คอลัมนิสต์

 ผลงานพอมี.. แต่ถูกตราหน้า กมธ.ละครลิง

ผลงานพอมี.. แต่ถูกตราหน้า กมธ.ละครลิง

05 ธ.ค. 2562

กมธ.ปราบโกง ที่มี เสรีพิศุทธ์ เป็นประธาน ถูกสังคมจับตาความขัดแย้งภายในมากกว่าผลงานจับทุจริต ทั้งที่จริงผลงานก็พอมี แต่ถูกกลบจากวิวาทะในกมธฯรายสัปดาห์

         ขนิษฐา เทพจร 

         เป็นที่โจษขานกันไปทั่ว กับ"คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร" ที่มี“ตู่ใหญ่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทยเป็นประธาน กมธ.  ซึ่งมี กมธ.จากพรรคการเมือง 14 คน ในชุดแรก 

 

       แบ่งเป็นกลุ่ม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 7 คนได้แก่

     “สุทา ประทีป ณ ถลาง” ส.ส.ภูเก็ต - ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี -พยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา จากพรรคพลังประชารัฐ , ดล เหตระกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคชาติพัฒนา , อาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ ส.ส.ศรีสะเกษ -รังสิกร ทิมาตฤกะ ส.ส.บุรีรัมย์ จากพรรคภูมิใจไทย , ภานุ ศรีบุศยกาญจน์ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์

       กลุ่มส.ส.​พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 คนได้แก่

       นิรันดร์ นาเมืองรักษ์ ส.ส.ร้อยเอ็ด- วิทยา ทรงคำ ส.ส.เชียงใหม่- น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.- ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. จากพรรคเพื่อไทย , ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ - จารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี - จุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคอนาคตใหม่

ผลงานพอมี.. แต่ถูกตราหน้า กมธ.ละครลิง

         แต่เมื่อมีเหตุทำให้ กมธ. ขั้วรัฐบาล ต้องเปลี่ยนตัว กมธ. โดยให้“ดล- พยม และธนะสิทธิ์”ลาออก เปลี่ยนเป็นไพบูลย์​ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ, สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. และ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี จาก พรรคพลังประชารัฐ"

       แน่นอนว่า งานนี้ ย่อมมีเงื่อนงำ เพราะจู่ๆ ตำแหน่ง กมธ. ที่ ส.ส.ต่อคิวแบบชนิดว่า “แย่งกันมาเป็น”จะลาออกไปแบบหน้าตาเฉยไม่ได้

ผลงานพอมี.. แต่ถูกตราหน้า กมธ.ละครลิง

       เมื่อย้อนรอยต่อเรื่องนี้ พบต้นสายปลายเหตุ คือ“การเอาเรื่องแกนนำในรัฐบาล” ที่เริ่มจาก “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”ผู้เป็นเสาค้ำยัน“ รัฐบาล ตู่-ป้อม” และตัวเจรจากับ 10 พรรคเล็กร่วมรัฐบาล ต่อประเด็นการตรวจสอบข้อเท็จจริง 2 เรื่อง คือ วุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก และ การต้องโทษจำคุกข้อหายาเสพติด ซึ่งศาลออสเตรเลียตัดสินเป็นที่สุด

        ต่อด้วยความพยายามเรียก“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ”ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกมธ.​ ในประเด็นการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยส่อไปในทางมิชอบ เพราะเหตุจากการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ

ผลงานพอมี.. แต่ถูกตราหน้า กมธ.ละครลิง

         ซึ่ง 2 เรื่องนี้“พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ฐานะประธานกมธ.ฯ ใช้อภิสิทธิ์เสนอเรื่องให้ที่ประชุมพิจารณา โดยไม่มีผู้ใดร้องเรียน

         และอีกประเด็นหนึ่งคือการฟื้นตรวจสอบ นาฬิกาหรู ของ “พล.อ.ประวิตร”ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบจนได้ข้อยุติเพราะมีประชาชนยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ

ผลงานพอมี.. แต่ถูกตราหน้า กมธ.ละครลิง

        หากจะมองแค่นี้ พอจะเห็นได้ว่า การทำหน้าที่ของ “กมธ. ขั้วรัฐบาล” โดยเฉพาะ ส.ส.พลังประชารัฐ ที่ควรแสดงบทบาทคัดค้าน กลับไม่ทำหน้าที่“ปกป้องนาย”และยังเปิดทางให้“เสรีพิศุทธ์”ฉวยความเป็นประธานที่ประชุม ใช้สิทธิ์ดำเนินการ ทั้งที่หลายคนมองว่า เรื่องนี้ทำไม่ได้ และไม่อยู่ในขอบข่ายของหน้าที่กมธ. ซึ่ง“พยม-ธนะสิทธิ์”ถือเป็น “มือใหม่ปราบโกง”เพราะด้วยเป็น ส.ส.สมัยแรก และไม่เคยจับงานนี้มาก่อน ทำให้ การแก้เกมเพื่อปกป้องนาย จึงคิดไม่ได้ หรือ คิดได้ก็ไล่ไม่ทัน

