คอลัมนิสต์

"The Cave นางนอน" บทเรียนคนพูดจริง

"The Cave นางนอน" บทเรียนคนพูดจริง

30 พ.ย. 2562

รายงานพิเศษ จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค.62

 

 

 

******************************

 

 

ร้อนฉ่า!! ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา กับวิวาทะหนัง "นางนอน" เกิดเป็นสองมุมมอง

 

แต่จะว่าไปมุมของความเหมือน-ต่าง ระหว่าง “เหตุการณ์จริง” กับ “เรื่องในหนัง” ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นบนโลกภาพยนตร์ ขนาดแฮร์รี่ พอตเตอร์ เรื่องแต่งล้วนๆ ยังเจอดราม่าหนังไม่เหมือนในเล่มอ่าน

 

วันนี้กับภาพยนตร์ “นางนอน” หรือ “The Cave”  ที่กำลังลงโรง ไม่น่าแปลกใจที่จะมีกระแสนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพียงแต่ที่น่าแปลกใจ เห็นจะเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่มาแรงหนักมาก...มากกว่า

 

อาจเป็นเพราะคนที่กล้าออกมาตีแผ่ในมุมนี้ชนิดราวกับกำลัง “ตบหน้า” ทีมสร้าง ก็คือหนึ่งในฮีโร่ของเหตุการณ์จริง “13 หมูป่าถ้ำหลวง” อย่าง อดีตผู้ว่าฯ เชียงราย ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร

 

 

\"The Cave นางนอน\" บทเรียนคนพูดจริง

 

 

 

กระนั้นก็ดี เมื่อทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของมุมมองที่ส่องมาจากแว่นคนละอัน ทำไมเราไม่มองเป็นปรากฏการณ์ แทนที่จะมาสร้างความรู้สึกเชิงลบ ประชัดประชันกันด้วยคำว่า หนังชังชาติ” ไปให้เสียบรรยากาศ

 

โดยเฉพาะหากเราเข้าใจว่าในโลกของแผ่นฟิล์ม ไม่ว่าจะ สุข เศร้า น้ำตานอง สยองขวัญ สั่นระทึก ฯลฯ รวมกันแล้วมันก็คือ ความสนุก” อันเป็นคำตอบสุดท้ายที่เรายอมเสียตังค์ซื้อตั๋วทั้งสิ้น !

 

 

 

 

ล้อเลียน-ตีแผ่

 

คำถามนี้ดูจะเป็นใจกลางความรู้สึกของคนไทย ที่กำลังแบ่งเป็น 2 มุมมอง หนึ่งคือ “หน้าชา” สองคือ “โดนใจ” หลังดู “นางนอน”

 

ก่อนอื่นมาว่ากันที่ความหน้าชาก่อน งานนี้บอกเลย “หน้าชา” เพราะเนื้อหาของหนังทุกคนดูแล้วพูดตรงกันไม่เถียงว่า “ล้อเลียนระบบราชการ” ของไทยเราไม่น้อย

 

โดยเฉพาะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Warawit Pityachawan ที่ได้โพสต์ออกมาราวกับสรุปรวบยอดความประทับใจที่เกิดขึ้นทั้งหมดในหนังซึ่งได้รับความสนใจและถูกแชร์ไปจำนวนมาก

 

 

\"The Cave นางนอน\" บทเรียนคนพูดจริง

 

 

 

ยกมาเฉพาะแง่มุมที่ล้อระบบราชการไทย เช่นว่าไม่ให้แผนที่กับฝรั่ง (เป็นความลับ)ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติดำน้ำ, ไม่อนุญาตให้เครื่องสูบน้ำเข้า ญาติเด็กๆ ต้องวิ่งเต้นกันเองทุกอย่างต้องใบมีอนุญาต ขอที่ศาลาว่าการในเมือง

 

