคนมักอ้างถึงคำพยากรณ์เก่าๆ ซึ่งเกรงว่าจะขยายไปสู่การปฏิวัติของประชาชน 

      คนไทยยังมีอนาคตให้หวัง:เสวนาประเทศไทย:วิกฤต ความหวัง อนาคต?

          "อย่างไรก็ดีสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย หรือพรรคการเมือง หรือนักการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เลย แต่ทุกอย่างผ่านมาแล้วเป็นเรื่องที่คนไทยรู้จักดี ขณะที่ตนคิดว่าการต่อสู้นั้นไม่ได้มองเพียงขั้วเหลืองกับขั้วแดง หรือฝ่ายรัฐประหารกับฝ่ายไม่เอารัฐประหาร เพราะลักษณะความเป็นขั้วมีมานานตั้งแต่ในอดีตแล้ว ในแบบที่มีคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบและระบอบ ส่วนที่ฝ่ายซึ่งเรียกว่าประชาธิปไตยต่อสู้กับอำนาจนิยม หากถามว่าประชาธิปไตยจะชนะหรือไม่ก็อาจจะมีทางหากแก้ไขรัฐธรรมนูญได้และมีการเลือกตั้งก็ควรใช้โมเดลมาเลเซีย อย่างไรก็ดีในจุดนี้ อาจจะมีทางออกคือออกมาในลักษณะแบบเจ๊าหรือเกียเซี๊ยะกันที่มีลักษณะมากกว่าประนีประนอมคือยินยอมกันแบบวินๆ หรือแบบอำนาจเดิมได้รับชัยชนะ โดยดูจากคำตัดสินเมื่อ 2-3 วันก็เหมือนว่าเขาจะชนะ"

คนไทยยังมีอนาคตให้หวัง:เสวนาประเทศไทย:วิกฤต ความหวัง อนาคต?

      ขณะที่ “ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” อดีตรองอธิการบดีฯ และอดีตคณบดีเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต แสดงทัศนะด้านเศรษฐกิจว่า หากจะกล่าวถึงวิกฤตเศรษฐกิจในการเมืองเกิดขึ้นขณะนี้ ที่มีการพูดว่า “เผาจริง” หรือไม่ ตนเห็นว่าคำว่า “เผา” ดูจะเกินจริงไปสักนิดสำหรับประเทศไทย ซึ่งตนคิดว่ายังไม่ถึงวิกฤตเศรษฐกิจดังเช่นในปี 2540 แต่ผลกระทบแน่ๆ ที่เกิดขึ้น คือผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกากับความขัดแย้งระหว่างประเทศที่จะนำมาสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าของโลก รวมทั้งสถานการณ์ประท้วงในฮ่องกงด้วย ขณะที่หากโลกนี้มีสันติประชาธรรมความขัดแย้งคงไม่เกิดซึ่งสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่ก็เกิดจากความขัดแย้งของทุนขนาดใหญ่โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากโลกาภิวัตน์ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาที่ยังปรับตัวไม่ได้แล้วเกิดปัญหาจนเกิดกระแสการเมืองแบบขวาจัดหนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นผู้นำได้และยังเกิดกระแสขวาจัด แต่ในประเทศแถบยุโรปกระแสการเมืองพวกขวาจัดมักจะไม่ได้รับการเลือกตั้งเพราะในยุโรปจะเป็นกลุ่มเสรีนิยมมากกว่า ส่วนประเทศไทยนั้นปัญหาเฉพาะหน้า คือต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน ถ้าวันนี้เราไม่แก้ รธน. เราจะไม่สามารถแก้ให้อย่างอื่นได้อย่างแท้จริง

คนไทยยังมีอนาคตให้หวัง:เสวนาประเทศไทย:วิกฤต ความหวัง อนาคต?

     " ส่วนความขัดแย้งในสังคมไทย ผมเห็นว่าไม่ต่างกับสังคมอื่นที่มีความขัดแย้งให้เห็นเช่นกัน ซึ่งเราต้องยึดแนวทางสันติวิธีหรือนำสันติประชาธรรมมาเป็นกระแสหลักให้ได้ เพราะหากประเทศพัฒนาไปสู่ระบบอำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จถือว่าเป็นเรื่องอันตรายมากต่อประชาชนเพราะจะมีคนไม่ยอมและออกมาต่อสู้กัน ดังนั้นเราต้องทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ กปปส. แต่ต้องสมบูรณ์แบบอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และในส่วนเศรษฐกิจตนเชื่อว่าเศรษฐกิจในปี 2563 จะไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนปี 2540 แน่นอนเพราะยังมีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสูงและยังมีการลงทุนอยู่ ขณะที่เมื่อเทียบกัน แล้วในปี 2540 ที่เกิดวิกฤตินั้น นอกจากนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดแล้วก็ยังเกิดจากที่รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพโดยนับตั้งแต่ช่วงยึดอำนาจปี 2535 มาถึงปี 2543-44 ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ขณะนั้นมีรัฐบาลถึง 7 รัฐบาลที่ผ่าตัดเปลี่ยนมา

       "อย่างไรก็ตามวันนี้ประเทศไทยไม่ได้แย่มากแต่ก็ควรจะดีกว่านี้" "ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวและว่า เราต้องสถาปนาประชาธิปไตยที่เข้มแข็งให้ได้เพราะจะเป็นทางออกของประเทศอย่างแท้จริง

คนไทยยังมีอนาคตให้หวัง:เสวนาประเทศไทย:วิกฤต ความหวัง อนาคต?