   ผลงานพอมี.. แต่ถูกตราหน้า กมธ.ละครลิง

      และเมื่อเปลี่ยนตัว สิ่งที่ได้เห็นตั้งแต่การก้าวมาของ“ปารีณา และ สิระ”​ในการประชุมนัดที่ 10 วันที่ 13 พฤศจิกายน คือ การแสดงความเห็นโต้แย้ง ในการทำหน้าที่ประธานกมธ.ฯ ของ“พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์”เมื่อเข้าสู่วาระพิจารณา เรื่องตรวจสอบ“บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม”ซึ่ง ส่ง“พล.อ.ชัยชาญ​ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม” และ “ประสาน หวังรัตนปรานี ผู้ช่วย พล.อ.ประวิตร” นำหนังสือ และเตรียมข้อมูลมาชี้แจง​ แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่ยอมรับการชี้แจงแทนหรือหนังสือชี้แจง พร้อมจะขอมติจากที่ประชุมให้ เรียก “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม”มาชี้แจงด้วยตนเอง

    “ปารีณา” เปิดประเด็นโต้แย้งว่า “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ใช้อำนาจเกินขอบเขต ขณะที่“สิระ”หนุนอีกเสียง ว่า ต้องพิจารณากรอบอำนาจให้รอบคอบก่อนจะมีมติเรียก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร มาชี้แจง

ผลงานพอมี.. แต่ถูกตราหน้า กมธ.ละครลิง

 

     หากย้อนความไปก่อนหน้านี้ ในวาระพิจารณาของกมธ. และเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่ 2 เรื่องนี้ การประชุมยังคงดำเนินไปอย่างปกติ โดย“สิระ-ปารีณา”ไม่ได้โต้แย้งถึงการใช้อำนาจของ“ประธานกมธ.ฯ”

    แต่การทำงานของ กมธ.ฯ ไม่ได้ราบรื่นเพราะ “เกมยั่วกันไปมา”ของ 2 ฝ่าย ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งฝ่ายของ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ที่ชงเรื่องตรวจสอบการถือครองที่ดิน จ.ราชบุรี และ การยื่นบัญชีทรัพย์สินของ“ปารีณา”ขณะที่“สิระ”เดินเกมปลด“ตู่ใหญ่”ออกจาก ประธานกมธ.ปราบโกง ด้วยกรณีการออกคำสั่งตั้งที่ปรึกษาประธานกมธ. ซึ่งอ้างมาเป็นมติของที่ประชุม ทั้งที่เป็นการใช้อำนาจของประธานกมธ. เอง และ ความพยายามแก้มติที่ประชุม กรณีเรียก“บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม”มาชี้แจง โดยไม่ผ่านมติที่ประชุม

      กับ เรื่อง “ปลด” นั้น ถูกแก้เกมจาก“เสรีพิศุทธ์”ที่ฉวยจังหวะพิจารณา และขอมติที่ประชุม โดยผลที่เกิดขึ้นทำให้ วาระปลดเก้าอี้ นั้นต้องตกไป อย่างไรก็ดีเกมยั่วเย้ากันทั้ง 2 ฝ่าย เชื่อว่าจะยังดำเนินต่อไป หาก กมธ.ปราบโกง ไม่ยอมลดละที่จะเอาเรื่อง“บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม”

        ขณะที่งานตรวจสอบของกมธ. เมื่อพิจารณาในเนื้อหา หากไม่นับเรื่องร้อนนั้น ประเด็นอื่นๆ ถูกยกมาพิจารณาได้โดยราบรื่น ทั้งในส่วนของกมธ.คณะใหญ่ และ คณะอนุกมธ.ฯ ซึ่ง “ปารีณา” และ “สิระ” ยังได้รับมอบหมายให้ศึกษาและพิจารณารายละเอียด ก่อนให้ กมธ.ฯ ชุดใหญ่พิจารณา อาทิ“สิระ”มอบหมายให้ประมวลเรื่องตรวจสอบความโปร่งใสผู้บริหารนิคมสหกรณ์ทองผาภูมิต่อการให้สิทธิเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินนิคมสหกรณ์ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และ ตรวจสอบพฤติกรรมการบริหารและจรรยาบรรณ ของ ผอ.โรงเรียนวิสุทธรังสี ณ ปัจจุบัน และเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนท่ามะกาวิทยาคม ปี 2555-2557 จังหวัดกาญจนบุรี ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ, ขณะที่“ปารีณา”มอบหมายให้ประมวลเรื่อง กรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลคลองตัน ใช้ดุลยพินิจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีจอดรถกีดขวางการจราจรในซ.สุขุมวิท 65 กทม.

      ตามบันทึการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน มีบทสรุปคือ มีเรื่องที่ค้างพิจารณา 119 เรื่อง และยุติเรื่อง 15 เรื่อง

        -สำหรับเรื่องที่ยุติการตรวจสอบแล้ว อาทิ ตรวจสอบอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรณีเบียดบังเวลาราชการไปดำเนินกิจการทางมิชอบเหตุผล เพราะกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นแล้ว, การจัดซื้อถังดับเพลิง จำนวน 95,797 เครื่องวงเงิน 124 ล้านบาทของกทม.​ที่ไม่ได้มาตรฐาน, เรื่องร้องเรียนนายกเมืองพัทยาไม่มีอำนาจออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยปลัดเมืองพัทยา เป็นเหตุให้ปลัดเมืองพัทยาถูกพักราชการ, กรณีพนักงานสอบสวน สน.บางโพ ออกหมายเรียก นายธีรัจชัย คดีถูกฟ้องหมิ่นประมาท ร.อ.ธรรมนัส โดยมิชอบ เหตุ สน.บางโพ ยกเลิกหมายเรียกดังกล่าว และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำชับผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายในการออกหมายเรียกให้ถูกต้องต่อไป

      อยู่ระหว่างตรวจสอบ และมีความคืบหน้าไปมาก อาทิ กรณีร้องเรียนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ส่อไปในทางมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์กับผู้สมัครส.ส.ของพรรคการเมือง ซึ่งกระบวนการได้เชิญทั้งฝ่ายผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง คือ "พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์"ชี้แจงรายละเอียด และล่าสุดได้ทำหนังสือสอบถามบุคคลและพรรคการเมืองเพื่อรับความเห็นกรณีข้อร้องเรียน ตรวจสอบ "ร.อ.ธรรมนัส"กรณีถูกศาลออสเตรเลีย พิพากษาคดียาเสพติด โดย อนุกมธ.ฯ​ที่มี "ธีรัจชัย" เป็นประธาน ได้ประสานและสอบถามข้อมูลจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่สถานทูตออสเตรเลีย และ ขอข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา , ตรวจสอบการถือครองที่ดิน จ.ราชบุรี จำนวน 1,700 ไร่ ของ น.ส.ปารีณา ว่าถือครองโดยถูกกฎหมายหรือไม่ ล่าสุดเชิญ อธิบดีกรมป่าไม้ ให้ความเห็น 

    การสอบหาข้อเท็จจริงโครงการปรับปรุงซ่อมแซมถนนพนังกั้นน้ำชี, ซ่อมแซมถนนลูกรังตามโครงการ 42 อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ส่อไปในทางทุจริต ซึ่งกมธ. ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง, ตรวจสอบการกระทำของข้าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ส่อว่ากระทำทุจริต กรณีสร้างถนนเลียบคลองปะปาช่วงถนนแจ้งวัฒนะถึงถนนสรงประภา ฝั่งตะวันออก ซึ่งได้เชิญ ผู้ว่าฯกทม. และเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงกับ กมธ.ฯ

       เตรียมบรรจุให้ตรวจสอบ อาทิ กรณีพนักงานตำรวจสน.เมืองนครราชสีมา ล่อซื้อกระทงจากผู้เยาว์อายุ 15 ปี ว่ากระทำถูกต้องหรือเป็นธรรมตามกฎหมายหรือไม่, เรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีกับพวก ปฏิบัติหน้าที่ส่อทุจริต กรณีจัดซื้อจัดจ้างและบริหารงานใน อบจ., ตรวจสอบ ตำรวจ สน.คลองตัน ใช้ดุลยพินิจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีจอดรถกีดขวางการจราจรในซ.สุขุมวิท 65 กทม. 

       อย่างไรก็ตาม  ยังไม่มีเรื่องใดที่สอบสวนหรือตรวจสอบซึ่งเป็นบทสรุปที่นำไปสู่การเอาผิดบุคคลที่ถูกร้องเรียน และส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

       นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่กมธ.ปราบโกง รับเรื่องจากภาคประชาชน อยู่อีก 27 เรื่อง ซึ่งยังรอว่าที่ประชุมจะรับไว้พิจารณา ตรวจสอบหรือไม่ 

      ขณะที่การตรวจสอบ "บิ๊กรัฐบาล" ยังอยู่ในวาระตรวจสอบ แต่เพื่อไม่ให้มีปัญหาระหว่างกัน อันมาจากความต้องการของ กมธฯ ที่ต้องการให้ "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม" มาชี้แจงด้วยตนเอง ที่ประชุมกมธ.ปราบโกง จึงใช้วิธีหาความรอบด้าน เตรียมเชิญ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ฐานะอดีตนายกฯ และ อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม"มาแถลงข้อเท็จจริงต่อการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยมิชอบ ในที่ประชุมกมธ.​วันที่ 18 ธันวาคม นี้แทน 

      ซึ่งเกมในกมธ.ปราบโกง ที่จุดเริ่มเพียงแค่เป็น การปรากฎตัวของดาวยั่ว (โมโห) หรือ แมลงรำคาญของ "รัฐบาล" แต่ปัจจุบัน ถูกสังคมตราหน้าว่า ไร้ความน่าเชื่อถือเพราะ"เล่นละครลิง" โชว์ความกร่างและไร้มารยาท เพื่อสร้างวิวาทะดิสเครดิตการทำงานรายสัปดาห์ และทำให้สังคมจับตาความขัดแย้งภายในมากกว่าผลงานจับทุจริต เหมือนเช่นที่กมธ.ปราบโกงของสภาฯ ที่เคยเป็นปฏิบัติมา