แน่นอน ความหน้าชานี้น่าจะเกิดขึ้นกับผู้ว่าฯ คนดังด้วย เราคงได้เห็นคลิปข่าวที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ซึ่งตอนนี้เป็นผู้ว่าฯ ลำปาง ได้เผชิญหน้าผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ทอม วอลเลอร์” ช่วงวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ในการชมภาพยนตร์รอบการกุศล ที่ลำปาง

 

ผู้ว่าฯ คนดัง ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการสถานการณ์กู้ภัยถ้ำหลวงทั้งหมด จนได้รับเสียงชื่นชมล้นหลาม รับรางวัลเชิดชูต่างๆ ไปเพียบ ได้เปิดใจพูดกับผู้กำกับนางนอนกว่า 20 นาที ท่วงทำนองไม่สบายใจเกี่ยวกับเนื้อหา เพราะบทบางส่วนไม่ตรงกับความเป็นจริง และว่าหนังเรื่องนี้น่าจะสร้างความสามัคคีให้แก่คนในโลกได้ เพราะเป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับความสามัคคี

 

 

\"The Cave นางนอน\" บทเรียนคนพูดจริง

 

 

 

เราไม่รู้หรอกว่า ผู้ว่าฯ ได้ชมภาพยนตร์เพียงแค่ 3 นาทีตามที่ผู้กำกับหนังออกมาแย้งตอนหลังหรือเปล่า แต่หลายคนก็อดคิดไม่ได้ว่า การที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ทำแบบนี้ เพราะท่านคือคนที่ดูหนังมามาก ชนิดเซียนหนัง หรือเป็นเพราะท่านคือคนหนึ่งที่อยู่ในฟันเฟืองกลไกของระบบราชการไทยกันแน่ ?

 

 

 

 

คัมภีร์คนทำหนัง

 

ที่จริงไม่มีหรอกคัมภีร์ หรือกฎทำหนังแบบตายตัว ไม่เช่นนั้น “เควนติน ทาเรนติโน่" จะไม่มีวันได้เชิดหน้าชูตา ออกมาทำหนังอะไรก็ได้เฉกเช่นทุกวันนี้ (ฮา)

 

แต่ถ้าจะแบ่งตาม "ลักษณะและที่มาของเนื้อหา" หลักๆ แล้วมี 3 แบบ คือ 1.ภาพยนตร์เหตุการณ์สมมุติ อาจมาจากนิยายที่แต่งสรรขึ้น หรือจินตนาการของผู้เขียนบทเอง 2.ภาพยนตร์สารคดี และ 3.ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริง

 

 

\"The Cave นางนอน\" บทเรียนคนพูดจริง

ตัวอย่างหนังนางนอน ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ The Cave-นางนอน

 


 

ไม่ต้องพูดถึงข้อแรก ตัวอย่างคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตามที่เกริ่นไปนั่นแหละ แต่ข้อ 2.ภาพยนตรสารคดี หรือ Documentary Movies นั้นคือภาพยนตร์ที่บันทึกเหตุการณ์จริง ไม่ได้ทำเป็นนวนิยาย มีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ สังคม วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ

 

ภาพยนตร์สารคดีนั้น มีทั้งรูปแบบการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หรือการสร้างขึ้นใหม่ เเต่เนื้อหาเน้นข้อเท็จจริง ให้ความรู้มากกว่าความสนุกสนาน บันเทิง ฯลฯ

 

 

 

\"The Cave นางนอน\" บทเรียนคนพูดจริง

ตัวอย่างหนังนางนอน ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ The Cave-นางนอน
 

 

 

โดยมากภาพยนตร์สารคดีที่ผู้คนมักให้ความสนใจ คือ ภาพยนตร์เชิงชีวประวัติ (ฺBiography) ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของบุคคลที่น่าสนใจ อาจทั้งหมด หรือบางแง่มุม เช่น “CITIZENFOUR” แฉกระฉ่อนโลก เรื่องราวของ Edward Snowden ในช่วงที่เขาเปิดเผยโครงการ PRISM ของ CIA

 