       ขณะที่ “นายบรรจง นะแส” ซึ่งได้รับรางวัลสันติประชาธรรมเมื่อประจำปี 2558 กล่าวว่า วิกฤตส่วนหนึ่งที่ภาคประชาสังคมพูดคุยกัน คือวิกฤตของโลกทั้งใบ ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะของประเทศไทยหรือหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่ง โดยขณะนี้เราพบว่ามี 4 วิกฤตคือ 1.ความเหลื่อมล้ำโดยเราติด 1 ใน 3 มีรัสเซีย , อินเดีย , ไทยสลับกันอยู่เช่นนี้ โดยความเหลื่อมล้ำก็มีตั้งแต่การผลิตจนถึงลักษณะการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ 2.วิกฤตโลกร้อน หรือ Global warming โดยไม่ว่าจะรวยหรือจนถ้าเกิดวิกฤตนี้ก็ไม่มีใครรอด ซึ่งภาคประชาสังคมมองเป็นเป้าใหญ่ที่ไม่อาจสามารถแก้ได้เฉพาะในสังคม 3. วิกฤตสงครามนิวเคลียร์ 4.วิกฤต AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่ Robot อาจจะมาเป็นเจ้านายเรา ถ้ามองแง่ดีเราอาจใช้เวลาทำงานน้อยลง แต่จะมีคนตกงานเพิ่มอีกเท่าใด วิกฤตเหล่านี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ ขณะที่ประเทศเรามีวิกฤตเรื่องทั้งเหลือมล้ำ-สิ่งแวดล้อมและการใช้ปัญญาประดิษฐ์มาทดแทนทำให้คนตกงาน แต่ตนก็ยังเห็นพัฒนาการของกลุ่มชาวบ้านที่ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ โดยเราเชื่อว่าจิตสำนึกของคนจะทำให้เราเติบโตขึ้นได้ซึ่งมองว่ายังมีความหวัง โดยยุทธศาสตร์ของคนตัวเล็กคือการใช้สปอร์ตไลท์ใส่ผีดิบ อย่างมี 1,700 ไร่ไม่ผิด แต่ชาวบ้านมีไม่กี่ไร่ติดคุก นี่คือเครื่องมือไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องลากปืนมายิงกันโดยตนคิดว่าเรายังมีความหวัง

        ด้านศิลปินวงการนักร้อง ศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อย่าง “นายปัณฑพล ประสารราชกิจ" หรือ โอม วง Cocktail” กล่าวถึง อ.ป๋วย ในความทรงจำว่า เป็นตัวอย่างผู้ที่ได้ทำเรื่องต่างๆ แบบที่ต้องทำ โดยไม่ได้หวังผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นตัวอย่างผู้ไม่รับสินบน ขณะที่ในสภาพความเท่าเทียมของคนเรานั้นตนเชื่อว่าทุกคนไม่ได้มีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นมันสมอง ความรู้ การศึกษา หรือแม้กระทั่งรูปร่าง หน้าตา แต่สิ่งที่พูดถึงความเท่าเทียมกันคือสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึง เช่น สวัสดิการของรัฐ

       ขณะที่ “โอม ค็อกเทล” ยังได้กล่าวถึงพลังของ Social Media ด้วยว่า ถ้าถามถึงความหวัง เราหวังอะไรกับสังคมไทย เราก็ยังตอบไม่ได้ แต่ในปัจจุบันที่ยุคนี้ใครๆ ก็เข้าถึงโซเชียลได้ง่ายซึ่งมีพลังในการพยายามสร้างตัวตนโดยที่ทุกคนจะแสดงความเห็น หรือแม้กระทั่งเป็นสื่อเองได้เลย หรือแม้กระทั่งการเกิดเป็นเฟคนิวส์ที่ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นจริงแบบสัจธรรมหรือเป็นเรื่องจริงเพียงที่เขาเชื่อ สร้างชุดความจริงขึ้นมาให้เชื่อ แต่ตนเชื่อในความสมบูรณ์ของคนมากกว่า ที่คนควรรู้ว่าอะไรควรทำ-ไม่ควรทำ หากคนรู้ความรับผิดชอบ ก็อาจไม่ต้องการระบบ 

         “ส่วนเรื่องของการสร้างความเปลี่ยนแปลงผมเชื่อในเรื่องการศึกษาเราต้องมีระบบการศึกษาที่ถูกต้อง คือให้เรียนรู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคมนี้ สร้างประโยชน์ได้อย่างไร และเป็นประโยชน์เพื่อคนหมู่มาก ไม่ใช่การมุ่งศึกษาเพื่อไปหาเงินอย่างเดียว บอกว่าความสำเร็จมากคือการมีชื่อเสียงมาก โดยตนยังเชื่อว่าการศึกษาจะสร้างคนรุ่นใหม่เยาวชน แต่เราต้องให้น้ำหนักการสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนด้วย ให้ได้เรียนรู้เรื่องจริยธรรมไม่ใช่เพียงความสำเร็จในเรื่องการงานเท่านั้น และอย่างตอนนี้อาจมีคนบอกว่าไม่ชอบใครสักคนที่มีอำนาจอยู่แต่เราก็เปลี่ยนเขาไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เราก็ควรให้น้ำหนักกับการศึกษาของเยาวชนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และให้ความสำคัญในเรื่องการถ่ายทอดจริยธรรม โดยอยากฝากด้วยว่า จินตนาการเรื่องใดๆ นั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ผู้ที่จะจินตนาการได้นั้นจริงๆ จะต้องมีความรู้เป็นพื้นฐาน หากไม่มีการศึกษาเป็นพื้นฐานสิ่งที่คิดนั้นจะเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ และขณะที่ก่อนจะไปวิพากษ์วิจารณ์ใคร ต้องถามว่าเราได้ศึกษาเรื่องนั้นมากน้อยเพียงใด เราได้ลงมือหาข้อมูลลึกซึ้งเพียงพอหรือยัง”