ของไทยเรามีคอหนังเคยพูดถึง เช่น “นิรันดร์ราตรี (Phantom of Illumination)” เรื่องราวของ “สัมฤทธิ์” ผู้มีอาชีพฉายภาพยนตร์ประจำโรงภาพยนตร์ธนบุรีรามามา 25 ปี

 

และสุดท้าย คือภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริง แบบที่พวกเรามักตื่นเต้นเวลาไตเติ้ลหนังมีคำว่า “Based on a true story” ลอยขึ้นมาบนจอ ก็ “นางนอน” นี่แหละ

 

ภาพยนตร์รูปแบบนี้คือภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริง แต่มีการสร้างเสริมเรื่องเติมเข้าไป และตัวละครบางตัวอาจไม่มีจริง เพื่อเสริมความสนุกของเนื้อเรื่อง ง่ายๆ อย่าง “ไทแทนิคล่มจริง แต่แจ็คกับโรสไม่มีจริง”

 

 

 

วิเคราะห์-แยกแยะ

 

 

มาที่ นางนอน” เราต่างก็รู้ว่านี่คือภาพยนตร์แบบ “Based on a true story” ปรากฏว่าทำเอาหลายคนแม้แต่ผู้ว่าฯ คนดัง เข้าใจผิดว่าการนำเสนอต้องเรื่องจริงทุกเม็ด หรือกล่าวถึงบุคคลที่มีส่วนร่วมใน 18 วันระทึกนั้นทุกคน !

 

หากแท้จริงแล้ว Based on true story เจตนาคือการเล่าเหตุการณ์ แก่นสารอยู่ในเนื้อหาของเหตุการณ์ ไม่ได้มุ่งที่ตัวบุคคล อย่างเคสนางนอน ผู้กำกับภาพยนตร์ก็พยายามอธิบายอยู่ว่า “แก่น” ของเรื่องพยายามนำเสนอให้เห็นการทำงานของทีมกู้ภัย “จิม วาร์นี” นักดำน้ำกู้ภัยชาวเบลเยียมที่อาศัยอยู่ในไอร์แลนด์

 

 

\"The Cave นางนอน\" บทเรียนคนพูดจริง

 จิม วาร์นี่ นักดำน้ำหนึ่งในฮีโร่ตัวจริงทีรับบทตัวเอง (รอบปฐมทัศน์)

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ The Cave-นางนอน

 

 

 

นี่ยังไม่รวมถึงภาพยนตร์หลายเรื่องที่ใช้คำว่า “inspired by true events” ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริง คืออาจมีความจริงส่วนหนึ่งที่เป็นต้นเรื่อง ส่วนที่เหลือคือแต่งเสริมเข้าไปมากกว่า

 

ก็ไม่รู้ว่า “นางนอน” ต้องไปเพิ่มคำว่า “inspired by true events” ใส่เข้าไปในไตเติ้ลต้นเรื่องแทนเพื่อยุติดราม่าหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ปัญหา “ปกไม่ตรงเรื่อง” มีมานานแล้วกับบรรดาภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงหลายเรื่อง

 

ที่เพิ่งเกิดไม่นานก็ดราม่าระหว่าง บุตรสาวของ “บรูซ ลี” ตำนานกังฟูผู้ล่วงลับ เธอคือ “แชนนอน ลี“ ที่ไปปะฉะดะ กับ เควนติน ทาเรนติโน่ ผู้กำกับหนังดัง “Once Upon a Time in Hollywood” ที่สร้างจากเรื่องในแวดวงฮอลลีวู้ดช่วงหลายสิบปีก่อน

 

 

 

\"The Cave นางนอน\" บทเรียนคนพูดจริง

ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับ "นางนอน"

 

 

 

แต่แชนนอนเมื่อได้เห็นบทบาทของพ่อ เธอก็ควันออกหู ออกมาโวยวายว่าไม่ตรงความจริงและเป็นการไม่ให้เกียรติพ่อของเธอเลย จนมีการโต้ตอบกันไปมากับผู้กำกับคนดัง เรื่องไปไกลถึงขนาดที่ทายาทกังฟูผู้ยิ่งใหญ่ มีโครงการจะทำหนังพ่อของตัวเอง รับรองจะตรงปกที่สุด !

 

นี่ก็คือตัวอย่างที่ต้องการบอกว่า เรื่องราวทำนองนี้ล้วนแล้วแต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งนั้น ดังนั้น ถ้าจะอินกับเรื่องราวของ “นางนอน” ก็คงต้องมองในภาพรวมของหนัง แบบที่หลายคนเชียร์ว่าควรดูให้จบ แล้วค้นหาคำตอบกันเอาเอง

 

 

 

สำรวจตัวเองก่อน

 

 

มาถึงมุมของ “ความโดนใจ” จากการดูหนังเรื่องนี้ หลังจากสาธยายอาการ “หน้าชา” ไปแล้วยาวยืด

 

ปรากฏว่าอย่างที่รู้กันว่า เมื่อเช็กไปในบรรยากาศของโลกออนไลน์ ความคิดเห็นส่วนใหญ่ของคนไทยออกมาในทำนองว่า “เห็นด้วยกับหนัง” และไม่ได้อยู่ในอารมณ์โกรธเคือง กลับแฮปปี้แบบยอมรับเบาๆ มากกว่า

 

เช่นความคิดเห็นในเพจ "Drama-addict“ มีคอมเมนต์ เช่นว่า “ความจริงคือความจริง หนีไม่พ้น จะได้รู้ว่าระบบของราชการไทยเป็นแบบใด นี่ชอบรายละเอียดเล็กน้อยที่ราชการยังเป็น แฮปปี้ที่ได้ดูเรื่องนี้”

 

หรือเพจ “หนังฝังมุก” ที่ค่อนข้างวิจารณ์ในทางชื่นชมนางนอน ก็มีคอมเมนต์จากแฟนเพจมากมาย เช่น "เขาต้องยอมรับนะ ผมว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ เพื่อนำมาแก้ไข“ หรือ "ก็สร้างอีกเวอร์ชั่นซะสิ เอาแบบอวยระบบราชการสุดๆ ไปเลยก็ได้ มันก็แค่สร้างจากมุมมองของคนคนหนึ่งในเหตุการณ์แค่นั้นเอง"

 

 

\"The Cave นางนอน\" บทเรียนคนพูดจริง

บทบาทเจ้าหน้าที่อุทยานสุดเข้ม โดย ไมเคิล เชาวนาศัย  ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ The Cave-นางนอน

 

 

 

หรือเพจ “Major Group” มีความคิดเห็นเช่น “ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ ในเมืองก่อนครับ สะท้อนถึงความล่าช้าในระบบราชการไทย หน่วยงานราชการ น่าจะดูแล้วนำกลับไปแก้ไข ในเรื่องการประสานงาน ก็ดีนะคร้าบ”

 

แน่นอนเหล่านี้อาจไม่ใช่ความคิดเห็นของทุกคนทั่วประเทศ แต่กระแสเสียงที่ดูแล้วบอกว่าบางมุกนี่ ใช่เลย” ย่อมแปลว่ามัน “มีอยู่จริง” และเมื่อมันมีอยู่จริง ผู้เกี่ยวข้องก็ควรกลับไปดูว่าควรแก้ไขที่ตรงไหน

 

ที่แน่ๆ หนังเรื่องนี้ถ้าจะ “สนุก” ก็คงสนุกที่เรื่องราวล้วนเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนมี “ประสบการณ์ร่วมกัน” ไม่เพียงแค่ ความลุ้น ความตื่นเต้น ความห่วงกังวล ความโศกเศร้าที่ “จ่าแซม” เสียชีวิต ฯลฯ

 

แต่ยังรวมถึงมุกทั้งหลายแหล่เกี่ยวกับระบบราชการไทยที่ใส่เข้ามาด้วยนั่นแหละ มันเรียกเสียงหัวเราะ “หึๆ” ในลำคอได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ไม่เชื่อไปดูสิ

 

*******************************